ไตรแอมป์ ระบบเสียงที่ต้องจับตามอง
- วันที่: 03/05/2014 16:59
- จำนวนคนเข้าชม: 14495
เรื่องของระบบเสียงรถยนต์นั้น จะว่าไปแล้วเรื่องหลักๆยังเป็นไปในรูปแบบเดิมๆเหมือนเมื่อครั้งบรรพกาล หากเพียงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจนแลดูราวกับเป็น “นวัตกรรม” ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการ “ประยุกต์ใช้งาน” ที่นำมาเรียงร้อยขึ้นใหม่ให้ตรงยุคสมัย และเข้ากับการเปลี่ยนไปของมวลมนุษย์
เช่นเดียวกับเรื่องของ “ระบบเสียง” ที่เรากำลังจะพูดถึงกัน หลายๆคนรู้จักมักคุ้นกับระบบ “ซิงเกิ้ลแอมป์” และอีกหลายคนที่เมื่อก้าวเข้าสู่การเล่นเครื่องเสียงรถยนต์ก็จะรู้จักกับระบบ “ไบแอมป์” หากแต่มีอีกหลายๆคนที่ยังไม่ทะลุผ่านขีดขั้นการเรียนรู้ในเรื่องระบบเสียงรถยนต์ และมองข้ามระบบที่มีความยืดหยุ่นสมบูรณ์สูงสุดอย่างเช่นระบบ “ไตรแอมป์”
รูปธรรมของการเลือกระบบเสียงรถยนต์นั้น มักถูกกดดันเอาไว้ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างต่ำไว้ก่อน ด้วยเหตุผลสามัญที่ว่าด้วยเรื่อง “ความกลัว” และท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นวังวนที่ว่านี้ เพราะมนุษย์ต้องการ “สิ่งที่ดีกว่าในชีวิต” อยู่เสมอ ความพึงพอใจบางอย่างถูกระงับด้วยมูลเหตุของกำลังทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากแต่ก็ควรรู้คุณค่าแห่งความเป็นจริงและยอมรับ ระบบเสียงรถยนต์ในงบประมาณระดับหมื่นสองหมื่นบาทนั้น คงไม่อาจเสมอเหมือนกับระบบในงบประมาณระดับหกเจ็ดหมื่นบาทได้ แต่ในด้านที่กลับกันระบบในงบประมาณสามสี่แสนบาท อาจไม่ได้ให้เสียงที่เลิศไปกว่าระบบในงบประมาณแสนกว่าบาทได้มากมายนัก (ในแง่คุณภาพเสียง ไม่ใช่อรรถประโยชน์ หรือความเลิศหรู) ถ้าตัดทิ้งคุณค่าทางใจและความรู้สึกของการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของสินค้าระดับแพง.....สุดลิ่ม ท้ายที่สุดก็คงมีคำถามตามมาว่า แล้วอะไรที่เป็นจุดลงตัว หรือสมเหตุสมผลมากที่สุด
ความหลากหลายของสภาพเสียงดั่งเดิมในรถยนต์
ก่อนที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้กับเนื้อหา “ระบบที่ต้องจับตามอง” เราต้องมามองถึงปัญหาพื้นฐานกันก่อน ซึ่งปัญหาพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ ความหลากหลายของสภาพเสียงดั่งเดิมในรถยนต์ ต้องเข้าใจและยอมรับกันให้ได้ว่า ห้องโดยสารของรถยนต์แต่ละคัน แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ จะมีสภาพเสียงดั่งเดิมที่แตกต่างกันไป ถ้าใครสักคนเคยมีประสบการณ์ ในความพึงพอใจกับระบบเสียงใดๆในรถคันหนึ่งมาก่อน เมื่อต้องมีการยักย้ายระบบจากรถคันเดิมไปสู่รถคันใหม่ แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะเหมือนเดิมทุกประการก็ตาม หากแต่คุณภาพเสียงที่ได้ยินในรถคันใหม่ กลับแปรเปลี่ยนไปจากคุณภาพเสียงในรถคันเดิม ซึ่งอาจมีทั้งดีกว่าและแย่กว่าตามแต่ปัจจัยของสภาพเสียงดั่งเดิมในรถคันนั้น
ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองทางด้านเสียงได้อย่างยอดเยี่ยมในรถคันหนึ่ง อาจมิได้หมายถึงประสิทธิผลเดียวกันนั้นในรถคันต่อไป(ที่ต่างรุ่น ต่างยี่ห้อ) เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละตัว แต่ละปีผลิต มักจะมีเอกลักษณ์พื้นฐานบางอย่างที่เรื่องเฉพาะตัว ถ้าเอกลักษณ์พื้นฐานของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆ มีความสอดประสานอย่างลงตัวกับสภาพเสียงดั่งเดิมในรถคันนั้นๆ ผลที่ได้ก็คือ “ความยอดเยี่ยมของคุณภาพเสียง” อย่างที่ต้องการ แต่ถ้าไม่สอดประสานกันแล้วละก็ ผลที่ได้ก็อาจหมายถึง “ความยอดแย่ของคุณภาพเสียง” อย่างที่ไม่พึงประสงค์
ความยาวคลื่นที่ไม่เท่ากันคืออีกหนึ่งปัญหา
นอกเหนือจากเรื่อง “สภาพเสียงดั่งเดิมของห้องโดยสาร” ในรถแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ที่มีความแตกต่างจนเกิดเป็นตัวแปรนัยสำคัญแล้ว ความยาวคลื่นที่ไม่เท่ากันในช่วงคลื่นการฟังเพลง 20Hz – 20,000Hz ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างตัวแปรนัยสำคัญ ความถี่เสียงในย่านต่ำของช่วงเสียงจะมีความยาวคลื่นที่ค่อนข้างยาวมาก บางคลื่นยาวเป็นหลักหนึ่งเมตรสองเมตร หากแต่ความถี่เสียงในย่านสูงของช่วงเสียงจะมีความยาวคลื่นที่สั้นมาก สั้นจนถึงระดับไม่ถึงฟุตก็มี
การติดตั้งส่วนของลำโพงที่ให้เสียงแต่ละช่วงในรถยนต์ จึงมักลดหลั่นกันลงไปตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับหลักของความยาวคลื่นนี้ถ้าเราสังเกตกันอย่างลึกซึ้ง และหากเราจะสังเกตต่อไปอีก การติดตั้งทวีตเตอร์ในระดับต่ำกว่าหัวเข่าและอยู่ใกล้ตัว (อาทิ บริเวณชายล่างของแผงบานประตู)นั้น เรามักจะได้ยินเสียงแหลมที่ไม่ค่อยมีประกาย ฟังดูทู่ๆ ไม่สดใส ซึ่งแตกต่างไปจากการติดตั้งทวีตเตอร์บริเวณบนแผงคอนโซลหรือบริเวณเสา A-Pillar เหตุผลดังกล่าวก็มาจากเรื่องของ “ความยาวคลื่น” ในทางกลับกันถ้าเรานำเอาวูฟเฟอร์ไซส์ใหญ่ในขนาด 6-7 นิ้ว มาติดตั้งไว้บนแผงคอนโซลหน้ารถ ช่วงความถี่ในย่านประมาณ 500Hz ขึ้นไปเราจะรับรู้ได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ความยาวคลื่นซึ่งอยู่ต่ำกว่า 500Hz ลงมาก็อาจมีปัญหาในสภาพการรับรู้ ที่ไม่เสถียรเท่ากับการติดตั้งวูฟเฟอร์เอาไว้ในบานประตู(ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวเข่าลงมา)
ความยาวคลื่นของช่วงความถี่ในย่านเสียง 20Hz – 20,000Hz จึงเป็นสัมพันธ์ภาพโดยตรงของตำแหน่งการติดตั้งลำโพงและตำแหน่งของการนั่งฟัง ซึ่งมักจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพห้องโดยสารของรถยนต์แต่ละคัน และแน่นอนอีกว่าจะมีปัญหากับเรื่อง “ความสวยงาม” ตามมา เพราะสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยของห้องโดยสารในรถคันนั้นๆ
มองจากปัญหานี้ เราก็พอจะมองเห็นภาพคร่าวๆได้แล้วว่า จุดตัดความถี่ที่กำหนดไว้ตายตัวใน “พาสซีฟครอสโอเวอร์” นั้น จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องสามารถวางตำแหน่งวูฟเฟอร์/ทวีตเตอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพียงสถานเดียว ถึงจะได้ “ผลตอบสนองความถี่” ตามที่บ่งบอกไว้ในกราฟแสดงผลของชุดลำโพงนั้นๆ หากมีบางระนาบของตำแหน่งการติดตั้งคลาดเคลื่อนไป ผลที่ได้ย่อมเปลี่ยนไป ซึ่งหากใครสังเกตดูในขณะที่เรานั่งฟังเสียงของชุดลำโพงนั้นๆในห้องลองเสียง และฟังอีกครั้งในห้องโดยสารของรถเราเองหลังจากการติดตั้งแล้วเสร็จ เสียงที่ได้ยินจะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตำแหน่งในการนั่งฟังขณะที่ฟังอยู่ในห้องลองเสียง กับตำแหน่งของการนั่งฟังในขณะอยู่ในห้องโดยสารรถยนต์นั้น ถือว่าอยู่ในพิกัดที่แตกต่างกัน ผลของ “ความยาวคลื่น” จึงมีสภาพที่เปลี่ยนไป ซึ่งยังไม่นับรวมถึง “เสียงโดยตรง” และ “เสียงสะท้อนกลับ” ที่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพเสียงดั่งเดิมของห้องที่ใช้ฟังอีกต่างหาก
พาสซีฟครอสโอเวอร์ที่น่าจะเป็น!
สำหรับชุดลำโพงที่ใช้ฟังกับระบบเสียงบ้านนั้น เรามักนำไปจัดวางหรือติดตั้งในพิกัดที่ชุดลำโพงนั้นๆระบุไว้ อาทิ สูงจากพื้น 2 ฟุต ห่างจากผนังแต่ละด้าน1.5 ฟุต และมีระยะห่างระหว่างลำโพง 5-6 ฟุต และนั่งฟังในระยะที่ห่างจากลำโพงไม่น้อยกว่า 6-7 ฟุต เป็นต้น
แต่ในการติดตั้งชุดลำโพงในรถยนต์ เราไม่สามารถกำหนดพิกัดในการติดตั้งได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบสภาพภายในห้องโดยสารของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ การดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งบางครั้งมีผลกระทบกับสภาพความสวยงาม ซึ่งอาจเป็นที่ไม่พึงพอใจของเจ้าของรถที่ต้องการเห็นสภาพดั่งเดิมเหมือนไม่มีการดัดแปลงใดๆ และอาจเป็นชนวนของความไม่เข้าใจกันระหว่างช่างที่ต้องการติดตั้งระบบเสียงให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกับเจ้าของระบบเสียงที่ต้องการความสวยงามเดิมๆของห้องโดยสาร
เมื่อมองถึงปัญหาดังกล่าวนี้แล้ว การกำหนดจุดตัดความถี่ที่ “คงที่” ของพาสซีฟครอสโอเวอร์ ที่มีมากับชุดลำโพงชุดนั้นๆอาจกลายเป็น “ตัวกำหนด” ที่ส่งผลให้การทำงานในด้านการติดตั้งชุดลำโพงมีความลำบากมากขึ้น จนบางครั้งทำให้ช่างหลายๆคนเลือกที่จะทำการจัดสร้าง “พาสซีฟครอสโอเวอร์” ขึ้นใหม่ เพื่อจัดลำดับของช่วงคลื่นความถี่ในชุดลำโพงใหม่ให้สอดคล้องกับตำแหน่งที่ติดตั้งชุดลำโพง แน่นอนว่านี่คือ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่ดีกว่านั้นหากเป็นไปได้ พาสซีฟครอสโอเวอร์ที่มีมากับชุดลำโพง ควรจะสามารถปรับเปลี่ยนจุดตัดความถี่ได้อย่างน้อยซัก 3-4 จุดความถี่ เพื่อให้สามารถเลือกได้อย่างเหมาะสมหลังการติดตั้งแล้วเสร็จ โดยอาจมีจุดตัดความถี่ให้เลือกได้ที่ 2.5 kHz, 3.5 kHz, 4.5 kHz และ 5.5 kHz ซึ่งจะทำให้สามารถเลือกตำแหน่งติดตั้งได้หลากหลายกว่า รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยน “เฟส” ในส่วนของทวีตเตอร์ได้ด้วย แต่นี้ก็เป็นเพียงแค่ “ไอเดีย” หรือแนวคิด และอาจจะเกิดขึ้นได้กับค่ายผู้ผลิตลำโพงบางค่าย
“ไตรแอมป์”...ระบบที่ต้องจับตามอง
เมื่อการปรับเปลี่ยนจุดตัดความถี่ในพาสซีฟครอสโอเวอร์ค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก และผูกผันอยู่กับเรื่องของค่าใช้จ่าย แนวทางของระบบที่ยืดหยุ่นอย่าง “ระบบไตรแอมป์” จึงเป็นระบบที่น่าจับตามอง เพราะการเลือกช่วงคลื่นความถี่ของตัวขับเสียงแต่ละตัว จะถูกกำหนดด้วย “อีเล็คโทรนิค-ครอสโอเวอร์” และให้ความยืดหยุ่นที่สูงยิ่งด้วยลักษณะการปรับจุดตัดในแบบ “ต่อเนื่องอิสระ” อาทิ จุดตัดระหว่างมิดวูฟเฟอร์กับทวีตเตอร์นั้น สามารถเลือกช่วงความถี่ได้ตั้งแต่ 2 kHz, 2.5 kHz, 3 kHz, 3.5 kHz, 4 kHz, 4.5 kHz, 5 kHz ยิ่งกับอีเล็คโทรนิคครอสโอเวอร์ชั้นเยี่ยมๆบางเครื่อง ยังสามารถเลือกจุดตัดความถี่ในระหว่างตัวขับเสียงสองส่วนนี้ ขึ้นไปได้ถึงระดับ 8 kHz (สามารถติดตั้งบนเสา A-Pillar ช่วงบนได้เลยทีเดียว)
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของจุดตัดระหว่างซับวูฟเฟอร์กับมิดวูฟเฟอร์เอง ก็สามารถเลือกจุดตัดความถี่ เพื่อให้ได้คลื่นเสียงเบสที่เป็น “โน้ตเดียวกัน” ได้สะดวก โอกาสที่จะได้ยินเสียงเบสสะอาดๆ เป็นโน้ตคม นิ่งๆ ก็สามารถกระทำได้โดยง่าย และมีอิสระในการเลือกใช้ตู้ซับวูฟเฟอร์ได้ทั้งตู้เปิด, ตู้ปิด หรือตู้แบนด์พาส ตามแต่ “โทนเสียง” ที่ต้องการของเจ้าของระบบ
ที่สำคัญหากเป็นอีเล็คโทรนิคครอสโอเวอร์ยุคสมัยใหม่ ที่สามารถปรับจุด “ซับโซนิค-ฟิลเตอร์” ได้ ก็จะส่งผลในแง่ของการสลายพลังสะท้านทิ้งไป ไม่ทำให้ตัวถังรถกระเพื่อมกระพืออย่างน่ารำคาญ โดยเฉพาะกับรถรุ่นที่มีตัวถังบางๆทั้งหลาย
“ไตรแอมป์” ...ระบบที่มีพลวัติเสียงมากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่จะได้ผลอย่างมากของระบบไตรแอมป์ ก็คือเรื่องของพลวัติทางเสียง จากเดิมที่เราใช้เพาเวอร์แอมป์ 5 แชนแนล ในการแยก 2 แชนแนลแรก (สมมุติ 50 W x 2) เพื่อขับชุดลำโพงกลาง/แหลมปกติ(ผ่านพาสซีฟครอส) กำลังที่ถูกส่งไปยังลำโพงทวีตเตอร์/มิดวูฟเฟอร์ จะต้องถูกทอนลงตามส่วน (อาทิ 20 W x 2 เข้าทวีตเตอร์ และ 30 W x 2 เข้ามิดวูฟเฟอร์)
ในขณะที่หากวางระบบเป็นไตรแอมป์ เราจะได้กำลังขับ 50 W x 2 จาก 2 แชนแนลแรกตรงๆเข้าทวีตเตอร์ และได้กำลังขับอีก 50 W x 2 จาก 2 แชนแนลหลัง(ของแอมป์ 5 แชนแนล)ตรงเข้ามิดวูฟเฟอร์ พลวัติของเสียงรวมจะอยู่ที่ 200 วัตต์ เฉพาะในส่วนของชุดลำโพงกลาง/แหลม ซึ่งพลวัติของเสียงที่มากขึ้นนี้ ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพเสียงที่ “เอิบอิ่ม” ขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะหูระดับไหนก็ฟังความแตกต่างนี้ แบบรับรู้ได้ด้วยตัวเอง