• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

การปรับตั้ง EQ แบบพื้นฐาน เพื่อชดเชยการตอบสนองคลื่นเสียง

  • วันที่: 08/11/2014 15:51
  • จำนวนคนเข้าชม: 12518

เรื่องราวหรือแนวทางในการใช้งาน “อีควอไลเซอร์” หรือ “EQ” นั้น มีอยู่ด้วยกันหลากหลาย และมากมาย ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นเซียน หรือขั้นเทพ และเพื่อให้การเริ่มต้นใช้งานเป็นไปในลักษณะการเรียนรู้จากพื้นฐาน และค่อยๆก้าวสู่ขั้นมืออาชีพ จนถึงขั้นเทพ ครั้งนี้เราจะพูดถึงการปรับตั้งคุณภาพเสียงด้วย “EQ” ในขั้นพื้นฐานกันก่อน

อุปกรณ์หลักในระบบเสียงสมัยใหม่ ที่เรียกกันว่า “อีควอไลเซอร์” นั้น มักถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการชดเชยการตอบสนองคลื่นเสียง เพื่อให้ “สภาพเสียง” ที่ถูกนำเสนอออกทางชุดลำโพงนั้น มีการตอบสนองในย่านเสียงต่างๆได้ในเอกภาพของความเป็น “ไฮ-ฟิเดลิตี้” หรือ “ความเที่ยงตรงสูง”

ระบบเสียงพื้นฐานโดยทั่วๆไป มักมีความบกพร่องในส่วนของคลื่นเกือบๆปลายสุดของแต่ละย่านเสียง อาทิ ปลายสุดของเสียงย่านต่ำ และปลายสุดของเสียงย่านสูง (ย่านความถี่เสียงที่มนุษย์รับรู้ได้คือ จาก 20 Hz ถึง 20,000 Hz) ซึ่งเราสามารถใช้งาน EQ ได้อย่างมีประโยชน์ในขั้นพื้นฐาน เพื่อชดเชยส่วนที่เป็นความบกพร่องดังกล่าวนี้

คุณสมบัติของ EQ ที่ถือว่าสามารถใช้งานในอรรถประโยชน์ที่หลากหลาย มักต้องเป็น EQ ที่มีคุณสมบัติในลักษณะ 1/3 Octave หรือมีปุ่มชดเชยความถี่จำนวน 30 ปุ่ม หรือมีปุ่มกำหนดความถี่ไว้ที่ 20Hz, 25Hz, 31.5Hz, 40Hz, 50Hz, 63Hz, 80Hz, 100Hz, 125Hz, 160Hz, 200Hz, 250Hz, 315Hz, 400Hz, 500Hz, 630Hz, 800Hz, 1kHz, 1.25kHz, 1.6kHz, 2kHz, 2.5kHz, 3.15kHz, 4kHz, 5kHz, 6.3kHz, 8kHz, 10kHz, 12.5kHz, 16kHz, 20kHz

สำหรับ EQ ที่มีคุณสมบัติน้อยกว่า หรือมีปุ่มชดเชยความถี่ในจำนวนน้อยกว่านี้ ต้องใช้ประสบการณ์และการเรียนรู้ทางคลื่นเสียงที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถทำการชดเชยได้อย่างถูกต้อง

เกณฑ์การปรับตั้งในแบบพื้นฐาน ที่นิยมกระทำกันใน EQ 30 Band เพื่อชดเชยความบกพร่องของระบบเสียง ในการตอบสนองต่อคลื่นความถี่ มีดังต่อไปนี้

ปรับเพิ่ม +7 dB ที่ความถี่ 20Hz

ปรับเพิ่ม +4 dB ที่ความถี่ 25Hz

ปรับเพิ่ม +3 dB ที่ความถี่ 31.5Hz

ปรับเพิ่ม +2 dB ที่ความถี่ 40Hz

ปรับเพิ่ม +1 dB ที่ความถี่ 63Hz

ปรับเพิ่ม +0.5 dB ที่ความถี่ 80Hz

ปรับเพิ่ม +0.25 dB ที่ความถี่ 100Hz

ส่วนนี้ใช้เพื่อชดเชยการตอบสนองคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำ ที่มักเป็นข้อบกพร่องในระบบเสียงพื้นฐาน

ปรับเพิ่ม +0.25 dB ที่ความถี่ 2.5kHz

ปรับเพิ่ม +0.5 dB ที่ความถี่ 3.15kHz

ปรับเพิ่ม +1 dB ที่ความถี่ 4kHz

ปรับเพิ่ม +1.25 dB ที่ความถี่ 5kHz

ปรับเพิ่ม +2 dB ที่ความถี่ 6.3kHz

ปรับเพิ่ม +3 dB ที่ความถี่ 8kHz

ปรับเพิ่ม +4 dB ที่ความถี่ 10kHz

ปรับเพิ่ม +7 dB ที่ความถี่ 12.5kHz

ปรับเพิ่ม +9 dB ที่ความถี่ 16kHz

ปรับเพิ่ม +11.5 dB ที่ความถี่ 20kHz

ส่วนนี้ใช้เพื่อชดเชยการตอบสนองคลื่นเสียงในย่านความถี่สูง ที่มักเป็นข้อบกพร่องในระบบเสียงพื้นฐาน

แนะนำว่าก่อนการปรับแต่ง EQ  ใดๆ ให้ทำการยกเลิก “ตัวช่วยทางด้านเสียงอื่นๆ” อาทิ ปุ่มลาวด์เนส หรือปุ่มปรับเสียงทุ้ม/แหลมในระบบ (ตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 0 นาฬิกา) และควรทำการฟังเสียงตัวอย่างจากระบบที่ทำการยกเลิกตัวช่วยทางด้านเสียงอื่นๆทั้งหมดแล้ว เพื่อจดจำเอาไว้ และฟังเสียงอีกครั้งหลังทำการปรับแต่ง EQ ด้วยเพลงเดิมหรือเพลงเดียวกัน ก็จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานของ EQ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของการปรับแต่งได้ในโอกาสต่อไป