หลักการสร้าง ”เสียงเบสเบื้องหน้า”(Bass Up-Front)
- วันที่: 03/05/2014 16:19
- จำนวนคนเข้าชม: 15965
ในการสร้างสภาพเวทีเสียงที่สมบูรณ์ของการฟังฟร้อนท์สเตจนั้น ปัญหาที่ประสบพบเจอมากที่สุดก็คือ “เสียงเบสยังเสมือนเดินทางมาจากด้านหลัง” ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราต้องติดตั้งลำโพงซับวูฟเฟอร์เอาไว้ในห้องสัมภาระท้ายรถ แม้ว่าจะสามารถติดตั้งซับวูฟเฟอร์บางแบบไว้ตอนหน้าห้องโดยสาร เมื่อต้องวางซับวูฟเฟอร์เอาไว้ในตอนท้ายของรถ และต้องการคุณภาพของธรรมชาติเสียงในเรื่องเวทีเสียงที่อยู่ด้านหน้าตามต้องการ จึงควรจะต้องรู้ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เสียงเบส มีความเสมือนเดินทางมาจากด้านหน้ารถ ทั้งที่จริงซับวูฟเฟอร์ติดตั้งอยู่หลังรถ โดยอาศัยเทคนิคที่เป็นหลักการทางฟิสิกส์ อันประกอบด้วยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกัน 2 ทฤษฎีคือ “รูปคลื่นเสียงเบส”(Wave Form) และ “ขนาดของคลื่นเสียงเบส”(Amplitude) และมีวิธีหลักการปฎิบัติให้ได้สภาพเสียงเบสตามต้องการ ดังต่อไปนี้
-ต้องทำให้เสียงของชุดลำโพงหน้า ที่มีเวทีเสียงตามกำหนดของตำแหน่งที่ชัดเจน และนิ่งสงบ เพราะสภาพของมิติเสมือน จะช่วยให้ทำให้ผู้ฟังละเลยความสนใจในการรับรู้เสียงจากด้านหลังได้ประการหนึ่ง
-ต้องใช้ซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมเข้าช่วย เพื่อเร่งรัดให้ความถี่เสียงเบสที่ต้องการนั้น มาถึงหูผู้ฟังในช่วงเวลาที่เหมาะสม นั่นคือต้องมีการควบคุมการตอบสนองความถี่ในย่านความถี่ต่ำ และตัวตู้ที่เหมาะสมมักช่วยได้มากกว่าในเรื่องนี้
-ต้องไม่มีความผิดเพี้ยนใดๆของเสียงในระบบ นั่นหมายถึงเพาเวอร์แอมป์และลำโพงที่ใช้ในระบบ จะต้องมีคุณภาพที่ดีพอเพียง และอย่าใช้งานเกินขีดความสามารถที่จะทำได้ อันหมายรวมถึงการทำ "สมมาตรระดับ”(Level Matching)ที่ถูกต้องด้วย
-ต้องตั้งค่าจุดตัดความถี่ให้ถูกต้อง และอย่าให้จุดตัดความถี่ที่จ่ายให้กับซับวูฟเฟอร์อยู่สูงเกินว่า 80 Hz เพื่อส่งผลให้ผู้ฟังไม่ต้องรับรู้ทิศทางของเสียงเบส
-ต้องมีค่าความลาดชันของจุดตัดความถี่ในย่านต่ำ ที่ป้อนจ่ายให้กับซับวูฟเฟอร์นั้นชันมากที่สุด บางครั้งอาจต้องใช้ถึง 24 dB/Oct เพื่อลดปัญหาทาง "คลื่นสั่นสะสม”(Stading Wave) ที่มักเกิดในความถี่ย่านกลางต่ำลงให้มากๆ และยังช่วยไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยนที่เสียงเบสได้ดีอีกด้วย
-ต้องลดการสั่นสะท้อนก้องทางเชิงกลต่างๆให้มากที่สุด อันหมายถึงการทำให้สภาพห้องโดยสาร”นิ่งสงบ”มากที่สุด ทั้งการใช้วัสดุทึบเสียงและความพยายามไม่เชื่อมโยงผิวผนังของตู้เบสเข้ากับพื้นตัวรถ
อาจต้องทำการเหลื่อมจุดตัดความถี่ระหว่าง "การผ่านย่านเสียงต่ำ”(Low Pass) และ "การผ่านย่านเสียงสูง”(Hi Pass) ไว้บางส่วน เพื่อช่วยลด”คลื่นสั่นสะสม”ที่ความถี่ย่านกลางต่ำลงให้มากที่สุด รวมถึงการช่วยให้ย่านความถี่ระหว่างกลางต่ำและต่ำสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
-ต้องทำการชดเชยเพื่อให้ผลการตอบสนองความถี่ต่ำสมบูรณ์ที่สุด ไม่ควรให้มีบางส่วนของเสียงเบสตกต่ำลงมาก(Dip)หรือเพิ่มขึ้นมาก(Peak) ในการปรับชดเชย ให้ใช้การปรับลดลง(Cut)ในตำแหน่งความถี่ที่สูงโด่ง แทนการปรับเพิ่ม(Boot)ความถี่ที่ตกต่ำลงให้สูงขึ้น
-ต้องปรับมุมองศาเสียงหรือเฟสเสียงเบสของซับวูฟเฟอร์ให้สอดคล้องกับกลางแหลม เพราะความถี่ในย่านตั้งแต่ 200 Hz ลงมาจะมีความยาวคลื่นสูงมาก การสอดคล้องกันของเฟสเสียงจะช่วยลดปัญหาการ "เรียงลำดับคาบเวลา”(Time Alignment) ในขณะที่เสียงเบสมีการเดินทางได้ด้วย