Ground Wire 5 ตำแหน่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพระบบไฟของรถสูงวัย
- วันที่: 24/05/2014 13:03
- จำนวนคนเข้าชม: 11001
ใช้ประโยชน์ได้ดีกับรถอายุมาก(ไม่ใช่อายุผู้ขับนะครับ) หรือรถอายุน้อยที่ใช้วัสดุปั้มโครงตัวถังแบบรีไซเคิล หรือวัสดุกึ่งอัลลอย เพื่อทำให้วงรอบไฟรถมีการไหลวนที่สมบูรณ์ สดใส กระปรี้กระเปร่า
ในระบบไฟของรถยนต์หรือยานยนต์นั้น จะใช้ตัวถังรถเป็นสะพานไฟกราวน์(หรือ Common Ground) ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นเพลทขนาดใหญ่หรือพื้นที่หน้าตัดขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าสายเบอร์ 000 AWG หลายสิบเท่า) สามารถนำไฟรวมได้เป็นหมื่นโวลท์ และมีความต้านทานรวมที่ค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาปั้มขึ้นเป็นตัวถังด้วย เหล็กแผ่นรีดหรือเหล็กกล่องจะดีกว่าแผ่นเหล็กรีไซเคิล)
ในทางเทคนิคสำหรับการวิเคราะห์สภาพการนำทางไฟฟ้าของตัวถังรถ จะใช้การวัดด้วยดิจิตอล-มัลติมิเตอร์ โดยตั้งย่านการวัดเป็นโอห์ม(หรือวัดความต้านทาน) จากนั้นนำไปวัดสภาพการนำไฟฟ้าในตำแหน่งหลัก อาทิ ระหว่างตัวบอดี้หลักของเครื่องยนต์ หรือฐานกราวน์ของคอยล์จุดระเบิด กับขั้วลบของแบตเตอรี่(ไม่ใช่ที่กราวน์ของแบตเตอรี่) ถ้าหากค่าความต้านทานที่วัดได้มีค่าไม่มากไปกว่า 1.5 โอห์ม แสดงว่าสภาพการนำไฟฟ้าโดยรวมอยู่ในขั้นมาตรฐาน แต่หากค่าความต้านทานที่วัดได้ มีค่าเกิน 1.5 โอห์ม อาทิ 3 โอห์ม หรือ 5 โอห์ม อย่างนี้แสดงว่าสภาพการนำไฟฟ้า(ไฟกราวน์)เริ่มแย่แล้ว ถ้าเป็นรถใหม่(ปีใหม่ๆ)ก็ย่อมแสดงว่าแผ่นโลหะที่นำมาปั้มขึ้นเป็นโครงรถ น่าจะเป็นโลหะรีไซเคิล ที่มีการประสานของเนื้อโลหะได้ไม่ดีพอ
ในรถอายุมาก สภาพของโลหะตัวถังและสภาพของสายกราวน์หลักเดิมของระบบไฟ อาจเสื่อมสภาพหรือลดประสิทธิภาพในการนำกระแสลงไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีค่า “ความต้านทาน” เพิ่มสูงขึ้น การหมุนวนของระบบไฟในรถยนต์ก็มักจะมีความบกพร่อง ไฟลบจากอุปกรณ์ต่างๆไม่สามารถเดินทางกลับไปยังต้นทาง(ที่ขั้วลบของแบตเตอรี่)ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ส่งผลให้สมรรถภาพของอุปกรณ์นั้นๆหย่อนยานลง การทำ “Ground Wire” จึงช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของระบบไฟให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิม
โดยพื้นฐานของการทำ Ground Wire จะเริ่มที่ 5 ตำแหน่ง และเน้นในส่วนของอุปกรณ์ที่มีผลต่อระบบเครื่องยนต์เป็นหลัก อันได้แก่
1.ตำแหน่งใกล้ฝาสูบหรือบริเวณหัวฉีดของเครื่องยนต์ ช่วยให้ตัวหัวฉีดทำงานสมบูรณ์
2.ตำแหน่งใกล้ขายึดไดชาร์จหรืออัลเทอเนเตอร์ ช่วยให้กระแสชาร์จเข้าแบตเตอรี่สมบูรณ์
3.ตำแหน่งใกล้กับหรือกราวน์ของคอยล์จุดระเบิดหัวเทียน ช่วยให้ไฟจุดระเบิดหัวเทียนสมบูรณ์
4.ตำแหน่งใกล้กับผนังห้องเครื่อง (ที่มักเป็นจุดลงกราวน์ของกล่อง ECU, กล่องเกียร์ออโต้) ช่วยให้อุปกรณ์ประมวลผลเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติทำงานสมบูรณ์
5.ตำแหน่งใกล้กับหรือจุดกราวน์ของกล่องรวมชุดไฟ(กล่องฟิวส์, รีเลย์ต่างๆ) ช่วยให้อุปกรณ์ปลีกย่อยในรถทำงานสมบูรณ์
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการทำ Ground Wire เพิ่มเป็น 7 จุด, 8 จุด, 10 จุด จนถึง 12 จุด ขึ้นอยู่กับเรื่องของขนาดเครื่องยนต์และความซับซ้อนของระบบประมวลผล
สำหรับเรื่องของขนาดเบอร์สาย ที่นำมาใช้เป็นสาย Ground Wire ก็สามารถใช้ตารางเบอร์สาย AWG ที่สัมพันธ์กับกระแสที่ไหลและระยะทาง ดังนี้
ขนาดสายเบอร์ 14 AWG นำกระแสได้สูงสุด 32 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว(ประมาณ 121 ซม.)
ขนาดสายเบอร์ 12 AWG นำกระแสได้สูงสุด 41 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว
ขนาดสายเบอร์ 10 AWG นำกระแสได้สูงสุด 55 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว
ขนาดสายเบอร์ 8 AWG นำกระแสได้สูงสุด 73 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว
ขนาดสายเบอร์ 6 AWG นำกระแสได้สูงสุด 101 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว
ขนาดสายเบอร์ 4 AWG นำกระแสได้สูงสุด 135 A ในระยะทางไม่เกิน 48 นิ้ว
ในส่วนของรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,600 ซีซ๊ สามารถเริ่มต้นด้วยขนาดสายเบอร์ 14 AWG จนถึงเบอร์ 10 AWG ส่วนในรถที่มีเครื่องยนต์เกิน 2,500 ซีซี แนะนำใช้ขนาดสายเบอร์ 8 AWG จนถึงเบอร์ 4 AWG หรือเลือกใช้ให้สัมพันธ์กับขนาดของไดชาร์จหรืออัลเทอร์เนเตอร์ได้ตามสมควร
หมายเหตุ: กรณีใช้สายกราวน์ในระยะทางเกินกว่า 48 นิ้ว ให้ขยับเป็นสายเบอร์ใหญ่ขึ้น 1 เบอร์ เช่น จากเบอร์ 10 AWG เป็นเบอร์ 8 AWG เป็นต้น
ปัจจุบันมีชุด Ground Wire แบบสำเร็จรูปวางจำหน่าย หรือใช้ทำเป็นงาน DIY โดยเลือกสายไฟ และทำสะพานไฟหลักด้วยงานศิลปะส่วนตัวได้ ขอให้มีความสุขกับการฟื้นฟูสมรรถภาพระบบไฟในรถสูงวัยกันนะครับ