เทคนิคการวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ เบื้องต้น
- วันที่: 03/05/2014 15:47
- จำนวนคนเข้าชม: 45933
ต่อไปนี้เป็นข้อปฎิบัติที่แนะนำให้สำหรับการวิเคราะห์/แก้ไข ปัญหาเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ เบื้องต้น สำหรับผู้ใช้ระบบเสียงทั่วไป ที่พอมีทักษะในงานทางด้านช่างกันอยู่บ้าง เพื่อใช้เป็นประสบการณ์งานอดิเรกในวันว่าง และในกรณีที่อาการหนักมากๆแนะนำให้ปรึกษาช่างผู้ชำนาญจะดีกว่า
เมื่อเพาเวอร์แอมป์ไม่ทำงาน
-ตรวจสอบสายไฟรีโมทเข้าแอมป์ (Remote turn on) ว่ามีแรงดันไฟหรือไม่ (ปกติเมื่อเปิดเครื่องเล่นในรถ จะส่งกำลังไฟระดับหนึ่ง ประมาณ 5 โวลท์ขึ้นไป มาตามสายไฟนี้)
-ตรวจสอบความสมบูรณ์ของสายไฟกราวน์ (ว่าลงกราวน์แน่นหนาดีอยู่ หรือสายไฟกราวน์ขาดในหรือไม่)
-ตรวจสอบสายไฟแรงดันเข้าแอมป์ (Power) ว่ามีแรงดันไฟเฉลี่ยที่ 12 โวลท์หรือไม่ในขณะไม่สตาร์ทเครื่องยนต์ และเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ จะได้แรงดันไฟเฉลี่ยที่ 14.4 โวลท์
-ถ้าตรวจสายไฟเข้าแอมป์ทุกเส้นมีไฟครบ ให้ลองเช็ค “ฟิวส์” ประจำตัวเครื่อง(ถ้ามี)ดูว่า ขาดหรือไม่ โดยใช้มัลติมิเตอร์วัดไฟที่จุดเข้า-ออกของฟิวส์
-หากสายไฟมีไฟครบ, ลงกราวน์เรียบร้อย และฟิวส์ไม่ขาด น่าจะเป็นปัญหาหลักที่วงจรภายในเครื่อง ต้องส่งศูนย์
ไฟเตือนระบบป้องกันเครื่อง ติดสว่าง
-ลองปลดสายลำโพงเส้นบวกทุกแชนแนลออกจากขั้ว ถ้าหากไฟเตือนดับลง ให้ตรวจสอบอิมพีแดนซ์ของลำโพงทุกตัวว่ายังคงมีอิมพีแดนซ์เฉลี่ยที่ 4 โอห์มหรือไม่ หรือมีการลัดวงจรลงกราวน์ในสายลำโพง โดยทำการตรวจเช็คที่ปลายสายลำโพงด้านที่จะเข้าขั้วเพาเวอร์แอมป์ วัดสายลำโพงเส้นบวกเทียบกับกราวน์รถ
-กรณีที่ปลดสายลำโพงเส้นบวกออกแล้ว ไฟเดือนยังคงติดสว่างอยู่ แสดงปัญหาน่าจะมาจากส่วนของสายนำสัญญาณ RCA หรือที่เครื่องเล่นหลักส่วนหน้า อาทิเช่น มีการลัดวงจรถึงกันภายในสาย(ระหว่างเส้นนำสัญญาณกับเส้นกราวน์หรือชีล) ลองหาสายนำสัญญาณ RCA เส้นใหม่เดินแทน ถ้าไฟเตือนดับลง แสดงว่าปัญหาอยู่ที่สายนำสัญญาณ RCA
ไฟเดือนการ Clip ติดสว่าง
-สิ่งแรกต้องตรวจสอบว่าเพาเวอร์แอมป์มีกำลังขับเพียงพอที่จะขับดอกลำโพง โดยเฉพาะดอกวูฟเฟอร์หรือซับวูฟเฟอร์ ถ้ามั่นใจว่ามีกำลังขับเพียงพอ ให้ลองปลดสายลำโพงเส้นบวกออก โดยยังคงเสียบสายนำสัญญาณ RCA, ไฟแรงดันหลัก และไฟกราวน์ ไว้เหมือนเดิม ถ้าไฟเตือนดังกล่าวดับลง แสดงว่าสายลำโพงหรือวอยซ์คอยล์ในดอกลำโพงอาจเกิดการลัดวงจร
-ถ้าไฟเตือนการ Clip ยังติดสว่างอยู่ เมื่อปลดสายลำโพงเส้นบวกออกแล้ว ให้ลองตรวจสอบความแน่นหนาหรือมั่นคงในตำแหน่งลงกราวน์ตัวถังรถของสายไฟกราวน์ ทั้งที่ตัวเพาเวอร์แอมป์เอง และอุปกรณ์ส่วนหน้าอื่นๆ
ไม่มีเสียง
-ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเพาเวอร์แอมป์ได้รับไฟรีโมทเปิดเครื่อง ถ้าไม่มี ให้ดูที่ “เมื่อเพาเวอร์แอมป์ไม่ทำงาน”
-ถ้าเพาเวอร์แอมป์ทำงานปกติ แต่ยังคงไม่มีเสียง ให้ตรวจสอบเครื่องเล่นส่วนหน้าหลักของระบบ
-เพื่อความมั่นใจ ให้ลองใช้สายนำสัญญาณ RCA เส้นใหม่ เดินตรงจากเครื่องเล่นส่วนหน้ามายังเพาเวอร์แอมป์โดยตรง ถ้าเพาเวอร์แอมป์มีเสียง แสดงว่ามีปัญหาที่สายนำสัญญาณ RCA เดิมของระบบ
-ถ้าหากยังไม่ปรากฏเสียงอีก ให้ลองใช้ดอกลำโพงใหม่ภายนอก ต่อเข้าที่ขั้วลำโพงของเพาเวอร์แอมป์แทนสายลำโพงเดิม ถ้ามีเสียงแสดงว่าดอกลำโพงมีปัญหา
-นอกจากนี้ต้องลองตรวจสอบปุ่มปรับตั้งต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของปุ่มครอสโอเวอร์ ว่าตั้งค่าผ่านความถี่ไว้ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ปุ่มปรับตั้ง Slave/Master (ถ้ามี) ได้ปรับไว้ถูกต้องหรือไม่
เกิดความเพี้ยน, มีเสียงรบกวนฉากหลัง, เสียงแตก หรือเสียงหอนในลำโพง
-ขั้นแรกให้ตรวจสอบว่าสายนำสัญญาณและสายลำโพง ถูกเดินหรือเขยิบเข้าใกล้สายไฟหลักและสายไฟกราวน์ของระบบหรือไม่ ถ้าหากเดินขนานกันในระยะที่ใกล้เกินไป ก็ทำให้เกิดเสียงดังกล่าวขึ้นได้
-ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์ ให้ลองปลดสายลำโพงออกจากขั้วเพาเวอร์แอมป์ แล้วเสียงรบกวนดังกล่าวหายไป แสดงว่าเป็นปัญหาในเรื่องการปรับตั้ง “เลเวล-แมทชิ่ง” ของระบบ
-แต่หากยังมีเสียงรบกวนดังกล่าวปรากฏอยู่ (แม้ปลดสายลำโพงออกแล้ว) ให้ตรวจสอบงานการลงไฟกราวน์ที่เพาเวอร์แอมป์ว่ายังมีความมั่นคงสมบูรณ์อยู่หรือไม่
-หากตรวจสอบทุกอย่างแล้วเป็นปกติ แต่มีเสียงรบกวนอยู่ ให้ลองตรวจสอบต้นทางของสัญญาณ ทั้งจากเครื่องเล่นส่วนหน้าและอุปกรณ์ต่อผ่านอื่นๆก่อนเข้าเพาเวอร์แอมป์ ว่าอุปกรณ์ใดกันแน่ที่เป็นต้นเหตุของเสียงรบกวนดังกล่าว (งานนี้ต้องเข้าศูนย์ ทำเองอาจยุ่งยาก)
เสียงซับวูฟเฟอร์ระรัว หรือเสียงวอยซ์คอยล์กระทบแม่เหล็ก
-ก่อนอื่นต้องแน่ใจว่า ตู้ซับฯที่บรรจุ มีการออกแบบตาม T/S parameter ของดอกซับฯนั้นๆ ตรวจสอบการเดินวงจรชุดสายลำโพงว่ามีอิมพีแดนซ์ปลายสายก่อนเข้าเพาเวอร์แอมป์ถูกต้อง (อาจใช้มัลติมิเตอร์วัดปลายสายลำโพงเพื่อความถูกต้อง)
-นอกจากนี้ยังต้องให้มั่นใจว่า ตู้ซับฯที่ใช้ ไม่มีอากาศรั่วไหล(แม้ว่าจะเป็นตู้แบบเปิด มีท่อระบายเบสก็ตาม) เพราะตู้ซับฯที่มีอากาศรั่วได้ ทำให้ปริมาตรกักเก็บอากาศภายในไม่เป็นไปตามที่ดอกซับฯต้องการ
-ตรวจสอบกำลังขับของเพาเวอร์แอมป์ อย่าให้มากเกินความสามารถรองรับได้ของดอกซับฯ กรณีที่กำลังขับของแอมป์มากกว่าดอกซับฯมากๆ ให้ปรับเกนให้ต่ำลงจนได้จุดที่พอดี
-ตรวจสอบว่าไม่ได้ทำการเพิ่มเฉพาะเสียงเบสมากเกินไป (ปรับปุ่ม Bass Boost มากเกินพอดี) ให้ลองลดระดับดู หากเสียงต่างๆหายไปแสดงว่าปรับมากเกิน
-กรณีที่เพาเวอร์แอมป์มีขนาดพอเหมาะกับดอกซับฯ แต่ได้ยินเสียงเพี้ยนๆจากดอกซับฯ อาจลองขยายปริมาตรการกักเก็บอากาศในตู้ซับฯ โดยการบรรจุใยโพลี่ฟิลเข้าไปภายในตู้ ซึ่งใยโพลี่ฟิลนี้จะไปหลอกให้อากาศภายในตู้ซับฯเดินทางข้าลง (เสมือนตู้ซับฯใบใหญ่ขึ้น)
เพาเวอร์แอมป์ร้อนผิดปกติ
-ตรวจสอบรูปแบบงานติดตั้ง เพื่อดูว่าเพาเวอร์แอมป์มีการติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถระบายความร้อนได้หรือไม่ เพราะนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เพาเวอร์แอมป์ร้อนผิดปกติ
-ตรวจสอบการเดินวงจรของชุดสายลำโพง (กรณีต่อซับฯหลายวอยซ์คอยล์และหลายๆดอก) ว่าปลายสายลำโพงด้านที่เข้าขั้วเพาเวอร์แอมป์ มีอิมพีแดนซ์ตามความสามารถของเพาเวอร์แอมป์หรือไม่
-ตรวจสอบแรงดันไฟหลักเข้าเพาเวอร์แอมป์ ถ้าแรงดันไฟต่ำกว่า 12 โวลท์ ภาคแปลงแรงดันไฟในเพาเวอร์แอมป์มักจะทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้มีความร้อนเกินปกติ
-ตรวจสอบความต้านทานในการลงกราวน์ หากสายไฟกราวน์มีความต้านทานภายในสูง ก็ส่งผลให้กระแสไหลไม่สะดวก ทำให้ภาคแปลงแรงดันไฟในเพาเวอร์แอมป์ทำงานหนัก
เอาเฉพาะการวิเคราะห์/แก้ไขเบื้องต้นไปนะครับ ที่หนักหนาสาหัสกว่านี้ควรให้ผู้เชียวชาญหรือผู้มีความชำนาญทำหน้าที่ตรวจแก้ไขจะดีกว่า