• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

นิยามเสียง สำหรับระบบเสียงที่ดี มีคุณภาพสูง

  • วันที่: 08/11/2014 15:49
  • จำนวนคนเข้าชม: 5464

การฟังหรือรับรู้คุณภาพเสียงในหลักของ “ออดิโอไฟล์” เพื่อระบุหรือยอมรับในเรื่องของ “คุณภาพเสียง” ในระบบเสียง จะเป็นภาพรวมของกระบวนการจัดการในระบบเสียง จากซับวูฟเฟอร์, วูฟเฟอร์ ไปจนถึงทวีตเตอร์ ว่าสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงตลอดย่านความถี่ของความเป็นดนตรีได้เพียบพร้อมสมบูรณ์มากเพียงใด คล้ายคลึงกับการระบุหรือวินิจฉัยคุณภาพของ “ไวน์”(Wine) ว่าจัดอยู่ในระดับหรือเกรดใด เพียงแต่เปลี่ยนจากการ “ชิม” มาเป็นการ “ฟัง” เพื่อรับทราบ โดยใช้ความเข้าใจในพื้นฐานของส่วนเสียงต่างๆดังต่อไปนี้

ความชัดเจน (Clarity)

ความชัดเจน คือความสามารถของระบบเสียง ในการถ่ายนำหรือผลิตสัญญาณเดิมตามที่ได้ถูกบันทึกไว้ในสื่อออกมา โดยไม่มีความผิดเพี้ยนหรือการบิดเบือน ซึ่งความผิดเพี้ยนหรือการบิดเบือนนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ จากต้นสัญญาณหรือเฮดยูนิทมายังภาคส่วนการขยายเสียง(เพาเวอร์แอมป์)ไม่ได้มีการ “เลเวล-แมทช์”(level-matched) อย่างถูกต้อง จนทำให้เกิดการ “ขลิบ”(clipping) หรือเกิดการ “ขยายเกินกำลัง”(overdriven) และส่งถ่ายสัญญาณที่ผิดเพี้ยนนั้นไปยังลำโพง นอกจากนี้ความผิดเพี้ยนยังเกิดจากอุปกรณ์ที่ประกอบอยู่ในวงจรของอุปกรณ์เองด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตรวจสอบด้วยการฟังในส่วนนี้ เรามักจะใช้เสียงของ “ฉิ่ง”(Cymbals) ที่มักให้เสียงในลักษณะ “ก๋ากั่น”(brassy) และ “อับทึม”(off-putting) หากว่าระบบนั้นให้เสียงที่มีความผิดเพี้ยนหรือบิดเบือน นอกจากนี้เสียงนักร้องหญิงโทนสูง(High-pitched) ยังเปิดเผยตัวตนได้ไม่ชัดแจ้ง ซึ่งสองเสียงนี้สามารถเปิดเผยหรือแสดงให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนหรือการบิดเบือนของระบบเสียงได้ง่าย

การบรรลุถึงผลแห่งความชัดเจนของเสียงนั้น จะตัองไม่มีเรื่องของความผิดเพี้ยนหรือการบิดเบือนในระบบเสียงไม่ว่าจะส่วนหนึ่งส่วนใด ตั้งแต่การวางระบบไปตลอดจนถึงการ “ปรับตั้งระบบ” ตั้งมั่นใจ-แน่ใจได้ว่าอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในระบบจะต้องมีคุณภาพเพียงพอและเข้ากันได้กับอุปกรณ์อื่นๆในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "ระดับสัญญาณเสียง" (signal levels) ในการจับคู่กันทางอีเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้มันยังเกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ตามที่ตั้งใจและไม่พยายามยัดเหยียดการทำงานที่เกินกำลังให้กับอุปกรณ์ต่างๆในระบบด้วย

ขอบเขตไดนามิก (Dynamic range)

ขอบเขตไดนามิก จะอ้างอิงถึงความสามารถของระบบ ที่ทำให้เกิดเสียงที่ดัง(หนักหน่วง)และเสียงที่เบา(นุ่มนวล)แตกต่างกันภายในเนื้อเสียงเพลงได้อย่างถูกต้อง เมื่อฟังด้วยระดับความดังเสียงเดียวกัน หากท่านได้มีโอกาสไปฟังเพลงที่แสดงในงานแสดงเสียงเปิดโล่ง หรือในห้องแสดงเสียง จะสังเกตในเรื่องขอบเขตไดนามิกนี้ได้อย่างแจ้งชัด เพราะในบางขณะนักร้องอาจโอดครวญอย่างสุดอารมณ์แล้วต่อด้วยการกระซิบอย่างแผ่วเบาในห้วงช่วงเวลาเดียวกัน หรือเสียงตีกลองอาจจะถูกกระหน่ำอย่างรุนแรงด้วยหัวไม้แล้วก็ถูกเคาะอย่างนุ่มนวลด้วยด้ามไม้ตี การให้เสียงที่สุดขีดในแต่ละด้านเหล่านี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยในด้านของคุณภาพเสียงจากระบบเสียง

ถ้าหากการบันทึกและถ่ายนำกลับของระบบเสียงมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ความหนักหน่วงและนุ่มนวลนี้จะต้องมีรายละเอียดและความถูกต้องทัดเทียมกัน บ่อยครั้งที่พบว่าระบบเสียงจะให้เสียงที่ปราศจากความนุ่มนวลแต่กลับโดดเด่นในเรื่องความดังหรือหนักหน่วง นั่นหมายถึงว่าระบบเสียงนั้นสูญเสียรายละเอียดปลีกย่อยในประสิทธิผลการทำงาน

ความสัมพันธ์เชิงตรงในแนวคิดนี้ ก็อาจหมายถึงระบบเสียงนั้นมีแนวโน้มที่จะไร้ประสิทธิผลในด้านรายละเอียด (lose detail) เมื่อลดระดับความดังเสียงลงมา ระบบเสียงที่ให้ขอบเขตไดนามิกได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องสามารถคงไว้ซึ่งรายละเอียดเสียงในระดับความดังต่ำๆได้ทัดเทียมกับเมื่อฟังในระดับความดังค่อนข้างสูง

การตอบสนองความถี่ (Frequency response)

ทุกๆสรรพเสียงที่ท่านได้ยิน ทั้งเสียงดังก้องย่านต่ำของเสียงฟ้าร้อง ตลอดไปจนถึงเสียงโหยหวนย่านสูงของเสียงไซเรน เป็นผลมาจากแรงสั่นกระเพื่อมในอากาศทีทำให้เกิดเป็นคลื่นความถี่ แรงสั่นกระเพื่อมนี้มีหน่วยวัดเป็น “เฮิรตซ์”(hertz Hz) ซึ่งหมายถึงจำนวนครั้งของการสั่นกระเพื่อมต่อวินาที

มนุษย์เรามีความสามารถในการได้ยินเสียงที่มีความถี่โดยประมาณจาก 20 Hz ถึง 20,000 Hz (เฮิรตซ์) ระบบเสียงในรถยนต์ทั่วๆไปจึงควรสามารถให้การตอบสนองความถี่ได้ตามการได้ยินนี้ การวัดความสามารถของการตอบสนองความถี่ในระบบเสียง โดยหลักการแล้วจะใช้เครื่องมือวัดที่เรียกกันว่า “เครื่องวิเคราะห์เสียงตามเวลาจริง” (real-time analyzer RTA) ซึ่งประกอบด้วยไมโครโฟนรับคลื่นเข้าสู่เครื่องประมวลผล และมีจอแสดงผลที่มีกราฟแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองความถี่เสียงในระบบ

หรืออาจจะใช้ “เครื่องวัดระดับความดังเสียง” (SPL meter) โดยทำงานร่วมกับแผ่นแทรกที่มีคลื่นเสียงแบบ 1/3 ออคเทฟ (Octave) แล้วกำหนดเป็นจุดกราฟในแต่ละคลื่น ก็จะได้ผลของการตอบสนองความถี่เสียงในระบบได้เช่นกัน

สมดุลน้ำเสียง (Tonal balance)

ด้วยแนวคิดของระบบเสียงรถยนต์ ที่มีความสามารถในการให้การตอบสนองความถี่ในย่านเสียงปกติได้จาก 20 ถึง 20,000 เฮิรตซ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกระบบเสียงจะให้ผลได้อย่างสมบูรณ์แบบในขณะเล่นเพลง เสียงเพลงมีลักษณะเป็นพลวัติ (dynamic – เปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ ไม่คงที่) บางครั้งอาจหนักหน่วง-รุนแรง ขณะที่บางครั้งก็อ่อนละมุน-นุ่มนวล และแสดงออกโดยธรรมชาติในกราฟแสดงผล ในลักษณะของคลื่นความถี่ที่ลดต่ำลงหรือพุ่งทะยานขึ้น สลับไป-มา

ไม่ใช่ว่าว่าระบบเสียงจะสามารถให้คลื่นความถี่ที่ลดต่ำลงหรือพุ่งทะยานขึ้น ในการตอบสนองความถี่ได้เพียงอย่างเดียว หากแต่มันจะต้องมีความสมดุลน้ำเสียงที่ดีด้วย นั่นคือความสัมพันธ์ของจำนวนพลังงานเสียงที่เท่าเทียมกันในแต่ละช่วงความถี่ เพื่อที่จะให้ “เสียงที่ดี” (to sound good)

นักวางระบบเสียงหรือนักปรับตั้งคุณภาพเสียงที่ดี อาจต้องทำการปรับเพิ่ม หรือปรับลด พลังงานเสียงในบางช่วงความถี่ให้เหมาะสม เพื่อให้ระบบมีการตอบสนองความถี่ที่สม่ำเสมอกัน (flat frequency response) ด้วยอุปกรณ์จำพวก “ปรับตั้งเสียง” (equalizer)

ต้องระลึกไว้เสมอว่า “ระบบเสียงที่ดี” นั้น จะต้องมีจุดเริ่มต้นด้วยการให้ “น้ำเสียงที่สมดุล” ได้ก่อนเป็นอันดับแรก