• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

การตรวจสอบ สมรรถภาพแบตเตอรี่และระบบไฟรถ

  • วันที่: 03/05/2014 15:49
  • จำนวนคนเข้าชม: 7613

ขอนำเอาเรื่อง เทคนิคการตรวจสอบ “สมรรถภาพแบตเตอรี่และระบบไฟรถ” มากล่าวถึงกัน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องของ “กำลังไฟ” จะพร่ำเพ้ออยู่แต่ในเรื่องของ “กำลังวัตต์” หรือ “ความดัง” เป็นที่ตั้ง ทั้งๆที่ก็รู้อยู่แก่ใจ(หรือไม่รู้)ว่า กำลังวัตต์หรือความดัง(รวมถึงความเป็นคุณภาพเสียงที่ดี) มีต้นสายปลายเหตุมาจาก “กำลังไฟ” แม้ระบบเสียงจะมีความดังเป็นหมื่นวัตต์ หากแต่ถ้า “กระแส” หรือแรงดันไฟที่ป้อนจ่ายให้ระบบนั้นมีไม่เพียงพอ ก็อย่าได้ละเมอว่ามีกำลังวัตต์ตามนั้น

ดังนั้นก่อนที่จะทำการใดๆเกี่ยวกับระบบเสียง การตรวจเช็คสภาพของแบตเตอรี่ในรถคันนั้นๆก่อนปฎิบัติงาน จะทำให้เราคาดคะเนได้ก่อนว่า “แหล่งจ่ายพลังงาน” จะมีพอเพียงสำหรับระบบให้ทำงานตามเป้าประสงค์ของเราหรือไม่ รวมถึงปัญหาที่จะมีตามมา อาทิ เสียงรบกวน หรือเสียงสำลักของระบบ

ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพแบตเตอรี่และระบบไฟรถ

ในการตรวจเช็คระบบไฟรถนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง ขอเพียงมี “มัลติมิเตอร์” แบบดิจิตอลที่มีคุณภาพหน่อย และมีการ “ปรับเทียบโวลต์” มาอย่างถูกต้อง ก็สามารถทำการตรวจเช็คระบบไฟรถได้แล้ว โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

1.ก่อนอื่นดับเครื่อง จอดรถทิ้งไว้ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ความร้อนในห้องเครื่องอยู่ในอุณหภูมิปกติ ใช้มัลติมิเตอร์ตั้งเรนจ์ไฟ DC จับวัดที่ขั้วแบตเตอรี่ บวก/ลบ

-ถ้าแรงดันไฟที่ได้สูงกว่า 12.5 V ขึ้นไป แสดงว่า แบตเตอรี่มีระดับไฟเต็มความจุ

-ส่วนถ้าหากแรงดันไฟที่ได้มีค่าอยู่ระหว่าง 12.40 ถึง 12.10 V แสดงว่า แบตเตอรี่ค่อนข้างอ่อน อาจจะเพราะไม่ค่อยได้ใช้รถ...จึงไม่ได้รับไฟชาร์จจากไดร์ชาร์จที่เหมาะสม

-กรณีที่วัดไฟได้ต่ำกว่า 12.05 V แสดงถึงว่าแบตเตอรี่นั้นเริ่มมีปัญหา อาจไม่ได้รับการชาร์จไฟที่เหมาะสม

-สุดท้ายหากวัดไฟได้ต่ำกว่า 10.0 V แสดงว่าแบตเตอรี่ลูกนั้น “ตายสนิท” ไม่มีโอกาสชาร์จไฟได้ ทั้งจากไดร์ชาร์จของรถเอง หรือจะทำการชาร์จภายนอก ยกเว้น ได้รับการซ่อมบำรุง อาทิ ถ่ายน้ำกลั่นออก ทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นเติมน้ำกลั่นใหม่เพื่อลองชาร์จประจุอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้เปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่เลย...สะดวกกว่า

2.ต่อมาเราจะวัดการทำงานของไดร์ชาร์จ โดยทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ ปล่อยให้ทำงานในรอบเดินเบาปกติ แล้ววัดแรงดันไฟที่ขั้วแบตเตอรี่ เพื่อสังเกตความสัมพันธ์ของไดร์ชาร์จกับแบตเตอรี่ดังนี้

-หากวัดไฟได้ในแรงดันมาตรฐาน 13.80 ถึง 14.20 V แสดงว่าไดร์ชาร์จทำงานปกติ

-ถ้าแรงดันไฟวัดได้สูงกว่า 14.40 V แสดงว่าไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ อาจจะเป็นที่เรกคูเลเตอร์บกพร่อง ไฟชาร์จเกิน ซึ่งจะทำให้แบตเตอรี่เกิดการ “Overcharge” ซึ่งจะมีความเสียหายในภายหน้า

-หากแรงดันไฟที่วัดได้ต่ำกว่า 13.60 V แสดงว่าไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ จากระบบเรกคูเลเตอร์ ส่งผลให้แบตเตอรี่เกิดการ “Undercharge” ที่จะมีความเสียหายในภายหน้าได้เช่นกัน

3.การตรวจเช็คที่ระดับเครื่องยนต์มีสภาพเหมือนการขับเคลื่อน โดยเร่งรอบเครื่องให้ขึ้นไปอยู่ที่ 2,000 ถึง 2,500 รอบ แล้ววัดไฟที่ขั้วแบตเตอรี่

-ถ้าระบบไฟรถปกติ แรงดันไฟจะอยู่ที่ 13.80 ถึง 14.20 V

-หากแรงดันไฟที่วัดได้ มีค่าสูงกว่า 14.40 V แสดงว่าไดร์ชาร์จผิดปกติ ทำให้แบตเตอรี่ถูก Overcharge

-หรือถ้าแรงดันไฟที่วัดได้ มีค่าต่ำกว่า 13.60 V ไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ ทำให้แบตเตอรี่ถูก Undercharge

4.ตรวจเช็คสภาพระบบไฟรถ เมื่อมีการใช้ไฟปกติของระบบไฟรถเอง โดยเร่งรอบเครื่องยนต์ให้อยู่ที่ 2,500 รอบหรือมากกว่า จากนั้นเปิดเครื่องปรับอากาศภายใน เปิดไฟหน้าใหญ่ แล้ววัดไฟที่ขั้วแบตเตอรี่

-กรณีระบบไฟรถปกติ จะมีแรงดันไฟมาตรฐานที่ 13.80 ถึง 14.20 V

-หากวัดไฟได้สูงกว่า 14.40 V แสดงว่าไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ

-หรือวัดไฟได้ต่ำกว่า 13.50 V แสดงว่าไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ

-ในบางกรณีที่วัดไฟในขั้นตอนที่ 3 ได้ปกติ แต่ในขั้นตอนที่ 4 วัดไฟได้ต่ำกว่า 13.50 V แสดงว่าไดร์ชาร์จมีความเสื่อมอย่างรุนแรง หากปล่อยไว้นานวันแบตเตอรี่จะถูกดูดไฟมาใช้งานจนหมด (แบตเตอรี่หมดแม้ว่าจะยังขับรถได้อยู่)

5.สำหรับขั้นตอนนี้ ให้ทำการวัดเทียบหลังจากติดตั้งระบบเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสตาร์ทเครื่องยนต์ เร่งรอบเครื่องไปที่ 2,500 รอบหรือมากกว่า จากนั้นเปิดเครื่องปรับอากาศในรถ, เปิดไฟหน้าใหญ่, เปิดระบบเสียง โดยเร่งความดังประมาณครึ่งหนึ่งของความดังเสียงโดยรวม จากนั้นวัดไฟที่ขั้วแบตเตอรี่

-หากแรงดันไฟที่วัดได้ มีค่าต่ำกว่า 13.50 V แสดงว่าระบบเสียงนั้น กินกำลังไฟของระบบไฟรถมากเกินปกติ หากเปิดเครื่องเสียงฟังไปนาน แม้ว่าจะสตาร์ทเครื่องยนต์ไว้ก็ตาม ยังมีโอกาสที่แบตเตอรี่รถจะหมดไฟ หรือคายประจุจนหมดได้

ทั้งนี้...ในระหว่างการตรวจเช็ค ควรดูในเรื่องของความแน่นหนาที่ขั้วแบตเตอรี่ด้วย ว่ามีการโยกคลอนหรือหน้าสัมผัสไม่แนบสนิทกัน รวมไปถึงการเกิดขี้เกลือขึ้นที่ขั้วแบตเตอรี่ (ทั้งด้านบวกและด้านลบ) บ่อยครั้งที่พบว่าขั้วแบตเตอรี่หลวม อันมีผลทำให้เกิดเสียงรบกวน หรืออาการแปลกๆขึ้นที่ระบบเสียงได้ด้วย