• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

การตรวจวิเคราะห์คุณภาพเสียงในระบบ

  • วันที่: 03/05/2014 15:50
  • จำนวนคนเข้าชม: 7637

ขอนำท่านไปพบกับเนื้อหา “การตรวจวิเคราะห์คุณภาพเสียงในระบบ” เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการฟังเสียงเพลง และใช้เพื่อประเมินคุณภาพของเสียงภายในระบบเสียง สามารถลองทำได้ด้วยตัวเอง

เราจะต้องรับรู้ได้ถึงข้อแตกต่างระหว่างเสียงจากอุปกรณ์กับเสียงที่เกิดขึ้นจริงๆ และยอมรับกับตัวเองว่าไม่มีเสียงจากอุปกรณ์ใดๆให้เสียงได้เหมือนหรือเท่ากับเสียงดนตรีจริงๆ จะเป็นไปได้แค่เสมือนหรือคล้ายคลึงเท่านั้น แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่นำมารวมเป็นระบบเสียงนั้น ที่มีความสามารถให้เสียงได้เสมือนหรือคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีจริงๆมากที่สุด ย่อมเป็นระบบเสียงที่มีผลทางคุณภาพเสียงดีที่สุด และนี่เองที่ทำให้ต้องมี “การตรวจวิเคราะห์คุณภาพเสียงในระบบ” กันไงละครับ

แยกย่านเสียงกันก่อน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในย่านความถี่เสียงที่เราได้ยินกันก่อน ในย่านความถี่ 20 Hz – 20,000 Hz  ซึ่งในความจริงแล้วหูใครสามารถรับความถี่เหล่านี้ได้ครบหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัยและประสิทธิภาพของหู หูของเด็กวัยรุ่นย่อมรับรู้ย่านความถี่ได้กว้างกว่าหูของคนสูงอายุ และเราได้แยกส่วนของย่านเสียงต่างๆออกเป็นส่วนๆดังนี้

-เสียงเบสต่ำ จะเริ่มตั้งแต่ความถี่ 0.1 Hz - 50 Hz ซึ่งเป็นเสียงเบสที่ต่ำจริงๆ ซึ่งหูต่างวัยอายุจะจับสำเนียงแตกต่างกันได้ก็ตรงจุดนี้

-เสียงเบส จะเริ่มต้นตั้งแต่ย่านความถี่ 50 Hz – 100 Hz อันเป็นเสียงเบสที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเสียงเบสที่ลึก

-เสียงเบสสูง จะเริ่มต้นตั้งแต่ความถี่ 100 – 300 Hz เป็นเสียงเบสที่หลายคนออกจะชอบฟังซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ

-เสียงกลางต่ำ จะเริ่มต้นตั้งแต่ความถี่ 300 Hz – 1,000 Hz เสียงในย่านนี้ดูจะเป็นเสียงที่หลายๆคนรับรู้ได้อย่างรวดเร็วถึงความแตกต่าง

-เสียงกลาง จะเริ่มต้นตั้งแต่ความถี่ 1,000 Hz – 3,000 Hz เป็นเสียงที่บ่งบอกว่าระบบเสียงนั้นเปิดโล่งขนาดไหน

-เสียงกลางสูง เริ่มต้นตั้งแต่ความถี่ 3,000 Hz – 7,000 Hz เป็นเสียงกลางที่หลายๆคนชอบฟัง ด้วยเหตุที่ว่ามันโปร่งสดใส

-เสียงแหลมต่ำ เริ่มต้นตั้งแต่ความถี่ 7,000 Hz – 12,000 Hz เป็นย่านเสียงที่ช่วยขับให้เสียงกลางสูงฟังดูสดใสมากยิ่งขึ้น

-เสียงแหลม อยู่ในช่วงความถี่ตั้งแต่ 12,000 – 17,000 Hz เป็นเสียงแหลมที่จะมีฮาร์โมนิคอย่างมาก ถ้าอุปกรณ์ในระบบเสียงนั้นไม่ดีจริง

-เสียงแหลมสูง จากย่านความถี่ถี่ตั้งแต่ 17,000 Hz – 100,000 Hz เสียงแหลมในย่านนี้จะแปรเปลี่ยนการรับรู้ไปตามอายุขัยเช่นเดียวกับเสียงเบสต่ำ

เริ่มตรวจผลที่เสียง “เบส”

สำหรับนักฟังเพลงวัยรุ่นรวมถึงท่านที่มีรสนิยมแบบวัยรุ่น เสียงเบสดูจะมีอิทธิพลต่อการฟังเพลงมากที่สุด เพราะมันหมายถึง “ความสนุก” ในการฟังเพลง เสียงเบสจากระบบเสียงที่สมบูรณ์นั้น มันจะสามารถลงได้ต่ำมากเพื่อช่วยเสริมให้การสปริงตัวของเสียงเบสหนักแน่นขึ้น ในข้อนี้หากว่าระบบเสียงใดให้เสียงเบสได้ไม่ถึงหรือไม่ต่ำกว่า 50 Hz แล้ว คุณภาพของเพลงที่ได้ในเรื่องของเสียงเบสจะฟังดูอืดอาด และฟังดูนุ่มนิ่มมากกว่าหนักแน่น การฟังสังเกตุด้วยหูก็ต้องฟังว่า ถ้าหากเสียงเบสที่ได้ยินนั้นไม่ต่ำ เสียงเบสจะออกมาในลักษณะ “ตุบๆ” มากกว่าเสียงที่มีลักษณะ “หวืดๆ”

มีนักเล่นไม่น้อยที่คิดว่าเสียงเบสที่มากเท่าไหร่ ก็จะได้เสียงเบสที่ลึกเท่านั้น ในความจริงเสียงเบสที่มีปริมาณมาก จะเกิดผลในเรื่องความผิดพลาดทางคุณภาพเสียง ทำให้เสียงในย่านความถี่ที่เหนือกว่านั้น เกิดความสูญเสียในเรื่องของรายละเอียดเสียงไป อย่างไรก็ตามระบบเสียงที่ให้เสียงเบสในย่านกลางมากๆยังเป็นที่นิยมของนักเล่นทั่วไปอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นเสียงที่คล้ายกับการเล่นดนตรีในคลับ หรือในห้องกินดื่มแคบๆแต่หรูหราทั่วไป อาจเป็นเพราะว่านักเล่นส่วนใหญ่ได้ยินเสียงจากแหล่งเหล่านั้นจนชินหู แต่บทสรุปสุดท้ายคือพวกเบาชอบเบสแบบนั้นต่างหาก

เสียงเบสสูงช่วยให้เบสอิ่มขึ้น

เจ้าเสียงเบสสูงนี้หมายถึงเสียงในย่านความถี่ตั้งแต่ 100 Hz ไปจนถึง 300 Hz เสียงเบสสูงนี้จะมีผลมากในเรื่องของเครื่องดนตรีที่มีเนื้อไม้ประกอบ เช่น เปียโน, กีต้าร์โปร่ง และซอ จุดนี้จะสังเกตุได้ง่าย เพราะหากว่าเสียงกีต้าร์โปร่งฟังดูเหมือนเล่นอยู่ไกลลิบ หรือไม่ก็แห้งจนไร้ชีวิตชีวา และความกังวานของเสียงกีต้าร์โปร่งผิดไปจากความเป็นจริงแล้วละก็ เป็นเพราะเสียงเบสในย่านนี้ถูกเปล่งออกมาไม่สมบูรณ์ เสียงเบสสูงนี้มีส่วนช่วยให้การกระแทกหรือกระทีบกระเดื่องกลอง หรือการกระตุกสายเบสกีต้าร์ไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างหนักแน่นขึ้น หรือช่วยให้เสียงเบสแท้ๆมีความเอิบอิ่มในรูปเสียง

ถ้าเสียงเบสสูงนี้ถูกเพิ่มปริมาณมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดเสียงเบสที่มีอาการยืดตัว หรือเบสเฉื่อย ถ้าจับสำเนียงดีๆจะมีความรู้สึกว่าหนังกลองกระเดื่องไม่ตึง และเสียงกระตุกเส้นเบสไม่ถูกขึงตังเท่าที่ควร

เสียงกลางต่ำให้ความกังวาน

เสียงกลางต่ำนั้น จริงๆแล้วมีผลมากในแง่ของผลรวมทางเสียงดนตรี แต่อาจแปลกใจที่หลายๆคนมักไม่ค่อยชอบฟังเสียงในย่านความถี่นี้ ความถี่ในย่านนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิดที่เราได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่า เสียงเพอร์คัสชั่น เสียงจากซินทีไซเซอร์บางโปรแกรม รวมถึงเสียงนักร้องบางเสียง บทพิสูจน์ที่ว่าเสียงทรัมเปตหรือเสียงแซกโซโฟนฟังดูแห้งๆ หรือฟังเหมือนไม่เต็มใจเป่าละก็ เป็นผลมาจากย่านความถี่นี้มีปัญหา

นอกจากนี้ ย่านความถี่กลางต่ำยังช่วยให้เพลงจากการแสดงสดมีชีวิตชีวาในเรื่องความกังวานของห้อง เหมือนกับมีการแสดงให้ห้องแสดงดนตรีจริงๆ การกดความถี่กลางต่ำนี้ลงมาจนผิดปกติ จะมีผลให้เสียงเพลงเกิดการสูญเสียน้ำหนักทางเนื้อดนตรี

เสียงกลางคือมิติ

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เสียงกลางคือตัวกำหนดจุดที่วงดนตรีตั้งอยู่ในเนื้อหาของดนตรีนั้นๆ หากว่าเสียงในย่านนี้มีความเกินไป จะทำให้ฟังดูเหมือนกับว่ากำลังเกาะขอบเวทีเพื่อฟังเพลง และถ้าหากว่าเสียงในย่านนี้น้อยเกินไป จะทำให้ฟังดูเหมือนว่านั่งอยู่ไกลจากเวทีอย่างมากๆ ตรงนี้ก็อาจขึ้นอยู่กับลักษณะวิสัยในการฟังเพลงด้วย คล้ายๆกับการเลือกที่นั่งในการนั่งฟังเพลง

เสียงกลางสูงกำหนดความโปร่ง

ถ้าเคยฟังระบบเสียงที่ฟังดูอุดอู้เหมือนถูกบีบละก็ นั่นเป็นเพราะผลจากการที่ความถี่ในย่านกลางสูงน้อยจากความเป็นจริง แต่ในขณะที่ถ้าหากความถี่ย่านกลางสูงนี้มากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุหลักของการวิพากษ์ลำโพงบางยี่ห้อว่ามันให้เสียงที่จัดจ้าน ความพอเหมาะพอดีของเสียงกลางสูงจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการฟังเป็นอย่างยิ่ง

เสียงแหลมต่ำสร้างความเด่น

ท่านอาจพบว่าระบบเสียงใดก็ตาม ที่ให้เสียงโทนแหลมได้อย่างถึงอกถึงใจจนกลายเป็นเสียงที่บาดหูมากกว่าระรื่นหู ก็เป็นผลมาจากเรื่องของความถี่เสียงในย่านแหลมต่ำที่โด่งผิดความจริง เสียงที่ฟังดูเหมือนกับว่าให้เสียงแหลมที่คมชัด  รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด หากแต่เมื่อฟังนานๆจะเกิดความเมื่อยล้าของประสาทหู  ที่น่าแปลกก็คือระบบเสียงที่ให้เสียงแหลมออกมาในลักษณะนี้ มักมีความสามารถในการตอบสนองความถี่ย่านเสียงได้ไม่เกินไปกว่า 15,000 Hz เหตุผลของปัญหาก็คือมีการตัดยอดคลื่นที่ความถี่นี้ ทำให้เสียงแหลมต่ำถูกเพิ่มปริมาณขึ้นโดยปริยาย นอกจากนี้เสียงแหลมต่ำยังมีผลในเรื่องของเครื่องดนตรีแบบมีสายด้วย ความนุ่มนวลของการสีไวโอลีน ความเอิบอิ่มของกีต้าร์โปร่งแบบคลาสสิค หรือความไพเราของการสีซออู้ ในการทดสอบหรือทดลองฟัง ถ้าได้ใช้เวลาติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมง จะพิสูจน์ได้ว่าระบบเสียงนั้นฟังแล้วรำคาญหรือฟังแล้วสบายหู

เสียงแหลมบทพิสูจน์

เสียงแหลมมักเป็นบทพิสูจน์คุณภาพของระบบเสียงในแนวทางหลัก เสียงแหลมที่แข็งทื่อ ทิ่มแทงหูนั้น จัดเป็นระบบเสียงที่น่าจะเป็นระบบเสียงที่ให้คุณภาพของเสียงแหลมได้ไม่ดีพอ ทำให้เสียงแหลมไร้ประกายของความสดใส ไม่ชวนฟัง เสียงกริ้งที่ชวนเคลิ้มฝันจะไม่บังเกิด ลองฟังเสียงเดี่ยวไวโอลีนอย่างเดียวดู ถ้าฟังแล้วสดใสชื่นใจแทนที่จะละมุนละไม ก็อาจเป็นอีกส่วนที่เป็นเพราะเสียงแหลมไร้ประกายเสียง มีระบบเสียงไม่มากนักที่ให้ความสดใสของเสียงแหลมได้ดี นั่นเองที่ควรเลือกระบบเสียงที่ให้เสียงแหลมได้นุ่ม กระจ่างใส

เสียงแหลมสูงให้ลายเส้นสาย

ถ้าท่านเป็นนักนิยมเพลงในแนวบรรเลงแล้วละก็ เสียงที่ท่านต้องพะวงมากที่สุดเห็นจะได้แก่เสียงแหลมสูง หลายคนฟังเพลงบรรเลงแล้วบอกว่าน่าเบื่อ จุดนี้มีเหตุผลง่ายๆคือ เขายังมิเคยได้สัมผัสกับระบบเสียงที่ให้เสียงแหลมสูงเป็นลายเส้นเลยนั่นเอง และจำต้องหันไปนิยมฟังเพลงร็อค, ดิสโก้ เพราะเพลงเหล่านั้นให้เสียงขึ้นสูงแค่แหลมต่ำก็พอเพียงต่อการฟังอย่างสนุกได้แล้ว

เสียงแหลมสูงที่ไม่สมบูรณ์นั้น จะทำให้การหวดแฉ หรือเสียงจากเครื่องดนตรีจีนหลายๆชิ้น ฟังดูน่ารำคาญมากกว่าน่าฟัง เสียงแฉที่ได้ยินจะเกิดลักษณะที่เหมือนเอามือไปจับไว้ก่อนจะหวดมัน ฟังแล้วจืดสนิท  เสียงแหลมสูงยังมีผลกับความมีชีวิตชีวาของการฟังเพลง การจัดสำเนียงเสียงแหลมสูง ให้ลองทดสอบดูในขณะที่อากาศร้อน อย่าฟังเสียงแหลมสูงในขณะที่สภาพแวดล้อมมืดสนิท หรือฝนตก เพราะสภาพอากาศดังกล่าวเสียงแหลมสูงจะไม่ส่งผลต่อประสาทหูมากนัก