เรียนทุกท่านที่ให้ความสนใจในหัวข้อ ถามมาตอบไป เพื่อให้การตอบคำถามมีความถูกต้อง และชัดเจน ขอความกรุณาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ แบรนด์ และรุ่น ของรถยนต์ของท่าน งบประมาณ แนวเพลงที่ท่านชอบ หรือปัญหาของเครื่องเสียงของท่านโดยละเอียด ทางทีมงานฯ ขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้
แอมป์(วัตต์ vs โอมห์)
- วันที่: 2007-06-18 13:10:59
- โดยคุณ: noom
ขอถามเรื่อง วัตต์ และโอมห์ครับ ในการหาแอมป์ให้เข้ากับซัพควรดูที่วัตต์หรือโอมห์สำคัญกว่ากันครับ และโอมห์ที่ 4,2,1,0.5 โอมห์ต่างกันอย่างไรครับแล้วท่าวัตต์เท่ากันโอมห์ไหนจะแรงกว่ากันครับเพราะอะไรครับ และถ้าโอมห์เท่ากันวัตต์ที่ต้องการกับซัพไม่ควรตำ่กว่าซัพกี่วัตต์ครับในกรณีที่หาโอมห์ได้แต่หาวัตต์ไม่ได้
ความสัมพันธ์ของวัตต์และโอห์มนั้น จำเป็นต้องศึกษาอย่างถ่องแท้เล็กน้อยจึงพอจะเข้าใจ ซึ่งในกรณีนี้ผมจะอธิบายแบบ"เรื่องเล่า"ให้ก็แล้วกัน เข้าใจขัดแย้งกันอย่างไรค่อยๆถามมาใหม่นะครับ
"วัตต์" เป็นความสามารถของเพาเวอร์แอมป์ ในอันที่จะสามารถขับดัน"กระแสเสียง"ออกมา โดยแปรผันตรงกับ"แรงดันไฟ/กระแสไฟ"ที่ป้อนเข้าไปภายในเครื่อง(% ของประสิทธิผล) และกำหนดพิกัดทำงานด้วยโอห์ม ดังที่เรามักเห็นกันในสเปคมาตรฐาน
เช่น 100 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ณ แรงดันไฟ 13.8 โวลท์/กระแสสูงสุด 30 แอมป์ เป็นต้น
นั่นหมายถึง เพาเวอร์แอมป์ตัวนี้ มีกำลังขับได้ที่ 100 วัตต์ เมื่อต่อโหลดลำโพง(กี่ตัวก็ตาม)เสียบเข้าที่ขั้วเอาท์พุทเป็น 4 โอห์ม และป้อนไฟเข้าเครื่องที่ 13.8 โวลท์ โดยสามารถปล่อยกระแสที่ระดับโวลท์ดังกล่าวได้เต็ม 30 แอมป์
ซึ่งในบางกรณี เพาเวอร์แอมป์บางเครื่องอาจมีความสามารถทางอิมพีแดนซ์ ก็จะมีสเปคเพิ่มเป็น
อาทิ 200 วัตต์ ที่ 2 โอห์ม ณ แรงดันไฟ 13.8 โวลท์/กระแสสูงสุด 40 แอมป์
นั่นก็หมายถึง ถ้าเราต่อโหลดลำโพงใหม่(กี่ตัวก็ตาม)เสียบเข้าที่ขั้วเอาท์พุทของแอมป์ตัวนั้นเป็น 2 โอห์ม โดยป้อนไฟ 13.8 โวลท์เท่าเดิม แต่ต้องสำรองกระแสเป็น 40 แอมป์ เราก็จะได้กำลังวัตต์เพิ่มขึ้นเป็น 200 วัตต์
คราวนี้ ถ้าหากว่าแรงดันไฟที่ป้อนสู่ตัวเครื่องเพาเวอร์แอมป์ไม่ถึง 13.8 โวลท์ ความสามารถของกำลังวัตต์ก็จะไม่เป็นไปตามสเปค (อาทิ เช่น 100 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ไฟ 13.8 โวลท์) เช่นป้อนไฟได้แค่ 12 โวลท์ กำลังวัตต์อาจเหลือแค่ 70 วัตต์ที่ 4 โอห์ม
หรือในทำนองเดียวกัน ถ้าแอมป์ระบุว่าต้องป้อนกระแสสูงสุด 30 แอมป์ แต่ในระบบเราสามารถจ่ายกระแสได้แค่ 20 แอมป์ กำลังวัตต์ที่ปรากฏจริง ก็จะต่ำกว่าที่บ่งบอกในสเปค(ที่ระบุว่า 30 แอมป์)
เรื่องของวัตต์/โอห์ม อาจมองง่ายเหมือน รอบเครื่องยนต์ที่สัมพันธ์กับเพลาทดล้อ และวงรอบของล้อแมกซ์-ยาง (โดยวัดประสิทธิผลที่เข็มบอกความเร็ว)อันนี้ใช้ตอบคำถามเรื่องโอห์มที่ 4, 2, 1, 0.5 โอห์มต่างกันอย่างไรนะครับ
ถ้ารอบเครื่องยนต์เดิม เปลี่ยนอัตราส่วนเพลาทดล้อใหม่(หรือการเปลี่ยนอิมพีแดนซ์) และวงรอบของล้อแมกซ์ยางเท่าเดิม (เข็มบอกความเร็วก็จะเปลี่ยนไป เช่นอาจวิ่งเร็วขึ้น เปรียบได้กับกำลังวัตต์ของระบบเสียงที่เพิ่มขึ้น)
คราวนี้ก็มาถึงคำถาม: ว่าในการหาแอมป์ให้เข้ากับซับฯควรดูที่วัตต์หรือโอห์มสำคัญกว่ากัน? ถ้าตอบแบบเรื่อยเปื่อยก็อาจบอกว่าดูที่วัตต์ แต่วัตต์ในที่นี้ต้องเป็นวัตต์ ณ ความถี่ที่ซับฯวูฟเฟอร์ทำงาน ที่เป็น RMS เช่น ซับฯ RMS ที่ 100 วัตต์ แต่ซับฯทำงานจริงแถวๆ 60 Hz วัตต์ที่ทำงานจริงอาจจะอยู่ที่ 300 วัตต์ ดังนั้นหากต้องการแอม์ที่ขับให้ซับทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพที่ 60 Hz อาจต้องใช้เพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังวัตต์ 300 วัตต์ RMS ณ. อิมพีแดนซ์ที่กำหนด (4 หรือ 2 โอห์ม แล้วแต่กรณี) ถ้าใช้เพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับแค่ 100 วัตต์ RMS ซับฯก็ทำงานได้นะครับ แต่ระดับความดังและพลังความหนักแน่นจะได้ไม่ตรงความจริง
คำตอบ: จริงๆเราจะดูทั้งวัตต์และโอมห์ประกอบกันไป ขึ้นอยู่กับโจทย์ของการวางระบบ เช่น ถ้ามีซับฯวูฟเฟอร์อยู่แล้วกี่ดอก/ วอยซ์เดี่ยว-คู่/ขนาดกี่นิ้ว /รับประทานกี่วัตต์ เป็นโจทย์ อย่างนี้เราก็ต้องมาคำนวณหาเพาเวอร์แอมป์ที่สามารถขับดันพลังเสียงได้ตามจำนวนดอก/อิมพีแดนซ์ของวอยซ์แต่ละวอยซ์ที่ต่อร่วมกัน/และกำลังวัตต์ที่ให้ประสิทธิได้เต็มกำลังดีบี
แต่ถ้าเรามีโจทย์เป็นเพาเวอร์แอมป์ แล้วต้องการหาซับวูฟเฟอร์ เราก็ต้องดูว่าเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น ให้กำลังวัตต์ได้เต็มประสิทธิภาพ (RMS) จริงๆที่อิมพีแดนซ์กี่โอห์ม เช่นที่ 1 โอห์ม เราก็ต้องใช้จำนวนวอยซ์เท่าที่หาได้มาต่อวงจรเพื่อให้ได้อิมพีแดนซ์ ตามประสิทธิภาพของแอมป์ อย่าง 1 โอห์ม ก็ต้องใช้วอยซ์คอยล์ที่มีอิมพีแดนซ์ 4 โอห์มมาต่อขนานกันหมด ก็จะได้ 1 โอห์ม (ซึ่งจะเป็น วอยซ์คู่วอยซ์ละ 4 โอห์ม 2 ดอกมาใช้ หรือใช้วอยซ์เดี่ยววอยซ์ละ 4 โอห์ม 4 ดอกมาใช้ ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่การติดตั้ง หรือในกรณีที่ติดตั้งได้แค่ดอกเดียว ก็ต้องใช้ซับฯวอยซ์คู่วอยซ์ละ 2 โอห์ม มาต่อขนานกันแทน เพื่อให้ได้อิมพีแดนซ์ 1 โอห์ม)
อีกคำถาม: ทำวัตต์เท่ากับโอห์มไหนแรงกว่ากัน?
คำตอบ: ความแรงของเสียงซับฯ = คลื่นอากาศที่เคลื่อนที่ ดังนั้นความสำคัญของความแรง จึงอยู่ที่เรื่องของ ระดับความดัง dB ที่ได้จากแรงอัดอากาศของตู้ซับฯ(ปิด/เปิด/แบนด์พาส) บวกกับความสามารถในการขับดันให้กรวยซับวูฟเฟอร์บีบ-อัดอากาศได้มากน้อยแค่ไหน (พื้นที่หน้ากรวย+กำลังวัตต์) + ความสามารถเฉพาะของรถคันที่ต้องการความแรง
เพราะฉะนั้นหากคิดเรื่องความแรงของซับฯ ลืมประเด็นของวัตต์กับโอห์มไปได้เลยครับ เป็นแค่องค์ประกอบย่อย องค์ประกอบใหญ่ดูด้านบนอีกครั้งหนึ่ง
คำถามสุดท้าย: ถ้าโอห์มเท่ากับวัตต์ที่ต้องการของซับไม่ควรต่ำกว่าซับกี่วัตต์ กรณีหาโอห์มได้แต่หาวัตต์ไม่ได้
คำตอบ: กรณีได้โอห์ม ก็ให้หาวัตต์จากสเปคแอมป์ เช่น ที่ 4 โอห์ม ซับรับได้ 100 วัตต์ (แต่เรานำซับฯมาทำงานที่ 50-60 Hz อย่างน้อยควรคูณด้วย 3) ก็หาแอมป์ที่ทำงานได้ 300 วัตต์ เมื่อต่อกับอิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม (แต่ข้อสำคัญที่สุดต้องป้อนแรงดันไฟ และกระแสได้ตามที่เพาเวอร์แอมป์นั้นๆต้องการจริงๆ จึงจะได้ 300 วัตต์ตามกำหนด)
เอาเท่านี้ก่อนนะครับ ถ้างง! ก็ถามปลีกย่อยมาเป็นส่วนๆอีกทีนะครับ
ขอบคุณครับ
Rocket Sound