เคล็ดลับการทำความสะอาดให้กับระบบเสียงรถยนต์!
- วันที่: 06/09/2014 16:55
- จำนวนคนเข้าชม: 9260
หัว RCA และจุดต่อเชื่อมทั้งหลาย
โดยทั่วไปหัว RCA และจุดต่อเชื่อมทั้งหลาย เมื่อใช้ไปนานๆมักถูกกัดกร่อน, หรือเกิดความชื้น, หรือสกปรก ซึ่งเราสามารถดูแลได้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ก่อนอื่นแนะนำให้ทำการตรวจสอบจุดเชื่อม RCA อย่างน้อยปีละครั้ง โดยเริ่มจากการถอดหัว RCA ออกมาดูสภาพรอบในของหัว ใช้ไม้หัวสำลี (ที่ปกติใช้ “ปั่นหู” ...นั่นละ) จุ่มลงใน “เอทิลแอลกอฮอลล์” หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ 98 % แล้วเช็ดทำความสะอาดรอบๆหัว RCA (ทั้งด้านใน/ด้านนอก) ก่อนจะเสียบกลับเข้าไปที่เดิม อ้อ...ก่อนทำความสะอาด แนะนำให้ปิดระบบเสียงก่อน อย่าเผลอเปิดเอาไว้น๊ะ (เดี๋ยวงานเข้า) ส่วนจุดต่อเชื่อมต่างๆ คงต้องใช้วิธีการสังเกตหรือตาดู หากบางตำแหน่งมีลักษณะเหมือน “เป็นสนิม” อย่างนี้ต้องไว้วานช่างฝีมือแล้ว อีกอย่าง...ควรตรวจสอบ/ทำความสะอาดหัว RCA แบบจุดต่อจุด อย่าถอดออกมาทั้งหมด เดี๋ยวเสียบกลับไม่ถูกตำแหน่ง...งานเข้าอีกเหมือนกัน
สำหรับ "เอทิลแอลกอฮอล์" หรือ "เอทานอล" มีสูตรเคมีคือ C2H5OH เป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ ไวไฟสูง สามารถละลายน้ำได้ เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินได้ นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า ไวน์ และเบียร์ ยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดแผล ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ความเป็นพิษต่อร่างกาย คือ โรคพิษสุราเรื้อรังและตับอักเสบ เป็นอาการพิษของผู้เสพสุราเป็นระยะเวลานาน นั่นคือ อาการพิษเรื้อรังที่เกิดจากเอทานอล แต่พิษเฉียบพลันที่เกิดจากการกินเข้าไปมากๆ ในครั้งเดียวก็คืออาการเมานั่นเอง แต่ทั้งนี้แม้ว่าเอทานอลจะกินได้ ก็ใช่ว่าจะนำเอทานอลในน้ำยาล้างแผลมาดื่มแทนเหล้าได้ เพราะในน้ำยาล้างแผลจะมีการใส่สีไว้เพื่อป้องกันการนำไปรับประทาน
ลำโพง
ฝุ่นที่สะสมอยู่ในกรวยลำโพง เมื่อเวลาใช้งานผ่านไปนานปี จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของลำโพง และมีผลอย่างมากกับ “ทวีตเตอร์” มากกว่า “วูฟเฟอร์” หรือ “ซับวูฟเฟอร์” ขั้นตอนอาจมองดูยุ่งยาก แต่จริงๆไม่เลย แนะนำให้ใช้ “สเปรย์อัดอากาศ” เหมือนกับที่ใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือชิ้นส่วนอีเล็กโทรนิกส์ ชื่อภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า Dust Destroyer ฉีดพ่นด้วยแรงดันต่ำให้ทั่วๆบริเวณรอบๆโดมทวีตเตอร์ หรือรอบๆกรวยวูฟเฟอร์ ไม่แนะนำให้ใช้หัวพ่นลมจาก “หม้อปั้มลม” เพราะมีแรงดันสูงเกินไป อาจทำให้ลำโพงได้รับความเสียหาย นอกจากนี้อาจใช้ “หัวพ่นลม” แบบ “มือบีบ” ที่นักเล่นกล้องถ่ายรูป มักใช้ทำความสะอาดหน้าเลนซ์ แต่ต้องหาอันใหญ่ๆหน่อยเพื่อให้มีแรงลมพอเพียง
เพาเวอร์แอมป์
สามารถทำความสะอาดด้วยผ้าคัดต้อน และแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาทำความสะอาดหน้าสัมผัส (contact cleaner) โดยแนะนำให้ทำความสะอาดจุดเชื่อมสายไฟเมน, ไฟกราวด์, ไฟรีโมท รวมถึงจุดเชื่อมสายลำโพงต่างๆ สำหรับในส่วนของพื้นผิวตัวถังเพาเวอร์แอมป์ สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิววัสดุได้ ซึ่งก่อนจะลงน้ำยาทำความสะอาดพื้นผิว ควรใช้สเปรย์อัดอากาศฉีดพ่นไล่ฝุ่นละอองออกไปก่อน
ในกรณีที่ต้องการทำความสะอาดอย่างลึกซึ้ง หมายถึง ต้องถอดหัวสายไฟเมน, ไฟกราวด์ หรือไฟรีโมท แนะนำให้ถอดฟิวส์เมนหลักของระบบเสียงออกก่อน เพื่อป้องกันการ “กระชาก” ของระบบไฟ ที่อาจทำความเสียหายต่อระบบได้
เครื่องเล่น
ควรใช้ “สเปรย์อัดอากาศ” ช่วยในการไล่ฝุ่นละอองที่แผงหน้าของเครื่องเล่น รวมถึงในซอกเล็กๆที่ฝุ่นมักเข้าไปกระจุกตัวอยู่ จากนั้นอาจใช้น้ำกลั่นหรือน้ำสะอาด(น้ำดื่ม)ชุบหมาดๆในการเช็คล้างให้สะอาด อย่าใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของ ตัวทำละลาย (solvent) หรือแอลกอฮอล์ และระวังอย่าให้ “น้ำ” เล็ดลอดเข้าไปในส่วนของวงจรอีเล็คโทรนิค ดีที่สุดคือสเปรย์ไล่ฝุ่น จากนั้นใช้ผ้าคัดต้อนแห้งๆเช็ดทำความสะอาด
กรณีที่ปุ่มกดมียางเหนียว แนะนำให้ใช้สเปรย์ทำความสะอาดหน้าสัมผัส (electronics switch cleaner spray) ช่วยในการทำความสะอาดได้ และควรฉีดพ่นเฉพาะจุดเท่านั้น
ไม่แนะนำอย่างยิ่ง... สำหรับการใช้ “เครื่องดูดฝุ่น” ในการทำความสะอาดระบบเสียงในรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “ลำโพง” เพราะอาจทำให้หน้ากรวยลำโพงฉีกขาดได้ ระวัง!