• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

ระบบข้อมูลสาระบันเทิงในรถยนต์...อนาคต

  • วันที่: 03/05/2014 15:25
  • จำนวนคนเข้าชม: 6630

ด้วยระยะเวลาและช่วงสมัยที่คล้ายคลึงกัน เทคโนโลยี่ความบันเทิงสำหรับภายในบ้านเรือนได้ถูกความเป็นดิจิตอลครอบงำไปจนเกือบหมดทุกส่วน โทรทัศน์หน้าจอแบนที่สามารถแตะสัมผัสสั่งงานได้อย่างสะดวก รวมถึงการเข้าถึงสื่อบันเทิงผ่านคลื่นดิจิตอลได้ในพริบตา พร้อมการโต้ตอบในแบบฉับพลันที่ดูเหมือนว่าทุกมุมในโลกนี้อยู่ใกล้แค่เวลาเพียงไม่กี่นาที

ภายในรถยนต์..ที่ปัจจุบันมีสภาพไม่ต่างไปจากห้องนั่งเล่นในบ้าน เพราะสภาพการจราจรที่ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร กลับต้องใช้เวลาในการเดินทางไม่ต่ำกว่าครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมง สิ่งอำนวยบันเทิงจึงกลายเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานในขณะที่ต้องติดแหงกอยู่บนถนน อย่างน้อยก็มีเสียงพูดคุยหรือเสียงเพลงช่วยกล่อมเกลาไม่ให้เกิดความเครียดแบบสุดกู่

วิวัฒนาการของ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” ในปัจจุบัน มีความสามารถในการรวมเอาเรื่องของ “ภาพ”, “เสียง” และ “การสื่อสารคลื่นดิจิตอล” เข้าไว้ในหน่วยเดียวกัน หากต้องการใช้งานสิ่งใดก็สามารถเขียนโปรแกรมให้ดึงเอาศักยภาพด้านนั้นๆมาใช้งานได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องสร้าง LSI หลากหลายหน้าที่มาใช้งานให้รกรุงรัง

เมื่อ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” เหล่านี้ มีการผลิตขึ้นอย่างมากมายวันละไม่ต่ำกว่าแสนๆชิ้น ด้วยผลของการเติบโตทางด้าน “คอมพิวเตอร์” ย่อมส่งผลให้ราคาต่อหน่วยลดต่ำลงจนต้นทุนถูกกว่าแผง LSI ที่ผลิตครั้งละไม่กี่ร้อยแผ่น นั่นหมายถึงว่า ในเวลาอีกไม่ช้าไม่นานนี้ เครื่องเล่นมัลติมีเดียในรถยนต์ทั้งหลาย จะหันไปใช้ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” ทดแทนความวุ่นวายของแผง LSI ที่พะรุงพะรัง ที่สำคัญเมื่อเทียบในเรื่องฟังค์ชั่นการใช้งานแล้ว “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” มีต้นทุนที่ต่ำกว่าแผง LSI หากนับในเรื่องของจำนวนฟังค์ชั่นใช้งาน

แน่นอนว่าด้วยตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างยิ่งยวด ผู้คนต่างก็จับจ้องไปในเรื่องของ “ฟังค์ชั่นใช้งาน” เมื่อเทียบกันในหน่วยของราคา ฟังค์ชั่นที่มากกว่าในราคาที่ย่อมเยาว์กว่า ย่อมเป็นที่หมายตาของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ก่อนจะตามมาด้วยความเป็นมิตรในการใช้งาน(คือใช้ได้อย่างราบรื่นไม่ติดๆขัดๆ) ในขณะที่ความจีรังยั่งยืนในการใช้งานเริ่มเป็นประเด็นท้ายๆ เหตุก็เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะมีเทคโนโลยี่ใหม่ๆเข้ามาทดแทน ความรู้สึกที่ยังจะต้องการใช้งานยาวๆเป็นสิบหรือยี่สิบปี เริ่มไม่มีประเด็นนี้ในสมอง สินค้าในรูปแบบของ “อีเล็คโทรนิค-แฟชั่น” จึงมีผู้หวังผลใช้งานแค่ไม่เกิน 3 หรือ 5 ปีเต็มที่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงแต่จะบอกเล่าเก้าสิบกันว่าต่อไปนี้ ท่านไม่ต้องแปลกใจที่แผงหน้าปัทม์ในรถยนต์ของท่านจะกลายสภาพเป็น Tablet PC ย่อมๆประจำรถ ที่มีความสามารถทางฟังค์ชั่นใช้งานไม่แตกต่างไปจากคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่ใช้งานกันอยู่ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วก็คงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่สำหรับผู้ที่ยังติดอยู่ในวังวนของความบันเทิงยุคเก่า อาจต้องเสียขวัญถ้าหากไม่รีบปรับตัวให้รับกับสภาพเหล่านี้ เพราะท่านแทบจะเป็น “คนตกยุค” ไปทันที เมื่อต้องเจอกับเครื่องเล่นความบันเทิงในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ

อะไรที่แปรเปลี่ยนไป

หลายๆท่านที่ยังนึกไม่ออกว่า พฤติกรรมของการใช้เครื่องเล่นสื่อบันเทิงในรถยนต์จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากรูปแบบของ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” ถูกนำมาใช้ทดแทนแผง LSI อย่างเต็มรูปแบบ เรามีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ

หมดยุคกวาดหาคลื่นสถานี

ช่องสถานีส่งกระจายเสียงจะเปลี่ยนตัวเองจากตัวเลขคลื่นความถี่ ไปเป็น “อัตลักษณ์” ของการกระจายเสียง อาทิ “สถานีข่าว”, “สถานีเพลงร็อค”, “สถานีเพลงลูกทุ่ง” หรือ “สถานีจราจร” เป็นต้น จากนั้นอัตลักษณ์ของสถานีเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมไว้ในลักษณะของดัชนีหรือเมนู เมื่อต้องการรับฟังช่องสถานีใด ก็เพียงสั่งด้วยเสียงหรือการแตะสัมผัสไปยังอัตลักษณ์เหล่านั้น ก็จะได้รับฟังเสียงถ่ายทอดของสถานีส่งกระจายเสียงนั้นทันที

และที่สำคัญเมื่อเครื่องเล่นสื่อบันเทิงในรถยนต์มีสภาพไม่ต่างๆไปจากคอมพิวเตอร์ ที่ผนวกเข้ากับการสื่อสารในรูปแบบคลื่นดิจิตอล (อาทิ 2G, 3G, 4G) ท่านสามารถรับฟังช่องสถานีส่งกระจายเสียงได้ทุกช่องในโลกนี้ ที่ได้มีการเชื่อมต่อเข้ากับคลื่นดิจิตอลเหล่านี้ แน่นอน “คำว่า FM/AM” อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักของการบ่งชี้สำหรับความต้องการในการรับฟังช่องสถานีส่งกระจายเสียงอีกต่อไป

บอกลาคลังเก็บแผ่น พบกับตัวเก็บสื่อขนาดจิ๋ว

ใครที่เคยเข้าสู่ยุคของเครื่องเสียงรถยนต์รถยนต์ที่เรียกกันว่า CD Changer คงจะนึกภาพของ “คลังเก็บแผ่น” ได้ไม่ยาก เพราะในขนาดกล่องน้องๆลังเบียร์กระป๋อง จะสามารถเก็บแผ่นเอาไว้ได้ภายในได้ 12 หรือ 16 แผ่น ซึ่งสำหรับการเก็บเพลงในยุคสมัยหน้าแล้ว เราสามารถลืมความเทอะทะเหล่านี้ไปได้เลย เพราะด้วยแฟลชไดร์ฟขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือชอบเรียกกันว่า Thumb Drive จะมีความสามารถเก็บความจำได้ถึง 256 GB หรือเท่ากันแผ่น DVD (มาตรฐาน 4.7 GB) ราวๆ 55 แผ่น ที่ร้ายกว่านั้นในยุค “ดิจิตอล-เต็มระบบ” มันสามารถบันทึกหรือเก็บความจำเอาไว้ได้ทั้งเรื่องของ “ภาพนิ่ง”, “ภาพยนตร์” และ “เสียงเพลง” คละกันได้ตามแต่ละฟอร์แมท

หน่วยความจำขนาดจิ๋วเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องเล่นสื่อบันเทิงในรถยนต์ด้วย ช่องต่อที่เป็นมาตรฐาน USB (ปัจจุบันสามารถทำความเร็วในการเชื่อมต่อได้สูงถึง 225MB/s read และ 135MB/s write ผ่านทาง USB 3.0)

ชมภาพยนตร์ที่รายละเอียดสูงๆ

หลายๆท่านก็คงจะคุ้นเคยกับคำว่า Full HD หรือ Full High Definition ซึ่งในอันที่จริงแล้ว Full HD จะมีขนาดรายละเอียดของจุดแสดงผลอยู่ที่ 1920 x 1080 pixel หรือเทียบได้กับจอแสดงผลขนาด 42 นิ้ว หากแต่ปัจจุบันจะใช้หลักในการโฆษณาแค่เรื่องของ High Definition คือมีความคมชัดสูงเป็นหลัก หรือใช้ภาพยนตร์ในมาตรฐาน Blu-ray มา Down-scale ในฟอร์แมท DivX, AVI, MP4 เมื่อนำมาใช้รับชมผ่านจอแสดงผลขนาด 800 x 400 pixel ในขนาดมาตรฐาน 6 นิ้ว (หรือลดลง 7 เท่า) ก็ให้ความคมชัดได้เสมือนรับชมผ่านจอ 42 นิ้ว

การชมภาพยนตร์ในรายละเอียดสูงๆ ที่มีการกล่าวถึงกันในเครื่องเล่นมัลติมีเดียของรถยนต์ ก็เสมือนการย่อส่วนความคมชัดของระบบโรงภาพยนตร์ในบ้าน ให้มีความใกล้เคียงเมื่อชมผ่านเครื่องเล่นในรถยนต์ ที่แน่ๆมันดีกว่าสมัยเริ่มต้นของการชมภาพยนตร์ในยานพาหนะเยอะทีเดียว

ชมฟรีทีวี ผ่านดาวเทียม หรือ คลื่นทีวีดิจิตอล

ด้วยวิวัฒนาการของระบบ DVB (Digital Video Broadcasting) ที่ใช้การส่งกระจายผ่านคลื่นดิจิตอลทางดาวเทียม ทำให้เราสามารถชมรายการฟรีทีวีได้ในยานพาหนะ ด้วยมาตรฐานความคมชัดในรูปแบบดิจิตอล และไม่มีการวูบวาบของสัญญาณมากนัก การรับชมฟรีทีวีในรถยนต์จึงเป็นไปได้ ด้วยตัวรับสัญญาณดาวเทียมที่ติดตั้งไว้บนหลังคารถ แล้วผ่านสัญญาณมายังตัวรับ หรือ Set Top Box ที่ติดตั้งอยู่ภายในรถ ทำหน้าที่ถอดรหัสช่องสัญญาณเพื่อการเลือกรับชมได้ตามต้องการ รวมถึงคลื่นทีวีดิจิตอล ที่ใช้เพียงเสาดิจิตอลผนวกเข้ากับ Set Top Box ก็สามารถรับชมรายการฟรีทีวีได้อย่างสะดวกง่ายดาย

ระบบแผนที่นำทางแบบเหมือนจริง

แม้ว่าเราจะพอคุ้นเคยกับเรื่องของระบบแผนที่นำทางอยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับระบบแผนที่นำทางในยุคของ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” เราอาจะได้สัมผัสกับรูปแบบแผนที่นำทางแบบเหมือนจริง ผ่านทางแผนภูมิที่ส่งมาให้ในระบบคลื่นดิจิตอล ให้บรรยากาศของการนำทางที่เป็นสถานที่จริงทั้งหมด เหมือนฝันเลยทีเดียว

เชื่อมต่อดิจิตอล ได้ครบทุกช่องทาง

สิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้รูปแบบของระบบข้อมูลสาระบันเทิงในรถยนต์พลิกโฉมไปอย่างกระทันหัน นั่นก็คือ ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับคลื่นดิจิตอลภาคพื้นได้ครบทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น 2G/3G/4G หรือ Wi-Fi/Wi-Max หรือ Bluetooth เพราะด้วยช่องทางการเชื่อมต่อเหล่านี้ ทำให้ระบบข้อมูลสาระบันเทิงในรถยนต์มีสภาพไม่แตกต่างไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ เมื่อประกอบรวมเข้ากับระบบทำงานหลักที่หันไปใช้ “โปรเซสเซอร์-ยูนิท” การใช้เครื่องเสียงรถยนต์ในอนาคตได้ถูกกำหนดนิยามเอาไว้แล้วว่า มันเป็น “In Car Infotainment” หรือ “ข้อมูลสาระ-บันเทิงสมบูรณ์แบบ ในรถยนต์” นั่นเอง

ควบคุมอย่างปลอดภัย

ต้องเข้าใจว่าในสถานะภาพของการขับขี่ยานพาหนะ สายตาจะต้องจับจ้องอยู่บนท้องถนน ดังนั้นนวัตกรรมทางด้านการควบคุม-สั่งงานระบบ “In Car Infotainment” จะต้องพัฒนาก้าวตามไปด้วย หวังผลการสั่งงานด้วยการแตะสัมผัสหน้าจอ หรือรีโมทไร้สาย น่าจะยังไม่ใช่วิสัยที่ถูกต้องของการขับรถ

ปุ่มควบคุม-สั่งงานบนพวงมาลัย และการสั่งงานผ่านเสียงคำสั่งต่างหาก ที่ถือเป็นระบบควบคุม-สั่งงานที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด แน่นอนเราคงได้เห็นระบบควบคุม-สั่งงานบนพวงมาลัย ที่ตอบโจทย์ของ “In Car Infotainment” ได้อย่างลงตัว ทั้งรูปแบบของแผ่นสัมผัส หรือระบบคีย์บอร์ด เพื่อความเป็นมิตรในการควบคุม-สั่งงานพร้อมๆกับการขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัย