ยุทธวิธี ทำเสียงซับฯ แบบมีคุณภาพเสียงดี
- วันที่: 06/06/2011 18:50
- จำนวนคนเข้าชม: 58019
เน้นความกลมกลืนของเสียงเลือกซับ”ตู้ปิด”, เน้นความดังเลือกซับ”ตู้เปิด”
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound
สำหรับเรื่องของซับวูฟเฟอร์ในการเลือกเพื่อใช้งานกับระบบเสียง SoundQuality ทั้งแบบทั่วไปและแบบ Plus จะเน้นหลักในเรื่องของ SQ ทั่วไปที่ให้ความกลมกลืนของเสียง โดยไม่เน้นในเรื่องความดังมากเกินไปนัก ปกติจะฟังกันในระดับ 100 dB ขึ้นไปจนถึงประมาณ 110 หรือ 120 dB แนะนำในส่วนนี้ว่าควรใช้ซับที่เป็นซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมกับ”ตู้ปิด” โดยดูจากค่า EBP (ที่จะพูดถึงต่อไป) ด้วยเหตุผลที่มันสามารถควบคุมการเลื่อนของเฟสไปในตำแหน่งที่ไม่มากนัก ส่งผลให้การปรับฟังในรูปแบบ”เบสอัพฟร้อนท์”ค่อนข้างลงตัวกว่า
ส่วนการฟังในแบบ SQ+ ที่จะเน้นในเรื่องของความดังเสียงซึ่งสูงกว่า 120 dB ขึ้นไปนั้น การเลือกใช้งานซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมกับ”ตู้เปิด” จะช่วยให้สามารถรีดพลังทางด้านเสียงเบสออกมาได้มากกว่า โดยทั่วไปทำได้มากกว่า 3 dB เมื่อเทียบกับตู้ปิดปกติ แต่ก็ต้องยอมรับผลในเรื่องของการเลื่อนไปของเฟสที่อาจจะมากหน่อย ส่งผลให้การวางในรูปแบบการฟัง”เบสอัพฟร้อนท์”ไม่ค่อยกลมกลืน โดยเฉพาะในกรณีที่ติดตั้งตู้ซับไว้ทางด้านท้ายรถในรถเก๋งซีดาน ก็อย่างที่บอกละครับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีได้ก็ต้องมีเสีย ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อมไปทุกๆด้าน ดังนั้นในการเลือกซับวูฟเฟอร์จึงควรที่จะได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้
สำหรับความเหมาะสมของแบบตู้ จะคำนวณได้จากตัวซับวูฟเฟอร์เอง โดยใช้ค่า EBP เป็นตัวชี้วัดความเหมาะสม ค่า EBP หาได้จากค่า Fs หารด้วย Qes โดยค่า EBP ที่ 50 หรือน้อยกว่านั้น จะเป็นซับฯที่เหมาะสำหรับตู้ปิด ค่า EBP ที่ 50 – 90 จะเป็นซับฯที่ทำได้ทั้งตู้ปิดและตู้เปิด และค่า EBP ที่มากกว่า 90 ขึ้นไป จะเป็นซับฯที่เหมาะสำหรับตู้เปิดครับ ส่วนจะเลือกใช้ตู้ปิด/เปิดก็ยังขึ้นกับวัตถุประสงค์ใช้งานคลื่นเสียงเบสที่ต้องการ ตู้ปิดจะให้เนื้อเบสที่กระชับ แน่น สะอาด ชัดเจน ส่วนตู้เปิดจะให้เนื้อเบสที่อิ่มแน่น หนักลึก และมีมวลเสียงเบสที่พุ่งได้ไกล ลอย
จากภาพจะเห็นได้ว่าซับในตู้เปิด(เส้นสีขาว) จะมีการเคลื่อนของเฟสที่ความถี่ต่ำกว่า 40 Hz ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับซับในตู้ปิด(เส้นสีแดง) ที่มีการเคลื่อนของเฟสแค่ 180 องศาในความถี่ต่ำกว่า 40 Hz ซึ่งตรงนี้มีผลเล็กน้อยกับเรื่อง”เบสอัพฟร้อนท์” ทึ่ซับในตู้เปิดอาจปรับให้เนียนเท่ากับซับในตู้ปิดไม่ได้ แต่ถ้าเอาวัตถุประสงค์ในเรื่องความมันส์แล้ว ซับในตู้เปิดก็จะทำส่วนนี้ได้ดีกว่า รวมถึงการหวังผลในเรื่องให้เสียงเบสหลุดออกนอกรถด้วย
ไม่ควรเลือกซับที่กินวัตต์มากเกินไป!
เหตุผลหลักของระบบเพื่อการฟัง SQ และ SQ+ นั้น เราจะไม่มุ่งเน้นในเรื่องการทำลายสภาพเยื่อหู(นั่นคือจะไม่เค้นความดังมากเกินไปกว่า 135 dB) เพราะที่ระดับความดังเช่นนี้ หากฟังกันยาวๆซัก 2-3 ชั่วโมง ก็อาจทำให้สภาพการรับรู้เสียงของ”หู”ต้องสูญเสียความสามารถไปทีละน้อย จนในที่สุดก็จะหูหนวกถาวร
โดยปกติทั่วไป สำหรับซับวูฟเฟอร์ที่รองรับกำลังขับได้ที่ 250 – 300 วัตต์ ก็พอเพียงที่จะสร้างคลื่นเสียงเบสในระดับ 125 dB ได้ โดยอาศัยการจัดวางตำแหน่งตู้ในรถที่ถูกต้องตามสภาพเสียง ยิ่งในกรณีของการออกแบบตู้เป็นตู้เปิด เมื่อออกแบบให้คลื่นเสียงเบสรวมเข้ากับรีโซแนนท์รถแล้ว ก็อาจจะสามารถสร้างพลังเสียงได้ถึงระดับ 135 dB ได้ เมื่อใช้ซับขนาด 10 นิ้วใช้งานร่วมกัน 2 ดอก และป้อนจ่ายกำลังวัตต์ไปที่ซับแต่ละตัวได้ครบ 300 วัตต์เต็ม
การใช้ซับที่แม่เหล็กใหญ่ โครงสร้างอลังการ กินวัตต์มาก จะส่งผลให้ต้องใช้เพาเวอร์แอมป์ขับที่กำลังสูงมากๆ และแน่นอนว่าจะกินกระแสจากระบบไฟรถมากขึ้นตามไปด้วย บางครั้งอาจมองคล้ายๆการ”ขี่ช้างจับตั๊กแต๊น”ก็ได้ครับ คือใช้ซับใหญ่ กำลังวัตต์มาก กินกระแสมาก แต่รถไม่สามารถจ่ายกระแสได้พอเพียง สรุปจบท้ายก็คือไฟไม่พอ กำลังวัตต์ที่แอมป์ก็ตกลง จนกลายเป็นเหลือกำลังวัตต์เพื่อขับซับได้แค่เพียงน้อยนิด ทำให้การใช้ซับขนาดเหมาะสม ใช้กำลังวัตต์เพาเวอร์แอมป์ตามที่ระบบไฟรถยนต์จ่ายให้ได้เต็มที่ เรากลับได้เนื้อเสียงเบสที่สมบูรณ์ทั้งคุณภาพและปริมาณ
วัสดุที่ใช้ทำกรวย ลักษณะกรวย ช่วยนิยามถึงลักษณะเสียงเบส
ในการเลือกซับฯเพื่อให้ได้รูปลักษณ์ของเนื้อเสียงเบสตามปรารถนานั้น ในบางครั้งเราสามารถใช้การคัดเลือกจากวัสดุที่ใช้ทำกรวย อาทิ ซับที่ใช้กรวยเป็นกระดาษเคลือบน้ำยา หรือกรวยที่เป็นโพลี่โพรไพลีน จะให้เนื้อเบสที่ออกมาในลักษณะนุ่ม กระชับ เนื้อเบสสะอาด ไม่อวบคราง แต่ในทางตรงกันข้ามสำหรับนักฟังที่ต้องการเนื้อเบสอวบหนา กระแทก เน้นเบสแบบถึงใจ วัสดุที่เคลือบหน้ากรวยด้วยผิวโลหะ หรือกรวยในแบบเว้าโค้งไม่มีแผงกันฝุ่น จะตอบสนองเบสในรูปแบบเช่นนี้ได้อย่างเร่งเร้าใจมากกว่า ซึ่งโดยบทสรุปนั้น การได้มีโอกาสทดสอบ/ทดลองฟังเสียงของตัวซับวูฟเฟอร์ที่เราจะเลือกใช้นั้น จะตอบโจทย์ของความต้องการได้ถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด
การวางตำแหน่งแนวตู้ซับฯ มีผลกับการตอบสนองเสียงเบสโดยรวม
การวางตำแหน่งตู้ซับวูฟเฟอร์ในรถยนต์ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลกับการตอบสนองเสียงเบสโดยรวม ซึ่งปกติเรื่องของเสียงเบสในรถยนต์ จะตีความกันในสองความหมายหลักๆคือ “ถูกต้อง” กับ “ถูกใจ” คำว่าเสียงเบสถูกต้องนั้น จะเน้นไปที่คลื่นเสียงเบสที่มีระดับความแตกต่างทาง dB ในแต่ช่วงคลื่นความถี่ไม่ต่างกันมากนัก ส่วนเสียงเบสแบบถูกใจนั้น จะเน้นที่ความระห่ำ ความดัง ความอวบหนาของเบส ที่หลายคนชอบนิยามว่า”เบสสะใจ”
ตัวอย่างของการวางตำแหน่งตู้ซับวูฟเฟอร์ ที่ถกเถียงกันมากเลยก็คือ การวางซับหันหน้าออกไปทางท้ายรถ และการหันหน้าซับออกทางช่องท้าวแขนของรถ อย่างภาพแรกเป็นการวางตู้ชิดหลังเบาะ และยิ่งเสียงเบสออกไปปะทะกับขอบของฝากระโปรงท้าย จะได้คลื่นเสียงเบสที่โด่งสะใจในช่วงความถี่แถวๆ 50 – 55 Hz ซึ่งกำลังเป็นความถี่ที่ให้น้ำหนัก ให้ความสะใจได้ดีมาก
ในขณะที่การวางตัวตู้ซับวูฟเฟอร์เอาไว้ใกล้เบาะหลัง(ไม่ใช่..ชนิดแนบกับเบาะหลัง) และเปิดให้เสียงซับฯเดินทางออกทางช่องของท้าวแขนในที่นั่งเบาะหลัง จะให้รูปคลื่นที่ค่อนข้างไฮเอ็นด์ มึความแตกต่างของระดับคลื่นที่ 40 Hz ถึง 60 Hz ที่ไม่เกิน +/- 3 dB หรือ 6 dB
แน่นอนละถ้าถามกันถึงความ”ถูกต้อง”ของเสียงเบสในคนฟังระดับออดิโอไฟล์ เราจะต้องการเบสในแบบธรรมชาติ ไม่แตกต่างทางคลื่นกันมากนัก แต่ถ้าเอาถึงความ”ถูกใจ” ด้วยความระห่ำของเบสเป็นหลัก หนักแน่น ทะลุทะลวง เร้าใจ ก็ต้องเป็นการวางตู้ซับฯแบบหันออกท้าย เพราะจะได้ความสูงของช่วงเบส 50 – 55 Hz ที่สูงกว่าคลื่นที่ 40 Hz อยู่มากกว่า 9 dB เรียกว่า”สะใจ”แน่นอน
ตำแหน่งของการวางตู้ซับวูฟเฟอร์นั้น เราจึงคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ที่”ถูกต้อง”หรือ”ถูกใจ”เป็นหลัก ขึ้นอยู่กับเจ้าของระบบว่าต้องการเสียงเบสไปในรูปแบบใดๆ ซึ่งคงไม่ต้องบอกนะครับว่า ไม่ว่าจะวางซับในตำแหน่งหรือรูปแบบใด ขอเพียงรับรู้ได้ถึงวัตถุประสงค์ ก็จะไม่มีคำว่า”ผิด”หรือ”ถูก”นะครับ ไม่ต้องเป็น”เจ๊กตื่นไฟ” พร่ำหาแต่ความ”ดี”ความ”เลว” เพื่อจะได้เสริมส่ง”รัศมี” ของผู้เสนอแนะ
จริงๆแล้วยังสามารถจัดวางตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ได้ในมุมอื่นๆของห้องสัมภาระท้ายรถนะครับ เพียงแต่ยกตัวอย่างแค่ 2 แบบจะได้เห็นภาพของความ”ถูกต้อง”กับความ”ถูกใจ”ได้อย่างชัดเจน
เลือกซับทีมีค่า t/s parameter จากโรงงาน
เหตุผลหนึ่งของการเลือกซับวูฟเฟอร์ที่มีค่า t/s parameter นอกเหนือไปจากเรื่องที่ว่า ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบ/ตรวจสอบวิเคราะห์การทำงานของซับวูฟเฟอร์ได้แล้ว ยังแสดงถึง”ความห่วย”หรือ”ความสามารถสูง”ของโรงงานผลิตซับวูฟเฟอร์ด้วย เพราะถึงแม้นว่าเครื่องมือทีใช้วัด t/s parameter ที่ใช้กันในโรงงานจะมีราคาค่อนข้างสุง แต่ถ้ามองถึงอนาคตของการเป็นผู้ผลิตซับฯระดับส่งออกจำหน่ายทั่วโลกแล้ว การลงทุนในส่วนนี้นับว่าคุ้มค่ามาก ส่วนโรงงานห้องแถว ที่พร้อมจะทำ และพร้อมจะเลิกเปิดตูดหนี อย่างนี้ส่วนใหญ่จะไม่ลงทุนซื้อเครื่องครับ
วัสดุที่ใช้ออกแบบตู้ต้องมีความหนาแน่นถูกต้อง รวมถึงระยะลึกของตู้ตามความถี่เป้าหมาย
โดยทั่วไป เราจะถือเอาไม้ MDF เป็นตัวแทนของความหนาแน่น ที่จะเลือกเปลี่ยนเป็นวัสดุอย่างอื่น อาทิ ไฟเบอร์กลาส ความหนาแน่นของวัสดุ สัมพันธ์กับระยะความลึกของตู้ และให้ผลกับความถี่ต่ำที่ต้องการไปถึง
อาทิเช่น ถ้าเราต้องการใช้ไม้ทำตู้ขนาด ½ นิ้ว (ที่ความหนาแน่นประมาณ 23 oz/sq. ft.) และต้องการให้ตู้ใบนี้ตอบสนอบด้านลึกลงไปถึง 40 Hz ก็จะมีความความลึกของตู้อยู่ที่ 13-14 นิ้ว
หรือในทางกลับกัน ถ้าเรามีข้อจำกัดทางด้านความลึกของตู้แค่เพียง 10 นิ้ว แต่ต้องการให้ตอบสนองได้ถึง 40 Hz แนะนำให้ใช้วัสดุที่มีความหนานแน่นที่ 30 oz/sq. ft.
กำหนดค่า F3 ของตู้ให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องออกแบบตู้ให้กินความถี่ลึกเกินไป
เพราะหากเราออกแบบตู้ให้มีค่า F3 ลงลึกมากๆ เวลาที่นำไปติดตั้งใช้งานในรถจริง เราจะได้คลื่นในช่วง 10 Hz – 30 Hz ที่มากเกินปกติ จากผลของ Cabin Gain ของรถเอง ซึ่งความถึ่ลึกๆเหล่านี้ จะก่อให้เกิดคลื่นสั่นค้างในปริมาณมากๆ ส่งผลให้ตัวรถสั่นสะท้านอย่างไร้สาระ และยังเป็นตัวทอนความสามารถทางกำลังขับของเพาเวอร์แอมป์อีกด้วย
ปกติแล้วค่า F3 สำหรับตู้ซับที่จะนำมาติดตั้งใช้งานในรถยนต์ มักจะกำหนดค่า F3 กันแค่เพียงในช่วง 35 – 45 Hz ขึ้นอยู่กับว่าต้องการเนื้อเบสในแนวนุ่มแน่น หรือกระชับแน่น
อย่างในตัวอย่าง เราออกแบบตู้ซับแบบปิด ที่มีค่า F3 อยู่ที่ประมาณ 35 Hz แต่เมื่อนำเอาตู้ใบนี้ไปติดตั้งใช้งานจริงในรถยนต์ เราจะได้คลื่นเสียงในช่วง 5 Hz – 40 Hz ขึ้นมาเสริม ในปริมาณความดังที่ใกล้เคียงกับกำลังขับจากเพาเวอร์แอมป์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องออกแบบค่า F3 ของตู้ให้ลึกมากเกินเหตุ เพราะความถี่ลึกมากๆจะแสดงผลเป็นความสั่น...มากกว่าพลังเสียงครับ
คราวนี้ถ้าเราออกแบบตู้ซับให้มีค่า F3 ลงลึกมากๆ ในตัวอย่างลงไปถึง 25 Hz เมื่อนำเอาตู้ซับใบนี้ไปติดตั้งในรถ เราจะได้คลื่นของ Cabin Gain ที่มาช่วยในย่านความถี่ 5 Hz – 40 Hz ที่โด่งมากเกินกว่าระดับของเสียงที่ได้จากกำลังขับของเพาเวอร์แอมป์ ผลอันนี้อาจทำให้เราได้ยินคลื่นความถี่ต่ำอื้ออึง แม้ว่าจะเปิดเพลงที่มีดนตรีความถี่ต่ำเพียงเล็กน้อยก็ตาม
กรณีต้องการเบสอัพฟร้อนท์แบบ 100% สามารถใช้ซับขนาดเล็ก ที่ลง F3 ถึง 40 Hz
ปัจจุบัน เริ่มมีการออกแบบตู้ซับสำเร็จรูป ที่มีขนาดค่อนข้างบาง กะทัดรัด พร้อมกำลังขับขยายในตัว เพื่อให้สามารถนำมาติดตั้งใช้งานในตอนหน้าของรถ อาทิ ใต้ลิ้นชักเก็บของ ใต้เบาะที่นั่ง บริเวณที่พักเท้า หรือบริเวณกลางลำตัวของรถ MPV ซึ่งในลักษณะเช่นนี้สามารถตอบสนอง F3 ได้ถึงที่ความถี่ 40 Hz หากเป็นการฟังในแบบ SQ (ความดังอยู่ที่ประมาณ 100 – 115 dB) สามารถติดตั้งฟังใช้งานได้อย่างกลมกลืน และได้สภาพของเบสอัพฟร้อนท์ที่สมบูรณ์ 100% เมื่อมีการปรับระดับน้ำหนักของเสียงเบสที่กลมกลืนกับย่านมิดเบสของลำโพงกลางแหลม
สำหรับท่านที่ต้องการการฟังทั้งแบบ SQ เบสอัพฟร้อนท์ และ SQ+ เบสทะลุทะลวง สามารถเลือกติดตั้งเสริมซับฯในตู้งานออกแบบ ที่ใช้กำลังขับขยายจากเพาเวอร์แอมป์ภายนอก เพื่อเพิ่มระดับความดังของเสียงเบสให้เพิ่มมากขึ้น และสามารถทำให้ได้เสียงเบสในระดับเกินกว่า 130 dB ได้ ก็จะได้ความสมบูรณ์ของเสียงเบสอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนเบสอัพฟร้อนท์ และในส่วนของเบสออกนอกรถ
เข้าใจกลไกความสำคัญของซับวูฟเฟอร์
ก่อนเลือกใช้งานซับวูฟเฟอร์ เราจะต้องทำความเข้าใจถึงกลไกความสำคัญในระบบซับวูฟเฟอร์ก่อน นั่นคือ ซับวูฟเฟอร์ที่ดีนั้นเราไม่ได้ดูกันแค่เพียงเรื่องของโครงสร้างภายนอก กลไกสำคัญของซับวูฟเฟอร์ จะอยู่ที่ประสิทธิภาพการทนความร้อนของวอยซ์คอยล์, ความเที่ยงตรงของอุปกรณ์เกาะยึดเพื่อการขับเคลื่อน (อาทิ เซอร์ราวน์, สไปเดอร์ ), ความแข็งแกร่งในการผลักอากาศของวัสดุที่ใช้ทำกรวย ซึ่งค่าที่เหมาะสมเหล่านี้ จะชี้แจงได้อย่างละเอียดในค่า t/s parameter และซับที่ถือว่ามีประสิทธิภาพใช้งานดีที่สุด มักจะมีค่า EBP อยู่ในช่วงประมาณ 40 – 80 แน่นอนว่าซับที่มีค่า EBP อยู่ในช่วงเหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ในการใช้งานตามวัตถุประสงค์จริง เราสามารถเลือกซับที่มีค่า EBP ที่เหมาะสมกับการใช้งานของเราได้ ทำให้มีสนนราคาค่าตัวที่ค่อนข้างย่อมเยาว์ลงอย่างมาก
เลือกใช้ซับวูฟเฟอร์ ที่มีตัวแทนอย่างเป็นทางการ
องค์ประกอบสำคัญของการเลือกใช้ซับวูฟเฟอร์ ก็คือ ต้องมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ มีหลักแหล่ง มีที่อยู่จริงอ้างอิงได้ ไม่ใช่เบอร์มือถือลอยไปลอยมาโดยไม่มีที่อยู่แจ้งชัด เพราะหากมีข้อผิดพลาดใดๆเกิดขึ้นกับซับวูฟเฟอร์ ท่านก็จะสามารถหาที่ซ่อมบำรุง หรือสอบถามข้อมูลทางเทคนิคเพื่อการติดตั้งที่ถูกต้องได้ และเหนือสิ่งอื่นใด การเลือกซับวูฟเฟอร์ที่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการนี่ละสำคัญที่สุด เนื่องจากอุปกรณ์ซับฯนั้น...ประสิทธิผลรวมของการใช้งานจริงจะทำได้แค่ 99% หมายถึงใน 100 ตัวอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ 1 ตัวเสมอครับ แม้จะมีระบบ QC อย่างยิ่งยวดเพียงใดก็ตาม เราถือว่านี่คือประเด็นสำคัญกว่าสิ่งอื่น
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound