• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

เทคนิคการปรับตั้งเลเวล-แมทชิ่ง ด้วยดิจิตอล-มัลติมิเตอร์

  • วันที่: 03/05/2014 15:46
  • จำนวนคนเข้าชม: 11782

การปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” หรือการปรับตั้ง Gain ที่เพาเวอร์แอมป์ในระบบเสียงรถยนต์นั้น ถือเป็นขั้นตอนการปรับตั้งพื้นฐานสำหรับทุกๆระบบเสียง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบเสียงสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพกำลังวัตต์ โดยไม่มีความผิดเพี้ยนของเสียง หรือเกิดการ Clip(ตัดยอดคลื่นเสียง) ขึ้นในระหว่างการฟังเพลง สามารถทำการปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” ได้ในหลายๆวิธี ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายกันไป แต่เราขอแนะนำการปรับตั้งด้วย DMM หรือดิจิตอล-มัลติมิเตอร์ ที่มีความแม่นยำ และได้ผลที่เป็นเลิศเช่นเดียวกับการใช้ Oscilloscope ทั้งยังเป็นบันไดขั้นต้นเพื่อให้ได้ระบบเสียงที่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในคราวเดียวกัน

ก่อนอื่นเราต้องจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อทำการปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” ด้วยวิธีดังกล่าวดังต่อไปนี้ (สามารถทำการปรับตั้งได้ทั้งเพาเวอร์แอมป์ 4 แชนแนล หรือแอมป์ขับกลาง-แหลมปกติ และเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก หรือแอมป์ขับซับฯ)

            1.ดิจิตอล-มัลติมิเตอร์ หรือ DMM หรือมิเตอร์สมัยใหม่ที่บอกตัวเลขเป็นดิจิตอลนั่นเอง

            2.ความสามารถในการคำนวณขั้นพื้นฐาน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

            3.ไขควงแบนเล็กหรืออุปกรณ์จูน ในขนาดที่พอเหมาะกับปุ่ม Gain ของเพาเวอร์แอมป์

            4.แผ่น CD หรืออุปกรณ์สื่อบันทึกเสียง ที่มีสัญญาณไซน์เวฟทดสอบ (Test Tone) ที่ค่าความถี่ 50Hz และ 1000Hz

จากนั้นให้เริ่มทำการสำรวจตรวจสอบ ว่าเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ขับชุดลำโพงกลางแหลมนั้น ให้กำลังขับ RMS ที่กี่วัตต์ต่อแชนแนล และเราใช้กับลำโพงขนาดกี่โอห์ม (โดยทั่วไปลำโพงกลางแหลมจะมีอิมพีแดนซ์มาตรฐานที่ 4 โอห์ม แต่ก็มีบางยี่ห้อที่ใช้อิมพีแดนซ์มาตรฐานเป็น 3 โอห์ม หรือ 2 โอห์ม)คือ

สมมุติว่าเพาเวอร์แอมป์ที่เราใช้ ให้กำลังขับ RMS ที่ 50 วัตต์ x 4 แชนแนล ที่ 4 โอห์ม เราก็จะต้องทำการคำนวณหาค่าแรงดันไฟขาออก(AC)ที่ขั้วลำโพงที่เพาเวอร์แอมป์ก่อน โดยใช้สูตรมาตรฐาน

            Voltage = SQRT (Power x Resistance) โดย SQRT หมายถึง “สแควรูท” หรือ Square Root, Power คือค่ากำลังวัตต์ต่อแชนแนลเป็น RMS และ Resistance คือค่าอิมพีแดนซ์ของลำโพงปลายสาย

            แทนค่าลงไปในสูตรได้ว่า Voltage = SQRT (50 x 4) หรือ Voltage = SQRT (200) หรือ Voltage = 14.1421 VAC หรือค่าแรงดันไฟที่ออกทางขั้วลำโพงของแอมป์ขับกลางแหลมต่อแชนแนล เมื่อทำงานโดยไม่มีการ Clip คือ 14.1421 โวลท์(เอซี) นั่นเอง

สำหรับเพาเวอร์แอมป์ขับซับฯที่เป็นแบบโมโนบล็อก สมมุติว่าเป็นแอมป์ที่ให้กำลังขับ 500 วัตต์ RMS ที่โหลด 1 โอห์ม (250 วัตต์ RMS ที่โหลด 2 โอห์ม) และเราใช้ดอกซับฯวอยซ์คู่ วอยซ์ละ 4 โอห์ม จำนวน 2 ดอกต่อวอยซ์ขนานกันใหม่ ก็จะได้อิมพีแดนซ์รวมปลายสายที่ 1 โอห์ม ใช้สูตรมาตรฐาน

            Voltage = SQRT (Power x Resistance) แทนค่าในสูตรได้เป็น Voltage = SQRT (500 x 1) ได้เป็น Voltage = SQRT (500) และได้ Voltage = 22.3607 VAC หรือค่าแรงดันไฟที่ออกทางขั้วลำโพงของแอมป์ขับซับฯ(ด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากขั้วลำโพงที่แอมป์ขับซับฯจะมีสองชุด แต่ภายในขนานกัน) เมื่อทำงานโดยไม่มีการ Clip คือ 22.3607 โวลท์(เอซี)

สำหรับท่านที่ไม่อยากเสียเวลาในการคำนวณ สามารถดูได้จากตารางสำเร็จเพื่อใช้ค่าไฟเอซีในการตรวจวัด และปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” ได้ครับ

เข้าสู่กระบวนการปรับตั้ง

เมื่อได้ค่าแรงดันไฟขาออกในจุดต่างๆของระบบเสียงแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนปฎิบัติในการปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” ด้วย DMM กันเลยครับ

            1.ตรวจสอบการทำงานของเพาเวอร์แอมป์ในระบบ โดยการเปิดระบบ ใส่แผ่น CD ทดสอบเสียง(ที่เป็นเสียงเพลง) จากนั้นเปิดความดังในระดับหนึ่ง ใช้นิ้วมือสัมผัสหน้ากรวยลำโพงเบาๆ ทั้งลำโพงกลางแหลม และลำโพงซับฯ เพื่อสังเกตดูว่าแต่ละแชนแนล(ที่ลำโพงต่ออยู่)ของเพาเวอร์แอมป์ทำงานสมบูรณ์หรือไม่ หรือในกรณีที่ติดตั้งลำโพงแบบซ่อนเร้น อาจใช้การเอียงหูแนบฟังเสียงจากลำโพงในช่องลำโพงที่ซ่อนเร้นนั้น กรณีมีความผิดปกติให้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อย

            2.กดยกเลิก Loudness, เซ็ทการปรับเสียงทุกอย่างให้อยู่ที่ตำแหน่ง 0 หรือกึ่งกลาง, บายพาส EQ, หรือตั้งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ปรับเสียงในระบบทั้งหมดให้เป็น “กึ่งกลาง”

            3.ปิดระบบ ถอดสายลำโพงด้านขั้วบวกที่ต่ออยู่ที่ขั้วสายลำโพงออกทุกแชนแนล ทั้งในเพาเวอร์แอมป์ขับกลางแหลม และเพาเวอร์แอมป์ขับซับฯ ปรับปุ่มเกน (Gain) ในเพาเวอร์แอมป์ทุกตัวให้อยู่ที่ตำแหน่ง Min หรือค่าตัวเลขโวลท์สูงสุด หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกาจนสุด

            4.เปิดระบบ ตั้งปุ่มวอลลุ่มหลักบนเครื่องเล่นไว้ที่ประมาณ 10% ของระดับความดังสูงสุด จากนั้นใส่แผ่น CD ที่มี Test Tone โดยในกรณีที่ทำการปรับตั้งเพาเวอร์แอมป์ขับลำโพงกลางแหลม ให้ใช้คลื่น 1000Hz ส่วนเมื่อปรับตั้งเพาเวอร์แอมป์ขับซับฯ ให้ใช้คลื่น 50Hz แนะนำให้ตั้งปุ่มเล่นซ้ำแทรคเพื่อความสะดวก

            5.เชื่อมต่อดิจิตอล-มัลติมิเตอร์เข้ากับขั้วลำโพงที่เพาเวอร์แอมป์ โดยใช้สายสีแดงเข้าขั้วบวก และสายสีดำเข้าขั้วลบ ตั้งมาตรวัดไว้ที่เรนจ์ไฟเอซี (VAC) ในขอบเขต 200 V หรือตามค่าที่คำนวณไว้ในตอนต้น  หรือในกรณีมัลติมิเตอร์หลายรุ่นที่ตั้งค่าอัตโนมัติ ให้ตั้งมาตรวัตไว้ที่ไฟเอซีเท่านั้น

            6.สั่งเล่นแผ่น โดยตั้งปุ่มวอลลุ่มหลักบนเครื่องเล่นไว้ที่ประมาณ 90% ของระดับความดังสูงสุด สังเกตุค่าตัวเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ สมมุติแอมป์ขับกลางแหลม ที่เราคำนวณไว้ตอนต้นคือ 14.14 VAC คือไม่คลิป แต่ที่หน้าจอมิเตอร์ ได้ตัวเลขแค่ 7 หรือ 8 VAC ก็ให้ใช้ไขควงหมุนปุ่มเกน(Gain) ตามเข็มนาฬิกาอย่างช้าๆ จนได้ค่าตัวเลขบนหน้าจอเป็นประมาณ 14.14 VAC เป็นอันเสร็จขั้นตอนในแชนแนลนั้น

กรณีแอมป์ 2 แชนแนลที่ใช้ปุ่มเกนชุดเดียว ให้ทำการปรับตั้งเฉพาะแชนแนลใดแชนแนลหนึ่งก็พอ เช่นเดียวกับแอมป์ 4 แชนแนล ทีมีปุ่มปรับเกนแค่ 2 ชุด ให้ปรับตั้งเฉพาะแชนแนลหนึ่งและแชนแนลสาม แต่ถ้าหากเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้มีการแยกปุ่มเกนเป็นอิสระในแต่ละแชนแนล ต้องทำการปรับตั้งทุกแชนแนล

            7.กรณีเพาเวอร์แอมป์ขับซับฯ ให้เล่นแทรคคลื่นความถี่ 50Hz แทน 1000Hz จากนั้นทำการปรับตั้งในรูปแบบเดียวกับแอมป์ขับกลางแหลม อย่างในกรณีนี้คำนวณโวลท์แอมป์ขับซับฯได้ที่ 22.36 VAC ก็ให้ปรับปุ่มเกนจนหน้าจอมิตเตอร์ปรากฏตัวเลขเฉลี่ยที่ 22.36 VAC เช่นกัน

            8.เมื่อปรับตั้งแล้วเสร็จทั้งแอมป์ขับกลางแหลม และแอมป์ขับซับฯแล้ว ให้ต่อสายลำโพงเข้าระบบเหมือนเดิมปกติ และเปิดเพลงฟังทดสอบ ก่อนจะทำการปรับตั้งครอสฯโอเวอร์หรืออื่นใดต่อไป

อนึ่ง....ในกรณีที่ระบบมีการติดตั้ง “ปรีแอมป์” ควรตรวจสอบด้วยว่าที่ปรีแอมป์มีการ “ขยายเพิ่ม” สัญญาณอีกกี่เท่าตัว ซึ่งทางที่เหมาะสมนั้นควรทำการต่อ “บายพาส” หรือไม่ต่อผ่านปรีแอมป์ก่อนในการปรับตั้ง และเมื่อทำการปรับตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงค่อยต่อปรีแอมป์กลับเข้าระบบเหมือนเดิม เพราะการปรับตั้งโดยมีปรีแอมป์ต่ออยู่ในระบบ อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้