• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

กำเนิดวิทยุติดรถยนต์ MOTOROLA

  • วันที่: 03/05/2014 15:51
  • จำนวนคนเข้าชม: 5580

เรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์กับ “กำเนิดวิทยุติดรถยนต์ MOTOROLA” ที่จะนำพาท่านไปรับรู้ถึงความเป็นมาของวิทยุติดรถยนต์เครื่องแรกของโลก เมื่อครั้งปี ค.ศ. 1930 กันนะครับ

ก่อนที่เราจะก้าวไปข้างหน้า เราควรจะต้องมองย้อนถึงอดีตและความเป็นมา เพื่อจะได้พินิจพิจารณาเรื่องต่างๆให้ถ่องแท้ อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าการพัฒนานั้นมีรากเป็นมาอย่างไร เพื่อนักเล่นเครื่องเสียงรถยนต์ทั้งหลายจะได้รู้ว่าต้นกำเนิดของอุปกรณ์เครื่องเสียงติดรถยนต์นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ความเป็นมาของวิทยุติดรถยนต์นั้น เราจะต้องย้อนกลับไปในยุคปี 1930 ที่ซึ่งนาย Galvin ผู้พี่ ได้ทำการแนะนำวิทยุติดรถยนต์เครื่องแรกขึ้น ในนามของ Motorola (‘motor’ คือความหมายของการเคลื่อนที่ และ ‘ola’ หมายถึงเสียง) นวัตกรรมในยุคสมัยนั้น ได้สร้างความสุขสันต์หรรษาให้กับแทบทุกส่วนของโลก และพัฒนาการที่ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 40 ปี ก็ได้กลายมาเป็น “ระบบเสียงรถยนต์” ที่เราได้สัมผัสกันในทุกวันนี้

วิกฤติที่เป็นโอกาส

Paul V. Galvin และพี่ชายนาย Joseph เริ่มงานครั้งแรกที่ Galvin Manufacturing Corporation ในเมืองชิคาโก เมื่อราวๆปี 1928 โดยเป็นผู้ผลิต battery eliminators เพื่อที่จะทำให้เครื่องรับวิทยุที่ใช้กระแสไฟฟ้าในบ้าน สามารถใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ได้ แต่พอมาในปี 1929 ตลาดหุ้นก็ล่มสลาย อันเป็นผลเนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐในยุคนั้นตกต่ำ ทำให้ battery eliminator กลายเป็นเรื่องล้าสมัย Galvin จึงต้องมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจเล็กๆของเขาให้อยู่รอด

มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนวิทยุที่ก่อตั้งขึ้นโดย William P. Lear ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกับกับ Galvin Manufacturing Corporation โดยช่างเทคนิคที่มีนามว่า Lear ได้ร่วมกับหัวหน้าวิศวกรฝ่ายผลิต Don H. Mitchell ทำการทดลองเกี่ยวกับเทคโนโลยี่ของวิทยุอยู่ และเพราะในยุคที่เศรษฐกิจจะตกต่ำย่ำแย่ หากแต่ตลาดของยานพาหนะและเทคโนโลยี่ทางด้านวิทยุกลับเจริญเติบโตอย่างพุ่งพรวด ทำให้ Paul Galvin มองเห็นถึงความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง จึงใช้ Galvin Manufacturing เข้าไปปรับปรุงแก้ไขจนสามารถติดตั้งวิทยุนั้นเข้าไปในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้นได้เป็นผลสำเร็จ

Galvin ได้ควบรวมทีมงานของเขาเข้ากับความสามารถพิเศษของ Lear และวิศวกรวิทยุ และยิ่งไปกว่านั้น ชายหนุ่มที่มีนามว่า Elmer Wavering ที่ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นบุคคลที่ได้ตำแหน่งใน Automotive Hall of Fame ได้เข้ามาร่วมงานด้วย เพื่อร่วมกันแก้ไขอุปสรรคสำคัญๆทางด้านเทคนิคต่างๆ อาทิ เรื่องการแทรกแซงของคลื่นไฟฟ้า, การหาตำแหน่งพื้นที่ว่างในรถที่มีพื้นที่พอสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ประกอบของวิทย และต้องมั่นคงแข็งแรงพอสำหรับการที่รถจะวิ่งบนถนนทุรกันดาร Galvin ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมจนพวกเขาเหล่านั้นสามารถหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นได้ลุล่วง

พอมาถึงเดือนพฤษภาคม 1930 Galvin ได้ประกาศถึงหมายกำหนดการ ที่จะขับรถ Studebaker ของเขาจาก Chicago, Illinois ไปยัง Atlantic City, New Jersey, U.S.A ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 850 ไมล์ (1369 กิโลเมตร) เพื่อเตรียมการที่จะทำการสาธิตวิทยุตัวใหม่ที่ Radio Manufactures Association Convention ในเดือนมิถุนายน และด้วยข้อกำหนดแค่เพียงเดือนเดียวที่จะต้องประดิษฐ์วิทยุตัวใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ ทีมงานจึงต้องทำงานกันอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน

เพียงไม่กี่วันก่อนที่ Galvin จะออกเดินทาง ทีมงานก็บรรลุผลสำเร็จในการออกแบบ/จัดสร้างวิทยุรถยนต์ ที่สามารถรับสัญญาณได้อย่างชัดเจนในขณะที่รถเคลื่อนที่ และทำการตัดส่วนของวิทยุภายในบางส่วนออก รวมไปถึงบริเวณใต้แผ่นท้องของรถบางส่วน เพื่อให้เครื่องเล่นวิทยุสามารถติดตั้งลงไปได้ในรถยนต์ และถึงแม้ว่าถนนที่ทุรกันดารระหว่างทางจาก Chicago ไปถึง New Jersey จะถูกใช้เพื่อการทดสอบความทนทานของเครื่องเล่นวิทยุนี้ก็ตาม แต่มันก็สามารถทนทานต่อการเดินทางได้อย่างราบรื่น ไม่มีข้อบกพร่อง

แต่... Galvin Manufacturing Corporation ก็ไม่สามารถลงทะเบียนแสดงในงาน June 1930 Radio Manufacturers ได้ มีผลให้ Paul Galvin ไม่มีบูธแสดงผลงาน และทำการพบปะ/สาธิตให้กับผู้บริโภคได้อย่างที่คาดหวัง ประกอบกับการที่บริษัทไม่มีงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการทำการตลาด ดังนั้น Galvin จึงติดสินใจจอดรถของเขาไว้ที่สะพานหน้าทางเข้าของ Atlantic City และเร่งวอลลุ่มเสียงของวิทยุออกทางลำโพงเต็มที่เพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งเขาและภรรยา Lillian ต่างช่วยกันเป่าประกาศผลงานวิทยุตัวใหม่ พร้อมๆกับการปลุกเร้าด้วยการโชว์ในแบบท้าพิสูจน์ ยามใดที่ผู้ชมบางตาลง เขาก็จะเดินเข้าไปภายในงานแสดง และชักชวนผู้คนให้เดินออกมาด้านนอก เพื่อแวะชมการสาธิตวิทยุติดรถยนต์เครื่องแรกของเขา

หมดงานแสดง Galvin เดินทางกลับสู่ Chicago ด้วยใบสั่งซื้อที่มากพอที่จะเป็นหลักประกันให้บริษัทยังคงอยู่ต่อไป เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโฉมครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น มีทั้งฝ่ายขาย, ฝ่ายผลิต และฝ่ายติดตั้ง ครบสมบูรณ์ทั้งวงจรภายในบริษัท

ปรากฏตราสินค้า Motorola

Paul Galvin ต้องการที่จะหาตราสินค้าใหม่ให้กับ Galvin Manufacturing Corporation เพื่อใช้ในการผลิตวิทยุรถยนต์ เพื่อให้เป็นที่จดจำได้ง่าย เขาจึงคิดชื่อสินค้า “Motorola” ขึ้น อันหมายถึงเสียงที่สามารถเคลื่อนที่ได้ (มาจากคำว่า ‘motor’ สนธิกับคำว่า ‘ola’) ซึ่งชื่อสินค้า Motorola ก็ได้กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในภายหลัง Galvin Manufacturing Corporation ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Motorola, Inc.

การติดตั้งวิทยุรถยนต์ในช่วงนั้น ยังคงเป็นชิ้นงานที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องสำหรับวิศวกรนามว่า Elmer Wavering ที่ยังคงจดจำได้ว่า “ถ้ามีใครบางคนซื้อรถคันใหม่ และตัดสินใจที่จะติดตั้งวิทยุในรถยนต์ เขาอาจจะต้องเกิดอาการช็อค เพราะจะต้องใช้เลื่อยยนต์เฉือนและตัดเซาะบางส่วนของรถคันใหม่ และต้องเจาะช่องขนาดใหญ่ที่แผ่นพื้นรถเพื่อติดตั้งแบตเตอรี่ แล้วยังต้องมีสายอากาศติดระโยงระยางไว้รอบคันรถ” แต่ก็นั่นละ ในทุกๆครั้งที่มีการติดตั้งก็มีผลทำให้ทีมงานมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

ทั้ง Paul Galvin และ Elmer Wavering ใช้เวลาเดินทางไปแทบทุกรัฐของอเมริกา เพื่อประกาศขายวิทยุและอบรมตัวแทนจำหน่าย ในการติดตั้งวิทยุรถยนต์อย่างถูกต้อง มีผลให้ธุรกิจเติบโต และสามารถจำหน่ายวิทยุ Motorola ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีรถบริการที่มีวิศวกรฝ่ายขายซึ่งได้รับการอบรมโดยตรงจากผู้ผลิต มาช่วยสนับสนุนให้กับตัวแทนจำหน่าย ทำให้ตัวแทนได้รับทั้งเทคนิคการขาย, การบริการ และการติดตั้งที่พร้อมสมบูรณ์

ด้วยความมุ่งมั่น และวิศว-นวัตกรรม ทำให้วิทยุรถยนต์ Motorola รุ่น 5T71 ได้กลายเป็นวิทยุรถยนต์ตัวแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ เพราะแค่เพียงปีแรกของการจำหน่าย ก็สามารถขายได้ในระดับประเทศ โดยข้ามไปขายถึงประเทศ Mexico วิทยุรถยนต์ของ Motorola ได้กลายเป็นทูตแห่งนวัตกรรมในสมัยนั้น ที่เชื่อมโยงผู้คนเรือนพันเข้ากับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง ใน “บ้านหลังที่สอง” ซึ่งก็หมายถึง “ยานยนต์” หรือ “ยานพาหนะ” นั่นเอง