ลำดับขั้นการแก้ปัญหา เสียงรบกวนที่เป็นเสียงแหลมย่านสูง ซึ่งเปลี่ยนรูปเสียงไปตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์
- วันที่: 21/02/2015 15:50
- จำนวนคนเข้าชม: 7112
เป็นผลมาจากมาตรฐานของงานติดตั้งระบบเสียงรถยนต์ ถ้ามีเสียงรบกวนบางอย่างเกิดขึ้นหลังจากการติดตั้งแล้วเสร็จ ให้ทำตามลำดับขั้นต่อไปนี้อย่างระมัดระวัง ในกรณีที่ระบบมีเพาเวอร์แอมป์มากกว่าหนึ่งเครื่อง ให้ทำซ้ำในลำดับขั้นที่ 1 กับเพาเวอร์แอมป์แต่ละเครื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ามันไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนที่ว่านี้ขึ้นมา
ลำดับขั้นที่ 1 ตรวจสอบเพาเวอร์แอมป์
หลังจากได้ตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่ามีเสียงรบกวนเกิดขึ้นภายในระบบเสียง ให้ทำการวิเคราะห์เพื่อให้มั่นใจว่าเพาเวอร์แอมป์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของเสียงรบกวน โดยกระทำการดังนี้คือ จัดการปิดสัญญาณทางฝั่งขาเข้า(input)ของเพาเวอร์แอมป์ โดยใช้หัวแจ๊คที่เชื่อมเส้นสัญญาณกับกราวด์ภายในเสียบเข้าที่ขั้ว RCA ถ้าหากไม่มีเสียงรบกวนเกิดขึ้น(เปิดเพาเวอร์แอมป์ด้วยไฟรีโมทปกติ) แสดงว่าเพาเวอร์แอมป์ไม่ใช่ปัญหา ให้ข้ามไปตรวจวิเคราะห์ในลำดับขั้นที่ 2 ถัดไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าในขั้นตอนนี้ยังมีเสียงรบกวนปรากฏอยู่ ให้ใช้ลำโพงทดสอบภายนอกต่อเข้ากับขั้วขาออกของเพาเวอร์แอมป์แทน ถ้าเสียงรบกวนดังกล่าวหายไป แสดงว่าปัญหาเบื้องต้นอาจจะมาจากสายลำโพง หรือพาสซีฟครอสโอเวอร์ ตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของสายลำโพงแตะสัมผัสกับตัวถังรถ(กราวด์) และย้อนไปตรวจสอบในลำดับขั้นที่ 1 ใหม่ ในการนี้ถ้าหากเสียงรบกวนยังคงปรากฏอยู่เมื่อใช้ลำโพงทดสอบภายนอกต่อที่ขั้ว ปัญหาอาจจะเกิดจากภาคจ่ายไฟภายในตัวเพาเวอร์แอมป์เอง ลองพยายามต่อภาคจ่ายไฟในแบบกราวด์อิสระดูอีกครั้ง ถ้ายังไม่สามารถขจัดเสียงรบกวนนี้ออกไปได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังกับความบกพร่องของเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น และ/หรือควรสับเปลี่ยนเพาเวอร์แอมป์ตัวใหม่มาใช้แทน ถ้าเสียงรบกวนดังกล่าวหายไป ก็แสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจ่ายไฟ, การกรองกระแสให้เรียบ หรือการกราวด์อิสระในระบบ ที่สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนจุดลงกราวด์ของแอมป์ใหม่ หรือต่อเพิ่มอุปกรณ์กรองกระแสไฟให้เรียบสนิทมากยิ่งขึ้น
ลำดับขั้นที่ 2 การลดทอนระบบ
เมื่อเพาเวอร์แอมป์ในระบบปราศจากปัญหาเรื่องเสียงรบกวนแล้ว แสดงว่าอุปกรณ์จัดการเสียงที่ต่ออยู่ระหว่างเฮดยูนิทและเพาเวอร์แอมป์อาจเป็นตัวปัญหา ให้ถอดการเชื่อมต่อออกและทำการเชื่อมต่อโดยตรงจากเฮดยูนิทไปยังเพาเวอร์แอมป์ (หรือใช้ตัวต่อเมีย-เมีย ต่อบายพาสสัญญาณ RCA) ถ้าการทำเช่นนี้สามารถกำจัดเสียงรบกวนให้หายไป แสดงว่าหนึ่งในหลายๆอุปกรณ์การจัดการเสียงเป็นต้นเหตุของเสียงรบกวน สามารถข้ามไปทำลำดับขั้นที่ 5 ต่อไป
ถ้าเสียงรบกวนไม่หายไป ให้ลองพยายามเดินสายสัญญาณเสริมเส้นใหม่ ในเส้นทางต่างๆกัน เช่นผ่านกลางรถ, ลอดใต้เก้าอี้ ฯลฯ ถ้าหากพบว่าเส้นทางใดไม่ทำให้เกิดเสียงรบกวน ก็ให้เดินสายสัญญาณเส้นต่างๆในเส้นทางเดียวกันนั้น และข้ามไปทำลำดับขั้นที่ 5 ต่อไป
ถ้ายังไม่หาย ให้ลองทำการต่อกราวด์อิสระให้กับตัวเฮดยูนิท โดยไม่ต่อสายกราวด์ลงตัวถังรถ(ถอดสายกราวด์ที่เฮดยูนิทออก!) และต้องไม่ลืมที่จะถอดหัวแจ๊คสายอากาศออกด้วย ถ้าหากพบว่ามันยังสามารถต่อกราวด์เข้ากับตัวถังรถได้อยู่ รวมถึงไม่สามารถขจัดเสียงรบกวนได้ ให้ลองย้ายจุดลงกราวด์ที่ตัวเฮดยูนิทไปยังตำแหน่งที่สมบูรณ์กว่าเดิม ซึ่งก็หวังว่าถึงตอนนี้เสียงรบกวนน่าจะถูกขจัดออกไป และคุณสามารถข้ามไปทำลำดับขั้นที่ 5 ได้ต่อไป หรือไม่เช่นนั้นก็ทำต่อด้วยลำดับขั้นที่ 3
ลำดับขั้นที่ 3 ลองย้ายตำแหน่งเฮดยูนิท
ในเมื่อเพาเวอร์แอมป์ไม่ใช่ปัญหา แต่การย้ายตำแหน่งกราวด์ของเฮดยูนิท และเปลี่ยนเส้นทางเดินสายสัญญาณไม่สามารถแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนนี้ได้ ให้ถอดตัวเฮดยูนิทออกจากช่องแผงหน้าปัด และนำไปวางไว้บนเบาะที่นั่งหรือบนพื้นพรมของรถ และเดินสายสัญญาณเส้นใหม่ตรงไปยังเพาเวอร์แอมป์ ถ้าการทำเช่นนี้สามารถขจัดเสียงรบกวนได้ ให้หาตำแหน่งติดตั้งตัวเฮดยูนิทใหม่ หรือป้องกันตัวถังเครื่องสัมผัสกับกราวด์ของรถ และต่อระบบให้ถูกต้องแล้วข้ามไปลำดับขั้นที่ 5
แต่ถ้าเสียงรบกวนยังคงอยู่ ให้ลองย้ายตัวเฮดยูนิทไปวางไว้ใกล้ๆกับเพาเวอร์แอมป์มากที่สุด และใช้สายสัญญาณเส้นใหม่ที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่าสายสัญญาณไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาเสียงรบกวน ถ้าหากเสียงรบกวนหายไป แสดงว่าเสียงรบกวนเข้าทางสายสัญญาณ อาจต้องใช้สายใหม่ที่มีคุณสมบัติดีกว่า จากนั้นประกอบระบบให้เรียบร้อยเพื่อข้ามไปยังลำดับขั้นที่ 5 ต่อไป
นอกจากนั้นหากปัญหาดังกล่าวยังปรากฏอยู่ ให้ลองใช้ตัวกรองแรงดันไฟต่อเข้าที่ตัวเฮดยูนิท คล้ายกับการทำที่เพาเวอร์แอมป์ ถ้าเสียงรบกวนดังกล่าวหายไป คุณสามารถเพิ่มตัวกรองภาคจ่ายไฟให้กับระบบ แล้วย้อนกลับไปตรวจลำดับขั้นที่ 2 ใหม่
แต่ถ้าหากการจ่ายไฟผ่านตัวกรองยังไม่สามารถขจัดปัญหาได้ นั่นแสดงว่าคุณควรเลือกที่จะลองสับเปลี่ยนเฮดยูนิทตัวใหม่ และย้อนไปตรวจลำดับขั้นที่ 2 หรือตรวจสอบระบบไฟฟ้าของรถยนต์ในลำดับขั้นที่ 4
ลำดับขั้นที่ 4 การทดสอบระบบไฟรถ
เมื่อไม่พบปัญหาในการเชื่อมต่อระหว่างเฮดยูนิทกับเพาเวอร์แอมป์ นั่นอาจเป็นที่ระบบประจุไฟแบตเตอรี่ของรถ ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ให้กระทำการในลักษณะนี้ คือ ให้ใช้แบตเตอรี่ลูกใหม่ที่มีการประจุไฟเต็ม มาต่อร่วมเข้ากับแบตเตอรี่เดิมประจำรถด้วยสายขั้วบวก/ลบขนาดที่เหมาะสม จากนั้นให้สตาร์ทเครื่องยนต์และฟังดูว่าเสียงรบกวนดังกล่าวหายไปหรือไม่ ถ้าเสียงรบกวนที่ว่ายังปรากฏอยู่เหมือนเดิม ถือว่ามีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับระบบไฟในรถของคุณอย่างหนัก(เป็นไปได้ว่าอัลเทอเนเตอร์หรือไดชาร์จบกพร่อง!) ต้องใช้การตรวจสอบทางเทคนิคกับระบบประจุไฟแบตเตอรี่
แต่ถ้าไม่มีเสียงรบกวนเกิดขึ้นอีกแล้ว ให้ทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ แล้วข้ามไปทำในลำดับขั้นที่ 5 ได้ต่อไป
ลำดับขั้นที่ 5 การเพิ่มอุปกรณ์จัดการเสียง
เมื่อเราได้ทำการปกป้องเพาเวอร์แอมป์อย่างดีจากเสียงรบกวน, เฮดยูนิทก็ดีไม่มีเสียงรบกวน และระบบไฟของรถก็อยู่ในขั้นสมบูรณ์ ถึงตอนนี้หากเราต้องการจะต่อเพิ่มอุปกรณ์จัดการเสียงเข้าไปใหม่ ให้ย้อนกลับไปต่ออุปกรณ์จัดการเสียงต่างๆ(ปรีแอมป์, ครอสฯ)เข้ากับระบบเสียงอย่างเดิม ถ้าหากเมื่อต่ออุปกรณ์จัดการเสียงดังกล่าวเข้าไปแล้วไม่ปรากฏเสียงรบกวนอีกเลย คุณก็แสดงความยินดีให้กับตัวเองได้เลยครับ กับความสามารถในการขจัดเสียงรบกวนออกไปจากระบบได้แล้ว
แต่หากเมื่อต่ออุปกรณ์จัดการเสียงเข้าไปแล้วมีเสียงรบกวนมาเยือนอีก ให้ลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินสายสัญญาณ หรือเชื่อมต่อข้ามไปยังอุปกรณ์จัดการเสียงตัวถัดไป(ถ้ามี) เพื่อวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์จัดการเสียงตัวใดที่เป็นปัญหา ถ้ายังไม่หายก็ให้ลองกระทำการต่อกราวด์อิสระ หรือย้ายจุดกราวด์จากเดิมไปรวมกันในที่เดียวกันกับเฮดยูนิท หรือเพาเวอร์แอมป์(ขึ้นอยู่กับว่าใกล้จุดไหนมากกว่ากัน) ถ้าสัมฤทธิ์ผลก็ให้ทำการต่อกราวด์อิสระ หรือเชื่อมกราวด์ในตำแหน่งนั้นๆ แต่ถ้าการต่อกราวด์อิสระยังไม่ช่วยอะไรให้ข้ามไปใช้ลำดับขั้นที่ 6 ต่อไป
ลำดับขั้นที่ 6 การทดสอบด้วยกระบวนการกราวด์อิสระ
ตอนนี้ เสียงรบกวนหลุดลอดเข้ามาในระบบเมื่อทำการติดตั้งอุปกรณ์จัดการเสียง และการลงกราวด์ใหม่ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ให้ลองย้ายอุปกรณ์จัดการเสียงนั้นให้เข้าใกล้เพาเวอร์แอมป์มากที่สุด และตรวจสอบเรื่องเสียงรบกวนอีกครั้ง ซึ่งถ้าเสียงรบกวนหายไป ก็ให้หาทางเดินสายสัญญาณในแนวทางที่หลีกพ้นเสียงรบกวน และทำต่อเนื่องในลำดับขั้นที่ 5 ได้ต่อไปกับอุปกรณ์จัดการเสียงตัวถัดไป(ถ้ามี)
นอกจากนั้นอาจใช้การจ่ายไฟแบบกราวด์อิสระไปยังอุปกรณ์จัดการเสียง ซึ่งต้องมั่นใจว่าไม่มีส่วนใดของอุปกรณ์แตะสัมผัสกับกราวด์ของตัวถังรถ ถ้าการกระทำเช่นนี้สามารถขจัดปัญหาได้ ให้พิจารณาติดตั้งภาคจ่ายไฟแบบกราวด์อิสระเอาไว้อย่างถาวร หรือทรานฟอร์เมอร์ในอัตรา 1:1 และย้อนกลับไปทำลำดับขั้นที่ 5 ในอุปกรณ์จัดการเสียงตัวต่อไป
สุดท้าย ให้ลองแยกภาคจ่ายไฟเข้าตัวอุปกรณ์จัดการเสียงต่างหาก(ใช้แบตเตอรี่แยกตัวใหม่ หรือภาคจ่ายไฟแยก) เพื่อตรวจสอบ ถ้าหากยังคงมีเสียงรบกวนอยู่ แสดงว่ามีปัญหาอย่างหนักกับการออกแบบอุปกรณ์จัดการเสียงตัวนั้นๆ หรือเกิดความบกพร่องภายใน ให้เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์จัดการเสียงตัวใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า และทำในลำดับขั้นที่ 5 ต่อไป