• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

เคล็ดลับ 12 ประการ ที่อาจช่วยปรับปรุงให้คุณภาพเสียงในระบบดีขึ้น

  • วันที่: 06/09/2014 16:52
  • จำนวนคนเข้าชม: 6537

1.เลือกวางระบบเสียงอย่างชาญฉลาด (ไม่ใช่มีแค่ดอกซับฯ 15 นิ้ว 12 ดอก กับทวีตเตอร์แค่คู่เดียว)

2.ปรับตั้งระบบอย่างเหมาะสม (ไม่ควรปรับ “เกน” ความไวเพื่อขยายเสียงด้วย “หู” และรวมถึงเลือกใช้จุดตัดความถี่ ที่ปุ่มครอสโอเวอร์อย่างเหมาะสม)

3.ฟังเสียงจากระบบอย่างจริงจัง ใช้แผ่น CD ทดสอบ ที่มีแทรกเพื่อระบุส่วนของเสียงด้านซ้าย และเสียงด้านขวา และตรวจ “เฟส” แต่ละส่วนของดอกลำโพง ด้วยการใช้แทรกที่มีช่วงคลื่นแตกต่างกัน (อาทิ ช่วงคลื่นย่านความถี่ต่ำ 20Hz – 100Hz, ช่วงคลื่นย่านความถี่กลาง 100Hz – 3000Hz และช่วงคลื่นย่านความถี่สูง 3000Hz – 20000Hz จะดีกว่าใช้แทรกเสียงรวมตลอดย่านเพียงแทรกเดียว)

4.ลองสลับเปลี่ยนขั้วลำโพงขาเข้าที่ดอกลำโพง (แม้จะเช็คเฟสถูกต้องแล้วก็ตาม) เฉพาะในชุดลำโพงฝั่งตรงข้ามกับที่นั่งคนขับ (หรือโดยปกติคือชุดลำโพงด้านซ้ายของรถ เมื่อหันหน้าไปทางพวงมาลัย) และลองนั่งฟังดูใหม่อีกครั้ง ถ้ามันให้ความเป็นสเตอริโอหรือผลรวมดีกว่า ก็เอาตามนั้น แต่ถ้าหากไม่ดีกว่าหรือแย่ลง ก็สลับกลับไปเข้าสายแบบเดิม ทั้งนี้รวมถึงชุดลำโพงด้านหลัง(ถ้ามี) และที่ดอกซับวูฟเฟอร์ด้วย

5.ฟังเสียงจากระบบอีกครั้ง คราวนี้ใช้แทรกเพลงที่ท่านรู้สึกว่าเป็นแทรกเพลงที่มีคุณภาพเสียงที่ดี และควรเป็นแทรกที่มีเครื่องดนตรี ที่เล่นในโน้ตคาบเกี่ยวกันระหว่างดอกลำโพงแต่ละส่วน อาทิเช่น ถ้าใช้จุดตัดความถี่ระหว่างชุดลำโพงกลางแหลมและซับวูฟเฟอร์ที่ประมาณ 80Hz ก็ควรใช้แทรกเพลงที่มีเครื่องดนตรีอย่าง Bass Viola เพื่อตรวจสอบการผสมผสานเสียงที่เหมาะสม

6.ลองฟังแทรกเพลงนั้นๆ ทั้งที่เปิดใช้เสียงจากดอกซับวูฟเฟอร์ และปิดเสียงจากดอกซับวูฟเฟอร์ เพื่อดูถึงความกลมกลืน และการตอบสนองของดอกลำโพงแต่ละส่วน ว่าเหมาะสมหรือไม่

7.ฟังเสียงจากลำโพงชุดหน้า (ปกติที่บานประตู) ว่าสามารถให้เสียงที่มีความดังและสะอาดชัด โดยหน้ากรวยไม่เกิดอาการกระพืออย่างรุนแรง ลองปรับจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์ ไปยังตำแหน่งความถี่ต่ำที่ลดลงไป จากนั้นฟังดูใหม่ ค่อยๆลดตำแหน่งจุดตัดความถี่ให้ต่ำได้ช่วงความถี่ที่ต่ำที่สุด โดยดอกลำโพงไม่มีปัญหา เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ให้ปรับย้อนขึ้นไปประมาณ 1 หรือ 2 คลิ้ก (อาทิเช่น ปรับได้ต่ำสุดที่ประมาณ 80Hz ก็ให้ขยับขึ้นไปที่ราวๆ 90Hz หรือ 100Hz เป็นต้น)

8.การจัดการกับเสียงในส่วนของดอกซับวูฟเฟอร์ ไม่ควรให้เสียงย่านซับฯ มีพละกำลังเสียงเหนือกว่าเสียงที่ดอกลำโพงตรงบานประตูมากเกินไปนัก ลองขยับจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์ ในส่วนของดอกซับฯ เพิ่มขึ้นหรือลดลง แล้วฟังความเปลี่ยนแปลงของเสียง ในกรณีที่มีการเปลี่ยนความลาดชันของครอสฯ (เช่นเปลี่ยนจาก 12dB ไปเป็น 18dB หรือ 24dB) ต้องย้อนกลับไปตรวจสอบเรื่อง “เฟส” ใหม่อีกครั้ง (เฉพาะดอกซับฯ) เพราะการเปลี่ยนค่าความลาดชัน จะมีผลทำให้ “องศาเสียง” หรือ “เฟส” เปลี่ยนไป

9.นั่งฟังเสียงจากระบบอีกครั้ง โดยใช้แทรกเพลงหรือแผ่น CD ที่เป็นเนื้อเพลงซึ่งถูกบันทึกมาในรูปแบบของ “ดนตรีสด” หรือ “บันทึกการแสดงดนตรีสดในสถานที่แสดงดนตรีรโหฐาน” เพื่อรำลึกถึงความมีชีวิตชีวาของเพลง เฉกเช่นเมื่อได้ไปนั่งฟังจริงๆมา และควรฟังในระดับความดังอย่างน้อย 3 ระดับ นั่นคือ ฟังในระดับแผ่วเบา, ฟังในระดับปานกลาง และฟังในระดับความดังค่อนข้างสูง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อใช้ระดับความดังค่อนข้างสูงแล้ว ระบบจะไม่มีการทำงานที่ผิดพลาดทางคุณภาพเสียง

10.ถ้าหากเสียงที่ได้ยินมีลักษณะ “ฟังแล้วเครียด” ที่ระดับความดังค่อนข้างสูง มีความเป็นไปได้ว่า ดอกลำโพงทำงานไม่ได้ตามประสิทธิภาพ หรือเพาเวอร์แอมป์เกิดการขลิบเสียงอย่างรุนแรง รวมถึงความเมื่อยล้าจากการนั่งฟังเป็นเวลานาน (ไม่ควรนั่งฟังวิเคราะห์เสียงในรถที่ระดับความดังสูงๆต่อเนื่องเกินกว่า 3 ชั่วโมง)  เป็นไปได้ว่าจะต้องปรับปรุงในส่วนของดอกลำโพงหรือเพาเวอร์แอมป์ตามสมควร หากเน้นการฟังในระดับความดังสูงๆนั้น

11.อย่าหวาดกลัวกับการเปลี่ยนแปลง “จุดตัดความถี่” หรือ “การปรับตั้งระดับเกนขยาย” เพื่อฟังผลทางคุณภาพเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ให้จดจำตำแหน่งที่เริ่มต้นว่าอยู่ที่ใด เพราะหากมีความรู้สึกเหมือนว่าผลที่ได้เป็นไปในทางแย่ลง ให้ย้อนกลับไปยังตำแหน่งก่อนเริ่มปรับ และควรทำที่ละส่วน อย่าทำหลายๆส่วนพร้อมกัน เนื่องจากจะประเมินไม่ได้ว่า “ผลเสีย” มาจากส่วนใด ข้อสำคัญ ไม่ควรวิเคราะห์ผลทางคุณภาพเสียง ด้วยระดับความดังที่เกินปกติวิสัยของการฟัง (หลักง่ายๆคือไม่ควรเกินกว่า 100 dB โดยเฉลี่ย สำหรับการฟังภายในห้องโดยสารรถยนต์ ขณะจอดนิ่งอยู่กับที่)

12.สุดท้าย ให้ลองนึกทบทวนว่าได้ทำอะไรไปบ้างกับการปรับตั้งระบบเสียง แล้วจดบันทึกในลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อได้ทำความเข้าใจกับเทคนิคการปรับตั้งเสียง ว่าทำส่วนใด ได้ผลอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แล้วจึงค่อยค้นคว้าต่อยอดว่าเป็นเพราะเหตุใด ไม่ช้าไม่นาน ท่านก็จะเป็น “นักปรับปรุงคุณภาพเสียงชั้นยอด” ที่สามารถปรับปรุงระบบให้มีคุณภาพเสียง เป็นไปได้อย่างที่ใจต้องการ หรือเพื่อนๆต้องการ