เทคนิคไบ-แค็ป เพื่อเพิ่มประกายเสียงแหลม ให้กับทวีตเตอร์
- วันที่: 03/05/2014 15:34
- จำนวนคนเข้าชม: 11079
อันที่จริงการ “ไบ-แค็ป” ก็เปรียบเสมือนเป็นการสร้างทางลัด หรือเปิดทางด่วนพิเศษให้ย่านเสียงช่วงความถี่สูงๆ ได้สามารถไหลผ่านไปออกสู่ตัวขับเสียงทวีตเตอร์ได้สะดวกขึ้นนั่นเอง ซึ่งช่วงความถี่สูงๆที่มักต้องการให้ไหลเข้าสู่ทวีตเตอร์ได้มากขึ้นหน่อยนี้ มักจะอยู่ในช่วงราวๆ 16kHz ขึ้นไป
เทคนิคไบ-แค็ปนี้ หากมุ่งผลทางด้านการอีควอไลเซชั่น มักนิยมทำกันในส่วนของอุปกรณ์เสียงที่เรียกกันติดปากว่า “พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์” หรือถ้าให้จำเพาะเจาะจงลงไป ก็เป็นการไบ-แค็ปในส่วนของอุปกรณ์ “คาปาซิเตอร์” ที่ทำหน้าที่ผ่านย่านความถี่สูง(High Pass)ในวงจรพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ โดยไบ-แค็ปไปที่ “คาปาซิเตอร์” ตัวหลักในการผ่านย่านความถี่สูง ทั้งกับวงจรที่ความลาดชัน 6dB, 12dB, 18dB และ 24dB
ก่อนอื่นใดเราต้องตรวจสอบชุด “พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์” ในระบบก่อนว่า ตัวคาปาซิเตอร์ตัวใด ทำหน้าที่หลักในการผ่านย่านความถี่สูงในวงจร โดยจะมีค่าประจุไม่มากไปกว่า 8 ไมโครฟารัด ซึ่งพื้นฐานอาจมีค่าอยู่ระหว่าง 3.3 ไมโครฟารัด ถึง 6.8 ไมโครฟารัด นั่นคือเป้าหมายที่เราจะทำการ “ไบ-แค็ป” เพื่อเพิ่มประกายเสียงให้กับทวีตเตอร์กัน
สำหรับ “คาปาซิเตอร์” ที่นิยมใช้เพื่อการ “ไบ-แค็ป” มักเป็นคาปาซิเตอร์ในชนิดที่เรียกว่า Polystyrene (โพลี่สไตลีน) หรือระบุชัดๆก็คือ Polystyrene film capacitors ที่มีคุณสมบัติเด่นทางด้านการ by-pass หรือ coupling ช่วงความถี่สูงๆ โดยใช้ค่าประมาณ 0.1 ไมโครฟารัด หรือประมาณ 0.22 ไมโครฟารัด (ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพื้นฐานของวงจร) มาทำการต่อคร่อมลงไปบนคาปาซิเตอร์หลัก (คือค่าประจุแถวๆ 3.3 ไมโครฟารัด ถึง 6.8 ไมโครฟารัดนั่นเอง) ในลักษณะคร่อมขนานกัน โดยบัดกรีให้ยึดติดแน่นกันด้วยตะกั่วทางออดิโอ(มีค่าความเป็น “โลหะเงิน” สูงกว่าตะกั่ว)
เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างคุณค่าแห่ง “ประกายเสียงแหลม” ให้ปรากฏไปที่ตัวขับทวีตเตอร์ได้อย่างน้อยๆก็ 2dB ถึง 3dB ทำให้ตัวขับทวีตเตอร์สามารถส่งประกายระยิบระยับได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันในโลกของ “เทคนิคไบ-แค็ป” ได้มีผู้ผลิตคาปาซิเตอร์เพื่อการนี้ ในหลากหลายวัสดุมากขึ้น มีทั้ง “เซรามิก”, “ไททาเนียม”, “ฟอยล์” ซึ่งก็จะมีสนนราคาที่ถูกบ้าง แพงบ้าง ตามแต่เทคนิคค้นห้าทางวัสดุ และความยาก-ง่ายของแหล่งที่มา และแน่นอนว่าผลปรากฏก็จะเด่นชัดหรือแผ่วเบากันไปตามนั้น
สำหรับนักเพิ่ม “คุณค่า” ทางเสียงนั้น ยังสามารถต่อยอดเทคนิคไบ-แค็ปนี้ ได้ทั้งการปรับเปลี่ยนค่าประจุ(ค่าตัวเลข ไมโครฟารัด) และชนิดของคาปาซิเตอร์(ตั้งแต่ตัวละไม่กี่สิบบาท ไปยันตัวละเป็นพันบาท) ขึ้นอยู่กับระดับความท้าทายของแต่ละบุคคล และสำหรับผู้ที่คลั่งใคล้แบบเข้าสายเลือด สามารถคลุกอยู่กับเทคนิคไบ-แค็ปนี้ได้นานนับเดือนนับปีเลยทีเดียว