หลากหลายข้อข้องใจ ในการออกแบบตู้ซับวูฟเฟอร์
- วันที่: 28/12/2013 15:57
- จำนวนคนเข้าชม: 24393
ในความเป็นจริงนั้นดูจะไม่มีคำแนะนำใดที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับงานออกแบบตู้เบส เพราะแต่ละท่านก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไปตามแต่พื้นฐานแห่งประสบการณ์ ซึ่งในหัวข้อนี้เราได้นำเอาข้อข้องใจที่มักเกิดขึ้นบ่อยในการออกแบบระบบ “ตู้เบส” เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานประกอบสำหรับออกแบบตู้เบสให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด
ในการปรับตั้งเสียงเบส เราจะตรวจสอบความถี่รีโซแนนท์ของระบบเสียงเบสได้อย่างไร?
บริเวณที่เกิดความถี่รีโซแนนท์ของระบบตู้เบสนั้น คือจุดที่เกิดอิมพีแดนซ์ที่มีค่าสูงสุดเมื่อมีระดับกำลังสูงสุด(สำหรับตู้เบสในแบบปิด) หรือจุดที่เกิดระดับกำลังที่ต่ำที่สุด (สำหรับตู้เบสในแบบเปิดและแบบแบนด์พาส) สำหรับตู้เบสในแบบแบนด์พาสลำดับที่ 6 จะเกิดจุดความถี่รีโซแนนท์ขึ้นด้วยกันสองจุด แต่ละจุดจะอยู่ในตู้แต่ละใบ
หากต้องการที่จะหาจุดความถี่รีโซแนนท์ที่แม่นยำของระบบ ให้ใช้มัลติมิเตอร์โดยตั้งย่านการวัดไปที่ “การวัดกระแส” จากนั้นทำการต่อมัลติมิเตอร์อนุกรมเข้ากับสายลำโพงด้านบวกที่เดินจากเพาเวอร์แอมป์มาเข้าที่ขั้วบวกของดอกลำโพง จากนั้นใช้เครื่องกำเนิดความถี่มาป้อนสัญญาณเข้าที่อินพุทของเพาเวอร์แอมป์ โดยเริ่มจากความถี่ต่ำสุด 20 Hz ไล่ไปเรื่อยๆจนถึงความถี่ 100 Hz
จุดที่เกิดความถี่รีโซแนนท์ มัลติมิเตอร์จะอ่านค่ากระแสได้ต่ำสุด(สำหรับตู้เบสในแบบปิด) หรืออ่านค่ากระแสได้สูงสุด (สำหรับตู้เบสในแบบเปิด และแบบแบนด์พาส) ซึ่งในกรณีของตู้เบสในแบบเปิดและแบบแบนด์พาส ถ้าหากจุดความถี่รีโซแนนท์ที่วัดได้ไม่ตรงกับจุดความถี่รีโซแนนท์ที่ต้องการ ท่านยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนความยาวของท่อระบายเบสใหม่ได้ ส่วนกรณีของตู้เบสในแบบปิด การปรับเปลี่ยนจุดความถี่รีโซแนนท์สามารถทำได้โดยการเพิ่มใยไนลอนยับยั้งอากาศหรือนำออกให้ได้ผลตามต้องการ
จะเกิดอะไรขึ้นหากตัวตู้มีปริมาตรอากาศน้อยเกินกว่าที่ดอกลำโพงต้องการ?
หากตู้ที่ทำการออกแบบนั้น มีปริมาตรอากาศที่น้อยกว่าความเหมาะสมกับดอกลำโพงเสียงเบส จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เสียงบูมมี่(boomy)” นั่นคือเสียงในย่านมิดเบสจะมีปริมาณสูงมาก ในขณะที่เสียงเบสในย่านต่ำๆมีพลังน้อยมาก และมีผลให้อัตราการรองรับกำลังขับของดอกลำโพงเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในกรณีที่ขนาดของตู้เบสไม่ได้น้อยมากเกินไปนัก ท่านสามารถช่วยเพิ่มขยายปริมาตรอากาศภายในได้ โดยการใส่ใยไนลอนยับยั้งอากาศเข้าไปภายในตู้ ซึ่งถ้าใส่ในปริมาณและตำแหน่งที่เหมาะสม มันจะช่วยขยายปริมาตรอากาศภายในตู้ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ให้กับดอกลำโพงเสียงเบส
จะเกิดอะไรขึ้นหากตัวตู้มีปริมาตรอากาศมากเกินกว่าที่ดอกลำโพงเสียงเบสต้องการ?
โดยปกติเราอาจได้การตอบสนองทางความถี่ต่ำๆเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็จะทำให้ต้องสูญเสียอัตรารองรับกำลังขับของดอกลำโพงไป เสียงเบสต่ำจะฟังดูมีความหนักหน่วงและกระด้างกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งคงไม่เป็นสิ่งที่นักฟังต้องการ ในกรณีของตู้เบสแบบเปิด ตู้เบสที่มีปริมาตรอากาศมากเกินไปอาจทำให้เกิดการสนองตอบอย่างยิ่งยวดที่จุดความถี่รีโซแนนท์ของระบบ
ใช้ท่อระบายที่สั้นกว่าสองท่อ แทนท่อระบายที่มีความยาว ในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันได้หรือไม่?
ไม่สามารถทำได้แน่นอน! จุดที่เกิดความถี่รีโซแนนท์นั้นจะได้ความสมบูรณ์แบบกับพื้นที่หน้าตัดของท่อระบาย ที่ผกผันกับความยาวของท่อระบาย ถ้ามีการเพิ่มพื้นที่หน้าตัดโดยเพิ่มท่อระบายขึ้นอีกหนึ่ง ความยาวรวมของท่อระบายจะต้องถูกเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมิฉะนั้นค่า Fb ของท่อจะเปลี่ยนไป
จะเป็นอย่างไร หากจะใช้ตู้เบสใบเดียวกับดอกลำโพงมากกว่าหนึ่งดอก?
คำตอบง่ายๆก็คือ คุณจะต้องนำค่า Vas ของดอกลำโพงมาคูณด้วยจำนวนของดอกลำโพง เพื่อใช้ในการคำนวณปริมาตรอากาศในตู้ ตัวอย่างเช่น ถ้าดอกลำโพงเสียงเบสที่ใช้มีค่า Vas เป็น 3 ลบ.ฟุต และคุณต้องการใช้ดอกลำโพงสองดอกในตู้ใบเดียว ให้นำเอาค่า 3 คูณด้วย 2 ซึ่งเท่ากับ 6 ลบ.ฟุต ไปใช้ในการคำนวณหาปริมาตรอากาศในตู้ที่เหมาะสม ในกรณีนี้ยกเว้นว่าคุณต่อซับฯสองดอกในแบบ “ไอโซบาริค”(isobaric)
ควรติดตั้งท่อระบายเบสไว้ตำแหน่งใดของตู้?
สำหรับตู้เบสที่มีท่อระบายเบส ท่านสามารถติดตั้งท่อระบายเบสไว้ที่ตำแหน่งใดก็ได้ เว้นแต่เป็นตำแหน่งที่ขัดแย้งกับอุปกรณ์อื่นที่ติดตั้งอยู่ภายในตู้
ที่ปากของท่อระบายเบส ควรจะห่างจากผนังด้านที่ตรงกับปากท่อ ประมาณหนึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อที่ใช้ และห่างจากผนังด้านข้างของปากท่อ ประมาณหนึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อที่ใช้ รวมถึงห่างจากดอกลำโพงเสียงเบสหนึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อด้วยเช่นกัน
รูปทรงของตู้เบสมีส่วนสำคัญหรือไม่?
รูปทรงของตู้เบสอาจไม่เป็นส่วนสำคัญ เพราะระบบจะใช้เพียงปริมาตรอากาศภายในสำหรับการสร้างความถี่เสียงเบสย่านต่ำๆ อย่างไรก็ตามควรต้องมั่นใจว่ามีพื้นที่ห่างเพียงพอระหว่างแม่เหล็กของดอกลำโพงกับผนังด้านหลัง เพื่อให้ช่องระบายความร้อนวอยซ์คอยล์ที่กลางแม่เหล็กทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ปกตินิยมใช้กันที่ประมาณ 3 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางช่องระบายความร้อน
จะใช้ดอกซับฯ X หรือดอกซับฯ Y ดีกว่ากัน?
นี่คงเป็นคำถามสามัญประจำปี และก็เป็นเรื่องยากที่จะตอบแบบเจาะจงลงไป หากไม่พิจารณาถึงเงื่อนไขหรือเป้าประสงค์ในการใช้งานที่ถูกต้อง การคาดคะเนจากค่า T/S Parameter ของดอกลำโพง จึงเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเปรียบเทียบดอกลำโพงต่างรุ่นต่างยี่ห้อกัน จะเป็นการดีกว่าหากได้ใช้โปรแกรมวิเคราะห์ เพื่อหาความเหมาะสมสูงสุดของดอกลำโพง ว่าเหมาะกับการใช้งานในเป้าประสงค์ใด หรือเหมาะสมกับเป้าประสงค์นั้นหรือไม่ จึงจะทำให้การเลือกใช้อย่างเหมาะสมเป็นไปได้ในความเป็นจริง
ดอกซับฯ X หรือดอกซับฯ Y ให้ความดังได้มากกว่ากัน?
นี่ก็เป็นคำถามสามัญอีกคำถามหนึ่ง ที่ยากจะตอบได้อย่างเจาะจง อย่างไรก็ดี การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ ที่จำลองสภาพการใช้งานในสภาวะต่างๆ สามารถคาดคะเนได้ถึงกำลังที่ได้ออกมาจากดอกลำโพงเสียงเบสแต่ละดอก ตามกำลังขับที่ป้อนเข้าไปดอกลำโพงนั้นๆ
สามารถจะนำเอาดอกลำโพงเสียงเบสสำหรับรถยนต์ ไปใช้ในระบบเสียงบ้านได้หรือไม่?
อาจจะเป็นไปได้ โดยปกติแล้วดอกลำโพงสำหรับระบบเสียงรถยนต์จะไม่ใช้ T/S เดียวกับดอกลำโพงสำหรับระบบเสียงบ้าน เพราะจะเน้นในเรื่องการสนองตอบกับ Cabin gain ของรถได้สูงกว่า อย่างไรก็ตาม เราอยากจะแนะนำว่าให้ลองนำเอาค่า T/S parameter ของดอกลำโพงนั้นไปวิเคราะห์ในโปรแกรมออกแบบตู้สำหรับระบบเสียงบ้าน เพื่อดูผลต่างๆให้แม่นยำก่อนการตัดสินใจ