• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

เป้าประสงค์ ในการปรับตั้งคุณภาพเสียง

  • วันที่: 08/11/2014 15:56
  • จำนวนคนเข้าชม: 7738

ในการใช้งาน “ระบบเสียงในบ้าน” เพียงการคัดเลือกองค์ประกอบของระบบที่มีคุณภาพ ทั้งจากอุปกรณ์ต้นกำเนิดเสียง(รีซีฟเวอร์หรือเครื่องเล่นบลูเรย์), เพาเวอร์แอมป์ และชุดลำโพง ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ได้มาสำหรับระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง เพราะปัจจัยสำคัญในการใช้งานระบบเสียงในบ้าน ก็คือ “ห้องฟังเพลง” ที่มักจะออกแบบให้มีสภาพเป็นกลางทางเสียงได้ง่ายกว่าอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆก็คือนักเล่นระบบเสียงบ้าน มักจะ “สร้างห้อง” มาให้เหมาะกับการฟังเพลง รวมทั้งตำแหน่งจัดวาง “ลำโพง” ก็จะเป็นไปอย่างถูกต้องกับหลักทางสภาพอคูสติคของเสียง

ผิดกับ “ระบบเสียงในรถยนต์” ที่ไม่สามารถ “สร้างห้อง” ให้มีสภาพเป็นกลางทางคุณภาพเสียงได้เหมือนระบบเสียงในบ้าน และตำแหน่งการจัดวางลำโพงก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักทางสภาพอคูสติคของเสียง การปรับตั้งเสียงในระบบเสียงรถยนต์ จึงมีนัยสำคัญสูงกว่าการปรับตั้งเสียงในระบบเสียงบ้าน ดังนั้นการออกแบบ/ติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์โดยไร้ซึ่ง “การปรับตั้งเสียง” จึงมักได้คุณภาพเสียงในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน(แต่ก็สามารถฟังเป็นเพลงได้ และไพเราะด้วย)

นอกจากนั้นแล้ว แนวเส้นการตอบสนองความถี่เสียงสำหรับระบบเสียงในรถยนต์ ก็จะแตกต่างไปจากแนวเส้นการตอบสนองความถี่เสียงของระบบเสียงในบ้าน โดยเฉพาะในส่วนของช่วงความถี่ตั้งแต่ 200Hz ลงมาจนถึง 31.5Hz นั้น จะต้องมีการตอบสนองในปริมาณความดังที่มากกว่าช่วงความถี่ตั้งแต่ 200Hz ขึ้นไปจนถึง 12.5kHz หรือ 18kHz ด้วยเหตุผลของเคบิ้น-เกนในห้องโดยสารรถยนต์ และการเอาชนะเสียงรบกวนแวดล้อมที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารรถยนต์ ที่มักอยู่ในช่วงความถี่ย่านต่ำๆ อาทิ เสียงลมวนใต้ท้องรถ, เสียงก้องสะท้อนของปล่องท่อไอเสีย รวมไปถึงเสียงลมปะทะตัวถังรถในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วค่อนข้างสูง (เกินกว่า 80 กม/ชม ขึ้นไป)

โดยหลักมาตรฐาน เสียงในช่วงความถี่ตั้งแต่ 200Hz ลงไปถึง 31.5Hz ในระบบเสียงรถยนต์ มักจะมีระดับความดังเสียงที่อยู่สูงกว่าประมาณ 6dB (กรณีที่ช่วงความถี่ 200 Hz ถึง 18kHz อยู่ที่ระดับ 0 dB) อาทิเช่น ถ้าฟังความดังของเสียงเพลงมาตรฐานที่ 90dB ช่วงความถี่ 200Hz ถึง 31.5Hz ก็ควรมีระดับความดังซัก 96dB

แต่ข้อสำคัญที่ยังคงอ้างอิงกับระบบเสียงในบ้านอยู่นั่นก็คือ ความสม่ำเสมอของแนวเส้นการตอบสนองความถี่ ทั้งในช่วง 31.5Hz ถึง 200Hz และช่วง 200Hz ถึง 18kHz หรือในภาษาทางการที่มักพูดกันว่า “แฟลทเรสปอน” โดยเฉพาะช่วง 200Hz ถึง 18kHz นั้นสำคัญยิ่ง ซึ่งเดี๋ยวเราจะบอกกล่าวกันต่อไปว่าสำคัญอย่างไร

เป้าประสงค์คือพื้นที่ปรากฏเสียง

ในการออกแบบและติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์นั้น เรามักต้องการให้เสียงเพลง/เสียงดนตรี มีการแสดงออกหรือปรากฏอยู่ตรงบริเวณกระจกหน้ารถ และมีพื้นที่เวทีเสียง(ความลึก)อยู่ตรงบริเวณรอยต่อกระจกหน้ากับขอบฝากระโปรงหน้ารถ เพราะนี่คือ พื้นที่เสียงมาตรฐานของระบบเสียงไฮเอ็นด์ในรถยนต์ และเป็นนิยามที่แท้จริงของ “ระบบเสียงรถยนต์ไฮเอ็นด์” ไม่ใช่ที่เรื่องของ “สนนราคาค่าตัวอุปกรณ์” ว่าจะต้องแพงระดับแสนระดับล้าน ซึ่งสำหรับผู้ใช้ทั้งหลายทั่วไปหากต้องการค้นหาความเป็นแท้จริงในเรื่องนี้ ก็สามารถใช้แค่ “กลวิธีในการรับฟัง” ในการพิสูจน์ระบบที่อวดอ้างทั้งหลายนั้นได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้สมองซีกใดไตร่ตรองให้วุ่นวาย ถ้าหากเสียงที่ได้รับฟังนั้นปรากฏอยู่บนกระจกหน้ารถ และมีพื้นที่เวทีเสียงอยู่บริเวณรอยต่อกระจกหน้ากับขอบฝากระโปรงหน้ารถ ระบบนั้นไม่ว่าจะถูกแค่หลักเหมือนหลักแสนหรือแพงระดับล้านปานใด ก็จะเป็น “ระบบเสียงไฮเอ็นด์” อย่างแท้จริง

ระบบเสียงที่ติดตั้งมากับรถจากโรงงาน หรือการติดตั้งระบบเสียงแบบพื้นฐานโดยไม่มีการปรับตั้งเสียงใดๆ แม้ว่าจะได้มีการบูสหรือเพิ่มเฉพาะเสียงเบสจากภาคปรับตั้งเสียงในอุปกรณ์อยู่บ้างแล้ว ก็จะยังคงได้สภาพของแนวเส้นการตอบสนองความถี่ที่ไม่สม่ำเสมอ แม้ว่าเสียงเพลงหรือเสียงดนตรีนั้นจะฟังได้ไพเราะระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ของคำว่า “คุณภาพ” นั่นคือเหตุผลของการ “ปรับปรุง” หรือ “เปลี่ยนแปลง” สำหรับผู้ใช้รถที่ต้องการไปถึงการฟังเสียงเพลง/เสียงดนตรีอย่าง “มีคุณภาพ”

การเลือกซื้อหรือติดตั้งชุดลำโพงใหม่ลงไปทดแทน พอมีส่วนช่วยให้ได้คุณภาพเสียงเพิ่มมาในเรื่องของ “ความไพเราะ” โดยเฉพาะในย่านเสียงด้านสูง (แถวๆ 8kHz ถึง 18kHz) ที่ฟังดูสดใส กริ๊งกร๊าง ขึ้นกว่าเดิม และย่านเสียงด้านต่ำ (แถวๆ 80Hz ถึง 120Hz) ที่ฟังดูเหมือนมีไดนามิค ตึกตั๊ก ตูมๆ มากขึ้น หากแต่สภาพเสียงโดยรวมก็ยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิมจนเรียกขานได้ว่า “คุณภาพ” แต่ก็ดีกว่าของติดมาจากโรงงานรถ(บ้างยี่ห้อ)

การที่จะให้ได้มาซึ่ง “คุณภาพเสียง” แต่ยังไม่ไปถึงขั้น “ไฮเอ็นด์” ก็มักจะต้องผสานเข้ากับการเปลี่ยนแปลงเฮดยูนิทหรือใช้อุปกรณ์ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเฮดยูนิท(กรณีที่เปลี่ยนกับรถโรงงานไม่ได้) รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยกำลังขับเสียง(อาทิเช่น เพาเวอร์แอมป์ และชุดซับวูฟเฟอร์) ก็จะทำให้เสียงเพลง/เสียงดนตรีที่ได้ยิน มีความสมบูรณ์ทางกายภาพเสียง หรือสามารถถ่ายทอดเนื้อดนตรีที่ได้รับการบันทึกมานั้นอย่างถูกต้อง เสมือนจริง

ความต่างของระดับชั้นคุณภาพเสียงในรถยนต์

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านเริ่มมีความคิดในใจกับคำถามที่ว่า แล้วจะบ่งบอกความต่างของระดับชั้นคุณภาพเสียงในรถยนต์ได้อย่างไร ว่าระบบนี้เป็นระบบมาตรฐาน ระบบนี้เป็นระบบเสียงคุณภาพ หรือระบบไหนมีคุณภาพเสียงระดับไฮเอ็นด์

คำตอบไม่ใช่เรื่องของ “มูลค่าระบบ” ว่าระบบหลักล้านหรือระบบหลักแสนหรือระบบหลักหมื่น เพราะนั่นเป็นเรื่องของ “ไฮโซ” ไม่ใช่ “ไฮเอ็นด์” การวิเคราะห์หรือประเมินศักยภาพของระบบเสียงในรถยนต์ เราจะใช้ตำแหน่งปรากฏของเสียงในห้องโดยสาร ด้วยการนั่งวิเคราะห์บนเบาะที่นั่งคนขับหรือที่นั่งผู้โดยสารตอนหน้าเป็นหลัก นั่นคือ หากพื้นที่เสียงปรากฏของเสียงด้านซ้ายและด้านขวา อยู่ในระดับพื้นที่เสียงที่ต่ำกว่าคอนโซลหรือพวงมาลัยรถ อย่างนี้มักเป็น “ระบบเสียงขั้นพื้นฐาน” แต่ถ้าหากระดับพื้นที่เสียงอยู่เคียงกันหรือกึ่งกลางคอนโซลหรือพวงมาลัยรถ อย่างนี้ก็จะเป็น “ระบบเสียงขั้นคุณภาพ” และถ้าหากระดับพื้นที่เสียงของเสียงทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ปรากฏอยู่ในระดับพื้นที่เสียงบนคอนโซลหรือเหนือพวงมาลัยรถขึ้นไป ระบบเสียงเหล่านี้มักเข้าเกณฑ์ของ “ระบบเสียงคุณภาพไฮเอ็นด์” และถ้าหากเป็น “ระบบเสียงคุณภาพซุปเปอร์ไฮเอ็นด์” ก็จะมีพื้นที่เสียงของเสียงทั้งด้านซ้ายและด้านขวาปรากฏอยู่บนกระจกหน้ารถ ในระดับเดียวกับที่สายตามองเห็น(เมื่อนั่งขับรถในลักษณะปกติ) และมีพื้นที่เวทีเสียงล้ำออกไปนอกกระจกหรือบริเวณฝากระโปรงหน้ารถ (ค่อนข้างทำได้ยาก แต่ก็เป็นเป้าหมายของนักออกแบบ/ติดตั้งระบบเสียงรถยนต์ ที่ต้องการไปให้ถึงซึ่งฝั่งฝัน และซักวันหนึ่งก็น่าจะประสบความสำเร็จ)

ยกระดับพื้นที่เสียงด้วย “แฟลทเรสปอน” (200Hz – 18kHz)

ประเด็นสำคัญในอันที่จะทำให้ตำแหน่งปรากฏของเสียง ทั้งลำโพงด้านซ้ายและลำโพงด้านขวา เลื่อนจากบริเวณใต้พวงมาลัยขึ้นไปอยู่บนคอนโซลหรือบริเวณกระจกหน้ารถ ก็คือการทำให้แนวเส้นการตอบสนองความถี่เสียง ของช่วงเสียงจาก 200Hz ถึง 18kHz มีความสม่ำเสมอทัดเทียมกันมากที่สุด ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำกันน้อยมากเท่าไหร่ เสียงก็จะยกตัวลอยขึ้นแม้ว่าจะติดตั้งลำโพงกลางแหลมไว้ที่ตำแหน่ง kick panel หรือบานประตูก็ตามที

แน่นอนครับว่า อุปกรณ์ปรับตั้งเสียงในจำพวกปรีแอมป์ คงเป็นการยากที่จะปฏิบัติงานทางด้านนี้ได้อย่างสมบูรณ์ อุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ต้องเป็น “อีควอไลเซอร์” ที่เป็นมาตรฐาน 1/3 ออคเตป หรืออีคิวที่มีแบนด์มากกว่า 29 แบนด์ขึ้นไป

และ...นี่คือคำตอบ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยว่าทำไมเราถึงต้องมี “การปรับตั้งเสียง” เพราะการปรับตั้งเสียงเป็นแนวทางหลักในการไปถึงซึ่ง “คุณภาพเสียงไฮเอ็นด์” หรือ “คุณภาพเสียงซุปเปอร์ไฮเอ็นด์” ทั้งการปรับตั้งแนวเส้นการตอบสนองความถี่, การปรับตั้งจุดตัดความถี่ที่ลงตัวในระบบมัลติแอมป์, การปรับตั้งเลเวล-แมทชิ่งเพื่อให้ได้รูปแบบการตอบสนองความถี่ ที่เหมาะสมกับสภาพห้องโดยสารของรถยนต์ที่นำมาใช้ฟังเพลง