ปัญหาพึงระวัง ในงานการติดตั้งระบบเสียงรถยนต์
- วันที่: 03/05/2014 15:27
- จำนวนคนเข้าชม: 50174
ในการติดตั้งระบบเสียงรถยนต์นั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ความเพลิดเพลิน/ความบันเทิงในขณะขับขี่ และแม้ว่าจะเป็นระบบที่ยังไม่ถึงขั้น ก็มีปัญหาที่พึงระวังในการติดตั้งอยู่หลายประการ โดยเฉพาะกับนักติดตั้งสมัครเล่นที่ยังมีความชำนาญไม่มากพอ ซึ่งข้อพึงระวังดังกล่าวก็ได้แก่
1.กรณีระบบควบคุมการใช้งานในอุปกรณ์ระบบเสียงบกพร่อง
ปัญหานี้มักเกิดจากการต่อสายผิดตำแหน่ง สายไฟหลักๆของวิทยุซีดีในรถยนต์ทั่วไปมักมีอยู่ด้วยกัน 3 เส้น อันได้แก่
- สายไฟหลักเพื่อเลี้ยงตัววิทยุซีดี จะต้องต่อเข้ากับจุด ACC หรือ IGNITION บริเวณสวิทช์กุญแจรถ
สายไฟเลี้ยงต้องต่อเข้ากับสาย ACC ที่มาจากตำแหน่ง ACC หรือ ON ที่ชุดสวิทช์กุญแจ สายเส้นนี้จะมีไฟเลี้ยงตลอดเวลาเมื่อสวิทช์กุญแจถูกเปิด(on) หรือเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้ฟังวิทยุหรือซีดีได้ก็ต่อเมื่อเปิดสวิทช์กุญแจของรถยนต์เสียก่อน สำหรับกรณีที่ต้องการอัพเกรดไฟเลี้ยงนี้ให้มีปริมาณกระแสมากขึ้น ให้ใช้อุปกรณ์จำพวก “รีเลย์” หรือ “ตัวเพิ่มกระแสไฟ” เพื่อให้ทั้งระบบทำงานได้ในรูปแบบเดิม ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ไฟแบตเตอรี่หมดหากลืมปิดเครื่องเล่นก่อนออกจากรถ
- สายไฟเลี้ยงหน่วยความจำ (Memory) จะต้องต่อตรงเข้ากับแบตเตอรี่(โดยมีชุดฟิวส์ที่เหมาะสม)
สายไฟเลี้ยงหน่วยความจำ จะต้องต่อตรงเข้ากับแบตเตอรี่ โดยมีชุดฟิวส์ที่เหมาะสมต่อเอาไว้ด้วย ไฟเลี้ยงหน่วยความจำนี้จะส่งไปเลี้ยงหน่วยความจำในตัววิทยุซีดี เพื่อให้เมื่อเราปิดเครื่องเล่นแล้วออกจากรถไป และกลับมาเปิดใหม่ช่องความจำสถานีวิทยุหรือระดับการปรับแต่งเสียงต่างๆจะยังคงอยู่เหมือนเดิม ยกเว้นกรณีที่ถอดแบตเตอรี่ออกหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่นั่นละที่จะทำให้หน่วยความจำในตัวเครื่องหายไป กระแสไฟที่ใช้เลี้ยงหน่วยความจำของเครื่องเล่นนี้มักมีปริมาณไม่กี่มิลลิแอมป์ ซึ่งไม่มากพอที่จะทำให้แบตเตอรี่หมดไฟแม้จอดรถไว้ไม่ได้สตาร์ทเครื่องยนต์เป็นเวลาหลายๆเดือน
- สายไฟหน้าปัด (Illumination) มักต่อตรงเข้ากับชุดไฟหรี่
สายไฟเส้นนี้ผู้ผลิตเครื่องเล่นส่วนใหญ่มักออกแบบมาเพื่อต่อเข้ากับไฟหรี่ภายในห้องโดยสารรถยนต์ ซึ่งเมื่อเราเปิดไฟหรี่ที่คอพวงมาลัย แสงที่บริเวณแผงแสดงผลของเครื่องเล่นจะหรี่ระดับแสงลง เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในยามค่ำคืนจะได้ไม่แยงสายตาในขณะขับขี่ ซึ่งในขณะที่เราขับขี่รถในเวลากลางวัน(ไม่ได้เปิดไฟหรี่)แสงบริเวณแผงแสดงผลก็จะสุกสว่างมากพอที่จะมองเห็นได้ในขณะขับรถ
2.กรณีที่อาจเกิดไฟไหม้รถ โดยเฉพาะระบบที่ไม่มีฟิวส์ในสายไฟหลักเครื่องเสียงบริเวณแบตเตอรี่
เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไฟไหม้รถ(ที่อาจเกิดขึ้นได้) เราควรจะต้องเดินสายไฟต่างๆของระบบเสียงอย่างระมัดระวัง มีการพันเทปรัดเอาไว้หรือใช้ท่อหดรัดคลุมสายเมื่อมีการเชื่อมต่อสายต่างๆ ควรมีชุดฟิวส์ติดตั้งอยู่ต้นทางสายไฟในบริเวณใกล้ๆขั้วแบตเตอรี่ รวมถึงตำแหน่งที่มีการรอดผ่านสายไฟเข้ามาจากห้องเครื่องสู่ห้องโดยสารซึ่งมักเป็นแผงเหล็ก จะต้องไม่คมมากจนเฉือนเส้นสายไฟ โดยควรมีวงแหวนยางป้องกันเอาไว้
- การเดินสายไฟสำหรับระบบเสียงรถยนต์ จะต้องระวังอย่าให้อยู่ใกล้กับบริเวณที่มีความร้อนสูงๆในห้องเครื่อง อีกทั้งบริเวณที่มีการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ประจำรถ อาทิ เบาะนั่งขับ, เบาะผู้โดยสาร, บริเวณบานพับประตู รวมถึงบริเวณที่อาจถูกกดทับด้วย หลักการที่ถูกต้องให้เดินราบลงไปกับพื้นรถมากที่สุด เรียงให้เป็นระเบียบ และผนึกให้แนบด้วยเทปผ้ากาว
- การพันเทป จำเป็นในกรณีที่เราไม่ได้ใช้ท่อหดรัดรอยต่อสายเอาไว้ ซึ่งต้องระวังอย่าใช้เทปพันสายที่กาวหมดอายุหรือยี่ห้อเทปที่กาวไม่มีคุณภาพ เพราะอาจเกิดการคลายตัวได้ง่าย ซึ่งจะทำให้สายทองแดงเปลือยออกตรงขั้วต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรอยต่อนั้นอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูงๆหรือมีไอน้ำมันที่จะทำให้เทปคลายตัวออกมา เกิดการลัดวงจรระหว่างสายไฟกับตัวถังรถ การพันเทปที่ถูกต้องก็คือ เมื่อเราเชื่อมสายเข้าด้วยกันและบัดกรีจนติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ให้พันให้แน่นและมีจำนวนรอบมากพอสมควร ในกรณีที่สายที่เชื่อมต่อนั้นมีขนาดใหญ่ หลังจากพันเทปแล้วให้รัดด้านต้นทางและปลายทางด้วยเข็มขัดรัดสายอีกครั้ง แน่นอนครับถ้าต้องการความแน่นอนในเรื่องการพันเทปนี้ ขอแนะนำให้ใช้ท่อหดร้อยสายจะดีที่สุด เพราะไม่มีการคลายตัวออกอย่างแน่นอน
- การต่อฟิวส์(กระบอกฟิวส์) ที่ถูกต้องในระบบเสียงรถยนต์ มักเป็นการต่อฟิวส์สองระดับ คือฟิวส์ที่ต้นทาง และฟิวส์ย่อยที่ปลายทางๆ ฟิวส์ที่ต้นทางจะรองรับกระแสโหลดของระบบทั้งหมด ซึ่งต้องคำนวณกระแสรวมทั้งเครื่องเล่น, ปรีแอมป์ – ครอสโอเวอร์ และเพาเวอร์แอมป์ทั้งหมดในระบบเพื่อระบุขนาดของฟิวส์ ส่วนฟิวส์ย่อยมักมีอยู่แล้วในตัวอุปกรณ์ อาทิ ฟิวส์ที่เครื่องเพาเวอร์แอมป์, ฟิวส์ที่ท้ายเครื่องเล่น ซึ่งมีค่าขนาดของฟิวส์เหมาะสมกับเครื่องนั้นๆ ซึ่งหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ชิ้นใด ฟิวส์ตัวนั้นๆก็จะตัดระบบไม่ให้เกิดความเสียหายมากเกินไป
3.กรณีหลังติดตั้งแล้วเสร็จ รถอาจสตาร์ทไม่ติด
สำหรับการสตาร์ทรถไม่ติดหลังการติดตั้งระบบเสียง ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากปริมาณกระแสไฟในแบตเตอรี่ไม่พอ หรืออาจมีสาเหตุมาจาก
- ไดชาร์จ ไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เพียงพอ
ในสภาพปกติที่ยังไม่ติดตั้งระบบเสียง ไดชาร์จจะประจุไฟให้กับแบตเตอรี่ปกติ เมื่อติดตั้งระบบเสียงไปแล้วการกินกระแสไฟจะมากกว่าปกติ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังวัตต์ของระบบเสียง และความถี่ในการเปิดดังเปิดค่อย สำหรับเครื่องเล่นที่มีกำลังขยายในตัวมักจะต้องการกระแสไม่เกิน 10 แอมป์ แต่ดีที่สุดสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็คระบบของไดชาร์จก่อนทำการติดตั้งระบบเสียง
- แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ
ก่อนการติดตั้งระบบเสียง แบตเตอรี่จะใช้งานในสภาวะปกติไม่กี่แอมป์ แต่เมื่อหลังจากติดตั้งระบบเสียงไปแล้วจะมีการใช้งานแบตเตอรี่ในสภาวะที่มากกว่าปกติ เมื่อแบตเตอรี่เก่าหรือใกล้เสื่อมสภาพก็จะถึงกับสูญเสียสภาพใช้งานไปเลย สำหรับระบบเสียงที่มีกำลังมากเกินกว่า 200 วัตต์ขึ้นไป ก่อนการติดตั้งควรเช็คสภาพแบตเตอรี่ให้สมบูรณ์เสียก่อน ที่สำคัญหากแบตเตอรี่ใกล้หมดอายุ อาจทำให้เกิดเสียงรบกวนที่ไม่คาดคิดในระบบได้เหมือนกัน
- ติดตั้งระบบเสียงที่มีกำลังวัตต์สูงมากๆ ทำให้ระบบไฟของรถจ่ายกระแสได้ไม่พอเพียง
ในการติดตั้งระบบเสียงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่มีขนาดกำลังวัตต์สูงเกิน 1000 วัตต์ขึ้นไป ขณะที่เราขับรถและเปิดฟังเพลงเสียงดัง เพาเวอร์แอมป์จะดึงกระแสสูงมากๆ ไดชาร์จอาจไม่สามารถชาร์จไฟให้แบตเตอรี่ได้พอเพียง ระบบเสียงจะไปดึงไฟเอาจากแบตเตอรี่ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้ไฟจากแบตเตอรี่ตลอดเวลา สภาพไฟในแบตเตอรี่ก็จะไม่มีโอกาสเต็ม เมื่อจอดรถไว้นานๆก็จะทำให้ไม่มีไฟเหลืออยู่ในแบตเตอรี่
- งานติดตั้งที่ผิดพลาด
บางครั้งกรณีก็อาจเกิดจากความผิดพลาดของงานติดตั้ง ด้วยความสะเพร่าหรือหลงลืม ทำให้แบตเตอรี่ในรถหมดกำลังไฟ อาทิ ไม่ต่อสายชุด ACC ของวิทยุซีดีเข้ากับสวิทช์กุญแจแต่ต่อตรงเข้าแบตเตอรี่ เมื่อเปิดเครื่องแล้วลืมปิด เครื่องเล่นก็จะกินไฟในแบตเตอรี่จนหมด หรืออย่างสายรีโมทของเพาเวอร์แอมป์ หากต่อตรงเข้าแบตเตอรี่แล้วตัวเพาเวอร์แอมป์ก็เสมือนเปิดทำงานตลอดเวลาแม้ว่าจะปิดเครื่องเล่นแล้วก็ตาม
4.มีเสียงก๊อกๆแก๊กๆ จากการประกอบอุปกรณ์ไม่แน่นสนิท
หลังการติดตั้งระบบเสียงรถยนต์แล้วเสร็จ เมื่อนำรถออกไปใช้งานปกติเกิดมีเสียงก๊อกๆแก๊กๆ ปัญหานี้อาจมีมาจาก
- การถอดอุปกรณ์บางอย่างในห้องโดยสารออก เพื่อทำการเดินสายหรืออื่นใด แล้วใส่กิ๊บไม่ลงร่องหรือไม่เข้าที่เข้าทาง
- การยึดตัวลำโพง อาจจะยึดไม่แน่น อาจมีลักษณะเอียง หรือยึดน็อตในน้ำหนักกดที่ไม่เท่ากัน หรือพื่นที่จุดยึดลำโพงไม่เรียบ แนวทางการแก้ไขก็คงต้องยึดตัวลำโพงให้ขนานกับตำแหน่งยึดมากที่สุด
- การยึดพาสซีฟครอสโอเวอร์ ถ้าไม่ได้ยึดเอาไว้ด้วยน็อตสกรู ไม่ควรสอดวางไว้เฉยๆ ให้ห่อทับกล่องนั้นด้วยพรม หรือติดเทปกาวสองหน้า และติดไว้ในบริเวณที่แน่นหนาพอ หรือวางราบไปกับพื้นรถใต้พรม
- ถ้ามีการเดินสายไฟต่างๆของระบบในแนวตั้งฉากกับพื้นรถ ควรใช้เข็มขัดรัดสายตรึงเอาไว้อย่าให้สายแกว่ง ถ้าไม่สามารถรัดด้วยเข็มขัดได้ ให้ใช้ท่อหลอดร้อยสายแล้วตรึงเอาไว้ด้วยเทปผ้าให้แน่นหนา
- ในการทำแผงหลังรถใหม่ด้วยแผ่นไม้ ให้ระมัดระวังเรื่องการเสียดสีของไม้กับแผ่นโครงเหล็กด้านหลัง ซึ่งควรตัดขนาดของแผงใหม่ให้พอดีกับแผงเดิม รวมถึงความหนาของแผงที่ควรใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด จากนั้นอาจรองเอาไว้ด้วยนวมกันร้อนหรือพองน้ำหรือแผ่นยาง เพื่อกันการกระทบของไม้กับโครงเหล็ก ยึดแผงหลังเข้ากับโครงเหล็กให้แน่นหนา ป้องกันการกระพือด้วยน็อตสกรูที่มีขนาดเหมาะสม