การคำนวณปริมาตรเฉพาะของท่อระบายเบส
- วันที่: 08/08/2014 15:43
- จำนวนคนเข้าชม: 19275
ปริมาตรอากาศของตู้ซับฯ ที่ได้ถูกออกแบบไว้ในตอนต้นนั้น เป็นปริมาตรอากาศที่กักเก็บได้ โดยที่ยังไม่มีวัสดุใดๆล้ำเข้าไปภายในตู้ ต่อมาเมื่อมีการติดตั้งดอกลำโพงซับวูฟเฟอร์ โดยให้ส่วนที่เป็นแม่เหล็กยื่นเข้าไปภายในตู้ ปริมาตรของส่วนที่เป็นแม่เหล็กของดอกซับฯ(Speaker Displacement) จะไปมีผลทำให้ “ปริมาตรอากาศ” ภายในตู้ ลดปริมาตรลง ดังนี้
ปริมาตรอากาศที่ออกแบบไว้ในตอนต้น – (ลบด้วย) ปริมาตรของแม่เหล็กที่ดอกซับฯ จึงจะเป็นปริมาตรอากาศแท้จริง ที่มีผลกับความสามารถตอบสนองความถี่ย่านเสียงเบส
ต่อมาหากเป็นการออกแบบตู้ซับฯ ในลักษณะของ “ตู้เปิด” ซึ่งจำเป็นจะต้องมีส่วนของท่อระบายเบส หรือ “พอร์ท” ในคำพูดสามัญทั่วไป และเมื่อ “พอร์ท” ถูกติดตั้งเข้ากับตัวตู้ซับฯ ก็จะมีส่วนของ “พอร์ท” ที่ยื่นเข้าไปภายในตู้ แน่นอนว่า “ปริมาตรของท่อระบายเบส” (Port Displacement) นี้ ก็จะต้องถูกนำไปหักออกจากปริมาตรอากาศเดิมที่ได้ออกแบบไว้ในตอนต้น หรือนิยามของ “ปริมาตรอากาศสุทธิ” สำหรับงานออกแบบตู้ซับฯ “เปิด” ก็เป็นดังนี้
ปริมาตรอากาศที่ออกแบบไว้ในตอนต้น – (ลบด้วย) ปริมาตรของแม่เหล็กที่ดอกซับฯ – (ลบด้วย) ปริมาตรของท่อระบายเบส จึงจะได้เป็นปริมาตรอากาศแท้จริง ที่มีผลกับความสามารถตอบสนองความถี่ย่านเสียงเบส
ในงานออกแบบตู้โดยทั่วไป ปริมาตรอากาศกักเก็บที่ต้องการซึ่งระบุไว้ในใบคู่มือของโรงงาน เรามักจะบวกเข้ากับค่าปริมาตรของแม่เหล็กที่ดอกซับฯ เพื่อใช้เป็นปริมาตรอากาศกักเก็บในการออกแบบตู้ซับฯในลักษณะ “ตู้ปิด” และบวกเพิ่มส่วนของปริมาตรท่อระบายเบสด้วย ในการออกแบบตู้ซับฯในลักษณะ “ตู้เปิด”
อาทิเช่น ในใบคู่มือของโรงงาน ระบุปริมาตรอากาศกักเก็บที่ต้องการ สำหรับงานออกแบบตู้ซับฯ ลักษณะ “ตู้ปิด” ไว้ที่ 0.9 ลบ.ฟุต ซึ่งค่าที่ควรจะใช้ในการออกแบบเพื่อใช้งานจริง ควรจะเป็น 0.9 ลบ.ฟุต + (บวกด้วย) 0.16 ลบ.ฟุต (ซึ่งเป็นค่า Speaker Displacement) หรือเท่ากับ 1.06 ลบ.ฟุต
หรือในใบคู่มือของโรงงาน ระบุปริมาตรอากาศกักเก็บที่ต้องการ สำหรับงานออกแบบตู้ซับฯ ลักษณะ “ตู้เปิด” เอาไว้ที่ 1.2 ลบ.ฟุต แต่ค่าที่ควรจะใช้ในการออกแบบเพื่อใช้งานจริง ควรจะเป็น 1.2 ลบ.ฟุต + (บวกด้วย) 0.16 ลบ.ฟุต (ค่า Speaker Displacement) + (บวกด้วย) 0.027 ลบ.ฟุต (ท่อระบายเบส ขนาด 3 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว) หรือเท่ากับ 1.387 ลบ.ฟุต
ต้องจำไว้อย่างหนึ่งในเรื่องของงานออกแบบตู้ซับฯ นั่นก็คือ ออกแบบให้ปริมาตรอากาศภายในสุทธิ ในรูปแบบของ “เหลือไว้” ดีกว่า “ขาด หรือไม่เพียงพอ” เพราะตู้ซับฯนั้นจะทำการออกแบบได้ครั้งเดียวเพื่อจัดสร้างเป็นตู้ซับฯใช้งาน ในการที่ปริมาตรอากาศสุทธิเกินกว่าค่าใช้งาน เราสามารถนำกล่องที่มีปริมาตรใดๆไปติดตั้งเพิ่ม หรือดามโครงตู้ เพื่อลดปริมาตรอากาศลงได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ “ขาด หรือไม่เพียงพอ” เราไม่สามารถทำได้ นอกจากทุบทิ้งหรือจัดสร้างขึ้นใหม่เท่านั้น
สำหรับสูตรที่ใช้เพื่อการคำนวณปริมาตรเฉพาะของท่อระบายเบส ก็มีด้วยกันดังนี้
ปริมาตรเฉพาะของท่อระบายเบส = (1/2 ของขนาดด้านนอก ยกกำลัง 2) x 3.14 x ความยาวของท่อ หรือ PIE x R^2 x L
ตัวอย่างเช่น ท่อขนาด 4 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว ที่มักจะมีขนาดด้านนอกท่อเป็น 4.2 นิ้ว ก็จะได้การแทนค่าในสูตรเป็นดังนี้คือ (2.1 x 2.1) x 3.14 x 5.0 = 69.237 ลูกบาศก์นิ้ว หรือ 0.040 ลบ.ฟุต