เทคนิคปรับตั้ง เฟสชิฟ(Phase Shfit) ในเพาเวอร์แอมป์รถยนต์
- วันที่: 03/05/2014 16:41
- จำนวนคนเข้าชม: 17834
สำหรับปุ่มปรับ/ควบคุมการทำงานของเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ ในช่วงแห่งยุคสมัยนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นปุ่มปรับที่เรียกว่า Phase Shift ที่นอกจากจะสร้างความรู้สึกที่ว่า “ปรับอย่างไร” แล้ว ยังสร้างความงุนงงด้วยลักษณะใช้งานที่ต่างกันสองรูปลักษณ์ นั่นคือ แบบที่เป็นสวิทช์เลือกได้แค่ 0 องศา กับ 180 องศา และแบบที่เป็นปุ่มหมุนอิสระให้เลือกปรับได้จาก 0 องศาเรื่อยไปจนถึง 180 องศา ซึ่งในคราวนี้เราจะมาถกกันถึงเรื่องเทคนิคปรับตั้ง “เฟสชิฟ” ที่ว่านี้กันละครับ
ว่าแต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับเรื่องของ “เฟส” ที่ว่านี้กันก่อนเล็กน้อย เพื่อปูพื้นฐานก่อนจะเข้าไปถึงในเรื่องการปรับตั้งกันนะครับ “เฟส” เป็นเรื่องของสัญญาณไซน์เวฟ หรือกระแสสลับ(AC) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “เวลา” และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ขั้วไฟ” เหมือนไฟกระแสตรง(DC) โดยกระแสไฟสลับสามารถกลับขั้วไป-มาได้อิสระ แต่ยังคงมีความสัมพันธ์ในเรื่อง “กราวน์” และ “เมน” อยู่บ้างในบางเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องของกระแสไฟฟ้า 220 โวลท์ที่ใช้กันตามบ้านเรือนเมืองไทยของเรา
ที่ต้องพูดเรื่องเฟสก่อนก็เพราะว่า ในทางกระแสเสียงของระบบเสียงนั้น จะมีลักษณะเป็นรูปคลื่นไซน์เวฟ ซึ่งตรงกับนิยามของกระแสสลับ(AC) นั่นเอง หรือพูดแบบเข้าใจเห็นภาพก็น่าจะกล่าวได้ว่า “เสียง” มีสภาพเหมือนไฟ AC ดังนั้นเรื่องของ “เฟส” จึงเกี่ยวข้องกับ “เสียง” โดยปริยาย
เรามักนิยามหรือระบุส่วนของรูปคลื่นจาก 0 ถึง 180 องศาในส่วนแรก ให้เป็น Positive และรูปคลื่นจาก 180 ถึง 360 องศาในส่วนที่สอง ให้เป็น Negative เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ และเฟสที่ว่านี้ จะมีความสัมพันธ์กับเสียงหลัก ก็ในส่วนของ “คลื่น” ที่ได้จากลำโพง อุปมาว่า ถ้ากรวยลำโพงขยับออกมาด้านหน้า มักจะเรียกว่า Positive Phase หรือ เฟสบวก หรือ คลื่นบวก และเมื่อกรวยลำโพงขยับถอยไปด้านหลัง จะเกิด Negative Phase หรือ เฟสลบ หรือ คลื่นลบ
แล้วทำไมในระบบเสียงรถยนต์ ถึงมีคนพูดเรื่อง “เฟส” กันเยอะมากและหลากหลาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในระบบเสียงบ้านนั้น ชุดลำโพง(หมายถึง ดอกเสียงแหลม, ดอกเสียงกลาง, ดอกเสียงทุ้ม)จะถูกติดตั้งเอาไว้ในแนวระบาบที่ใกล้เคียงกัน หรือแทบจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่ระบบเสียงรถยนต์ไม่ใช่ ในระบบเสียงที่มีการแยกดอกเสียงออกเป็น แหลม, กลาง, กลางต่ำ และหรือ ซับวูฟเฟอร์ จะมีตำแหน่งของการติดตั้งที่แยกแปลกไปตามสภาพอำนวยของห้องโดยสารรถ จนบางครั้งแทบไม่สามารถจัดวางให้อยู่ในแนวระบาบเดียวกันซักดอกได้เลย
ถึงตรงนี้หลายคนก็อยากจะรู้ว่า แล้วติดตั้งดอกลำโพงทั้งหลายให้ไม่มีปัญหาเรื่อง “เฟส” ได้ไหม คำตอบคือ “ได้ครับ” นั่นคือการติดตั้งดอกลำโพงทั้งหมดรวมกันในลักษณะ “พ้อยท์ ซอร์ส” (Point Sourse) หรือให้ดอกลำโพงทั้งหมดแสดงเสียงในตำแหน่งเดียวกัน (ยากไปไหมที่จะเข้าใจ?)
ปัญหาหลักในการติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์ก็คือ ไม่สามารถติดตั้ง ดอกทวีตเตอร์, มิดวูฟเฟอร์ และซับวูฟเฟอร์ ในแนวระนาบเดียวกันได้เหมือนตู้ลำโพง 3 ทางแบบในบ้าน ทำให้การตรวจสอบเรื่อง “เฟส” ในลำโพงแต่ละดอกในระบบเสียงรถยนต์เป็นเรื่องลำบากเอาการ เพราะถ้าเอากันแบบ “จริงๆจังๆ” ต้องใช้เครื่องมือวัดราคาค่อนข้างสูง
สำหรับการตั้งเฟสของดอกทวีตเตอร์ กับดอกมิดวูฟเฟอร์ ให้ตรงกัน จะกระทำได้ง่ายกว่า เพราะดอกลำโพงทั้งสอง ในสภาพการปัจจุบันจะสามารถติดตั้งอยู่ทางด้านหน้า และยังสามารถจัดวางให้หันหน้าดอกอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน หรือเยื้องกันเต็มที่ก็ไม่น่าเกิน 90 องศา แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะยังเป็น Positive Phase ได้ทั้งคู่
ปัญหาหลักจึงยังคงอยู่ที่เฟสของดอกซับวูฟเฟอร์ เพราะซับวูฟเฟอร์นั้นจำเป็นต้องนำไปติดตั้งไว้ทางตอนท้ายของรถ และไม่สามารถกำหนดทิศทางการติดตั้งหน้าดอกให้สัมพันธ์เป็นแนวระนาบเดียวกับ ดอกทวีตเตอร์และดอกมิดวูฟเฟอร์ได้
คราวนี้ถ้าว่ากันด้วย “เสียง” เอากันแบบจริงๆในข้อแม้ เสียงที่ดี ที่สมบูรณ์ และมีคุณภาพแล้วน๊าน “เฟส” ของทั้งดอกทวีตเตอร์ ดอกมิดวูฟเฟอร์ และดอกซับวูฟเฟอร์ จะต้องอยู่ใน “เฟสเดียวกัน”
ปัญหาของติดตั้งดอกซับวูฟเฟอร์ ด้วยระยะห่างจากดอกทวีตเตอร์-มิดวูฟเฟอร์ และทิศทางที่ไม่สัมพันธ์กัน อาจสามารถทำให้เกิดการ “กลับเฟส” ในดอกซับวูฟเฟอร์ (เมื่อเทียบกับคลื่นของทวีตเตอร-มิดวูฟเฟอร์)
นี่เอง...ที่ทำให้เพาเวอร์แอมป์ ซึ่งมักจะเป็นรหัสรุ่นที่มุ่งหมายในการนำไปขับดันดอกซับวูฟเฟอร์ จำเป็นต้องมีปุ่มปรับตั้ง หรือปุ่มควบคุม “เฟสชิฟ” เพิ่มเข้ามา ในขณะที่เพาเวอร์แอมป์เพื่อการขับดันดอกทวีตเตอร์-มิดวูฟเฟอร์มักจะไม่มี
เทคนิคการปรับ
ก่อนอื่นต้องแยกเทคนิคการปรับตั้ง “เฟสชิฟ” ออกเป็นสองกรณี คือ กรณีที่เฟสชิฟมีลักษณะเป็นสวิทช์เลื่อนเพื่อเลือก 0 องศา กับ 180 องศา และกรณีที่เฟสชิฟมีลักษณะเป็นปุ่มหมุน ปรับได้ต่อเนื่องจาก 0 องศาถึง 180 องศา
กรณีสวิทช์เลื่อนเพื่อเลือก 0/180 องศา
สำหรับปุ่มปรับ PHASE ที่เลื่อนเพื่อเลือกได้ที่ 0 องศา กับ 180 องศานั้น มีสภาพใช้งานได้ไม่แตกต่างไปจากการสลับขั้วสายลำโพง จากด้านบวกไปลบ หรือลบไปบวก (ในความรู้สึกของชาวบ้านทั่วๆไป) นั่นคือแทนที่จะต้องไปขั้นน็อตสลับขั้วสายลำโพง ก็ใช้การดันสวิทช์ที่ว่านี้ไป-มาแทน และมักใช้ได้ดีในกรณีของระบบที่สามารถติดตั้งชุดซับวูฟเฟอร์เอาไว้ใกล้เบาะนั่งแถวหน้า(คนขับ) หรือดีที่สุดคือถ้าหากสามารถติดตั้งชุดซับวูฟเฟอร์เอาไว้ในคอนโซลหน้ารถ
กรณีปุ่มหมุนเลือก ปรับต่อเนื่อง 0 ถึง 180 องศา
สำหรับปุ่มปรับ PHASE ในลักษณะที่ปรับต่อเนื่องได้จาก 0 องศา ไปจนถึง 180 องศา น่าจะถือว่าครอบคลุมการปรับตั้งในกรณีของการวางชุดซับวูฟเฟอร์เอาไว้ในห้องสัมภาระท้ายรถ หรือปลายสุดของห้องโดยสารอย่างรถแวนได้อย่างมีนัยยะ แต่ก็ไม่ใช่การปรับตั้งแบบลวกๆหรือปรับเรื่อยเปื่อย
หลักสำคัญของ “เฟส” ที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ กรณีที่เฟสของดอกซับวูฟเฟอร์ ลงตัวเฟสของดอกเสียงแหลม+เสียงกลางนั้น จะมีผลให้คลื่นเสียงย่านต่ำมีความสมบูรณ์ หรืออาจหมายถึงเสียงเบสที่ฟังดูมีพลัง กระชับ หนักแน่น ในทางกลับกัน ถ้าเฟสของดอกซับวูฟเฟอร์ ไม่ลงรอยหรือแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเฟสของดอกเสียงแหลม+เสียงกลาง จะยังผลให้คลื่นเสียงย่านต่ำขาดความสมบูรณ์ หรือฟังดูไร้พลัง ขาดความเป็นตัวตนของเสียงเบส จะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า “องศา” ของการไม่ลงรอยกันนั้นมากแค่ไหน ถ้ามากสุดคือ “กลับเฟส” มีผลให้ขาดความสมบูรณ์อย่าง “สมบูรณ์แบบ”
แนวทางการปรับตั้งโดยทั่วๆไป อาจใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน นั่นคือ การปล่อยให้ดอกเสียงมิดวูฟเฟอร์นั้นได้ทำงานถึงปลายสุดของเสียงย่านต่ำ (โดยทั่วไปคือยังไม่ตั้งครอสฯไฮพาส เปิด Full หรือปล่อยไฮพาสให้อยู่ในความถี่ที่ต่ำที่สุด) จากนั้นปล่อยเสียงของดอกซับวูฟเฟอร์เข้ามา แล้วตั้งใจฟังในขณะทำการหมุนปุ่มปรับ “เฟสชิฟ” แนะนำให้ปรับที่ละน้อย (ดีที่สุดไม่เกินครึ่งมิลลิเมตร) และแนะนำให้ใช้ “สัญญาณโทน” หรือคลื่นเสียงจำลองที่ความถี่ประมาณ 50Hz ถึง 60Hz จะจับความสอดคล้องของ “เฟส” ระหว่างดอกซับวูฟเฟอร์กับดอกมิดวูฟเฟอร์ได้ดี สังเกตุหลักๆในเรื่องของ “พลังเบส”
หลังจากปรับตั้ง “เฟสชิฟ” ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยหันไปปรับตั้งไฮพาสในส่วนของดอกมิดวูฟเฟอร์ ก็จะทำให้การปรับตั้ง “เฟสชิฟ” มีโอกาสบรรลุผลที่สมบูรณ์ได้ ว่าแต่....การปรับเฟสชิฟเพียงสถานเดียวอาจจะยังไม่ถึงขั้นเทพได้นัก เพราะปัญหาหลักของความไม่ลงรอยกันระหว่าง ดอกเสียงแหลม, ดอกเสียงกลาง, ดอกเสียงกลางต่ำ และดอกซับวูฟเฟอร์ ยังมีเรื่องของ “ไทม์อไลเมนท์” (Time Alignment) เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ซึ่งโอกาสหน้าจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึงกันอีกที