• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

เทคนิค การจัดการปัญหาเสียงรบกวนหลังงานติดตั้งแล้วเสร็จ

  • วันที่: 03/05/2014 15:34
  • จำนวนคนเข้าชม: 11120

แม้ว่างานติดตั้งหลายๆชิ้นงาน จะได้ถูกดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็น “บัญญัติ 10 ประการ” ไปอย่างถูกครรลองแล้ว แต่ก็อาจยังมีปัญหาทางด้านการรบกวนบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเราก็ยังมีกรรมวิธี หรือขั้นตอนของการจัดการปัญหาเสียงรบกวนมาบอกกล่าวกันในคราวนี้

การรบกวนที่เกิดจากไดชาร์จ(Alternator Whine)

การรบกวนที่เกิดจากไดชาร์จนั้น มักมีในรูปลักษณ์ของเสียงที่มีลักษณะเหมือนเสียงไซเรน หรือเสียงหอนจากไฟกระแสสลับ หรือบางที่ก็นิยามว่าเป็น “เสียงหวิ้ว” ที่แปรเปลี่ยนไปตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์ แน่นอนว่าปัญหาของการรบกวนหรือเสียงรบกวนในแนวๆนี้ จะเกิดจากสาเหตุหลักนั้นคือ “วงรอบกราวน์ซ้ำซ้อน” หรือ Ground Loop นั่นเอง ขั้นตอนหรือกรรมวิธีในการการจัดการกับปัญหานี้ก็มีด้วยกัน 15 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้ทำการ “เลเวล-แมทชิ่ง” ระบบเสียงทั้งหมดได้อย่างถูกต้องแล้ว แนะนำการปรับเวลเวล-แมทชิ่งด้วยดิจิตอล-มัลติมิเตอร์ จะได้ผลที่สมบูรณ์มากกว่าการปรับด้วยความรู้สึกทั่วๆไป

2.ต่อมาปิดระบบเสียงทั้งหมด และถอดหัวปลั๊ก RCA ที่จุดอินพุททุกตำแหน่งของเพาเวอร์แอมป์ออกก่อน

3.สตาร์ทติดเครื่องยนต์ และทำการเปิดระบบเสียง(โดยทั่วไปหมายถึงการเปิดเครื่องเล่นส่วนหน้า) หากไม่ปรากฏว่ามีเสียงรบกวนดังกล่าว ให้ข้ามไปขั้นตอนที่ 8 ได้เลย แต่ถ้าเสียงรบกวนยังปรากฏอยู่ แสดงว่าเสียงรบกวนนั้นสอดแทรกเข้ามาทางระบบสายลำโพง ให้ดำเนินการต่อ

4.ปิดระบบเสียงทั้งหมด(ดังเครื่องยนต์ด้วย) และทำการถอดสายลำโพงที่ขั้วของเพาเวอร์แอมป์ออกทั้งหมด

5.สตาร์ทติดเครื่องยนต์อีกครั้ง และฟังว่าไม่ควรมีเสียงรบกวนดังกล่าว แต่ถ้าหากยังมีเสียงรบกวนปรากฏอยู่ แสดงว่ามีการสอดแทรกเสียงรบกวนผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์” หรือในบางกรณีสายลำโพงอาจถูกเดินในระบบด้วยตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับสายไฟเมนของระบบมากเกินไป แนะนำให้ทำการเดินสายลำโพงใหม่ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างออกจากสายไฟเมนของระบบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ รวมถึงเปลี่ยนตำแหน่งการวาง “พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์” และหรือ “หุ้มทับพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์” ด้วยเทปฟอยล์เพื่อปกป้อง จากนั้นให้ย้อนกลับไปปฎิบัติในขั้นตอนที่ 3 ซ้ำ(โดยต่อสายลำโพงกลับเข้าระบบปกติ)

6.ในบางกรณีของการปรากฏเสียงรบกวนที่ดอกลำโพงเอง แม้ว่าจะถอดสายลำโพงออกจากขั้วของเพาเวอร์แอมป์แล้วก็ตาม เป็นไปได้ที่มีลวดภายในของสายลำโพงเส้นใดเส้นหนึ่งสัมผัสกับตัวถังรถ ในลักษณะของการลัดวงจร โดยเฉพาะกรณีที่สายด้านกราวน์ในส่วนของสายลำโพง สัมผัสกับตัวถังรถ ก็จะทำให้เกิดการลงกราวน์เสียงอ้างอิงจุดที่สองขึ้นโดยทันที ให้ตรวจสอบในส่วนนี้จนมั่นใจ และย้อนกลับไปปฎิบัติในขั้นตอนที่ 3 อีกครั้ง

7.ในขณะที่ถอดปลั๊กสาย RCA และสายลำโพงออกจากขั้วของเพาเวอร์แอมป์แล้วนั้น แนะนำให้ใช้ “ดิจิตอล-มัลติมิเตอร์” ตั้งย่านการวัดโอห์ม เพื่อทำการวัดเปลือกนอกของปลั๊กสาย RCA เทียบกับตัวถังรถยนต์ ผลการวัดค่าโอห์มจะต้องไม่มีลักษณะของการ “ต่อวงจรตรง”(direct short) หรือ “ลัดวงจร” โดยทั่วไปควรมีความต้านทานประมาณ 100 โอห์ม หรือมากกว่านั้น ถ้าหากได้ค่าความต้านทานที่น้อยกว่าจนเหมือนเป็นลักษณะการลัดวงจร ให้ลองสลับเพาเวอร์แอมป์เครื่องอื่นมาลองต่อใช้งานแทน เป็นไปได้ที่เพาเวอร์แอมป์บางรุ่นบางยี่ห้อ ได้มีการต่อตรงระหว่างกราวน์ทางเสียงและกราวน์ทางไฟฟ้าเข้าด้วยกัน

8.เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ แสดงว่าได้แก้ไขปัญหาการถูกรบกวนในตัวเพาเวอร์แอมป์และสายลำโพงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

9.ให้ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์ใดๆที่ใช้ในส่วนหน้า ก่อนที่จะเข้าสู่เพาเวอร์แอมป์ (อาทิ ปรีแอมป์, อีควอไลเซอร์, ครอสโอเวอร์) เพื่อทำการตรวจสอบการรบกวนจากไดชาร์จ กับอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบที่ละตัว โดยการต่อเป็นลำดับไปยังส่วนหน้า และยังไม่เสียบปลั๊กสาย RCA ในจุดอินพุทของอุปกรณ์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น ต่อปรีแอมป์เข้าระบบโดยเสียบปลั๊กสาย RCA ระหว่างเอาท์พุทของปรีแอมป์ไปยังอินพุทของเพาเวอร์แอมป์ แต่ยังคงไม่เสียบปลั๊กสาย RCA ที่อินพุทใดๆของปรีแอมป์

ข้อพึงระวัง: ในขณะทำการถอด-เสียงปลั๊กสาย RCA ควรปิดระบบเสียงทั้งหมดก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดลักษณะกระแสกระชาก ทำให้ระบบกราวน์ในตัวอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย จนบางครั้งเกิดลักษณะของ “กราวน์ขาด” ขึ้นได้

10.ตรวจสอบขั้นตอนที่ 9 ซ้ำ กับอุปกรณ์ที่ใช้ต่ออยู่ส่วนหน้าก่อนเข้าเพาเวอร์แอมป์ทั้งหมดให้เรียบร้อย โดยทำทีละอุปกรณ์ เพื่อหาว่ายังมีการถูกรบกวนในอุปกรณ์หนึ่งอุปกรณ์ใดหรือไม่

11.กรณีที่พบเจออุปกรณ์ที่เป็นต้นเหตุของการถูกรบกวน ให้ลองถอดสายไฟกราวน์ของอุปกรณ์นั้นๆออก แล้วย้อนกลับไปปฎิบัติในขั้นตอนที่ 9 ถ้าเสียงรบกวนหายไป ก็ลองสลับอุปกรณ์เป็นรุ่น/ยี่ห้ออื่น ต่อสายไฟกราวน์ให้เรียบร้อยและปฎิบัติในขั้นตอนที่ 9 อีกครั้ง

12.ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอนของการเชื่อมปลั๊กสาย RCA จากเอาท์พุทของเครื่องเล่น ไปยังอินพุทของอุปกรณ์ถัดไป อาทิ ปรีแอมป์ หรือครอสโอเวอร์ เพื่อตรวจสอบการถูกรบกวนในระบบอีกครั้ง

13.ถ้ายังมีเสียงรบกวนปรากฏอยู่อีก ให้ดำเนินการถอดขั้วปลั๊กสายเสาอากาศที่ตัวเครื่องเล่นออก ตรวจสอบ หากเสียงรบกวนหายไป ให้หา “ตัวแยกกราวน์สายเสาอากาศ”(Antenna isolator) มาใช้งานในส่วนนี้ หรือตัดออกเฉพาะส่วนของสายชีลที่สายเสาอากาศ เหลือเพียงเส้นแกนในเพื่อใช้งาน

14.ถ้าหากยังมีเสียงรบกวนปรากฏอยู่ ให้ลองเปลี่ยนตำแหน่งลงไฟกราวน์ของเครื่องเล่นส่วนหน้า(เฮดยูนิทหรือฟร้อนท์เอ็นด์)ในตำแหน่งอื่น และให้มีระยะทาง(ความยาวสายไฟกราวน์)ที่สั้นลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

15.หากยังมีปัญหาอยู่ ท้ายที่สุดแนะนำให้เดินสายไฟเมน B+ ของเครื่องเล่นส่วนหน้า แยกตรงไปยังขั้วไฟบวกที่แบตเตอรี่โดยตรง และต่อขั้นในสายช่วงที่จะต่อเข้าเครื่องเล่นด้วย “อุปกรณ์กั้นเสียงรบกวน” (Power Line Filter) ก็น่าจะหมดปัญหานี้

การรบกวนที่เกิดสายหัวเทียนจุดระเบิด(Ignition Noise)

เสียงรบกวนที่เกิดมาจากสายหัวเทียนจุดระเบิดนี้ จะมีลักษณะของเสียง เหมือน “เสียงแป๊กๆ” และหรือ “เสียงหึ่งๆ” เมื่อเครื่องยนต์ทำงาน มีขั้นตอนการปฎิบัติงานดังต่อไปนี้

1.ต้องให้แน่ใจว่า ได้เลือกใช้สายหัวเทียนจุดระเบิด แบบที่มีความต้านทานภายในทั้งหมด (Resistor type spark plugs and Resistor type plug wire)

2.ลองวิเคราะห์ดูว่า หากเสียงรบกวนที่เป็นเสียงแป๊กๆนั้น เกิดขึ้น 2 หรือ 3 ครั้งในหนึ่งวินาที อาจเป็นไปได้ที่สายหัวเทียนจุดระเบิดอาจไม่แน่น หรือเสียบไม่สุด หรือเสื่อมสภาพ และเป็นไปได้ว่าหัวหนีบสปริงบริเวณขั้วหัวเทียนอาจคลายตัว สามารถใช้คีบปากจิ้งจกบีบให้แถบสปริงแน่นขึ้นได้

3.กรณีที่เสียงมีลักษณะเป็น “เสียงหึ่งๆ” ปัญหาน่าจะมาจากคอยล์จุดระเบิด ลองเปลี่ยน “คอนเดนเซอร์”(Condenser) ทั้งที่ Coil และ Points รวมถึงเช็คสภาพว่าทั้งฝาครอบและกระบอกคอยล์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และอาจใช้คาปาซิเตอร์ขนาดค่า 2200 Micro-Farad ต่อคร่อมระหว่างขั้วบวกของคอยล์กับตัวถังรถยนต์

4.ไม่ควรใช้ไฟ B+ (memory) จากสายในระบบไฟรถยนต์ที่ผ่านฟิวส์ประจำรถ แต่ควรเดินสายไฟ B+ นี้ใหม่ ตรงไปยังขั้วบวกของแบตเตอรี่รถยนต์

5.ถ้ายังปรากฏเสียงรบกวนนี้อยู่ แสดงว่าปัญหาเกิดจากการ “เหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก” ให้ลองนำเครื่องเล่นออกมาวางไว้ในตำแหน่งเบาะที่นั่ง ถ้าเสียงรบกวนหายไป อาจลองเดินสายไฟเข้าเครื่องเล่นในเส้นทางอื่นๆ หรือทำอุปกรณ์ที่เป็นแผ่นป้องกันด้วยฟอยล์ เพื่อครอบทับไว้ในบริเวณช่องติดตั้งเครื่องเล่นในคอนโซลหน้ารถ

การรบกวนที่เกิดจากการเปิด/ปิดระบบ(Turn On/Off Thump)

เสียงรบกวนที่เป็น “เสียงปุ๊ก-ปั๊ก” ในขณะปิดหรือเปิดระบบ มักมีต้นเหตุมาจากความเสถียรของวงจรขยายในตัวเพาเวอร์แอมป์ เมื่อมีกระแสไหลเข้าไปในวงจรหรือเมื่อกระแสหยุดไหลในวงจร เพาเวอร์แอมป์และเครื่องเล่นส่วนหน้าโดยทั่วไป มักมีการติดตั้งวงจร “ตัดเสียง” Muting เอาไว้ในขณะที่ทำการเปิด/ปิดระบบ เพื่อหน่วงเวลาไว้ประมาณหนึ่งหรือสองวินาทีก่อนที่จะปล่อยให้กระแสเสียงไหลเข้าวงจรขยาย สำหรับขั้นตอนปฎิบัตินั้นมีไว้สำหรับกรณีที่เปิดระบบแล้วเกิด “เสียงปุ๊ก” เท่านั้น ส่วนกรณีปิดแล้วมี “เสียงปั๊ก” จะต้องเลือกใช้เพาเวอร์แอมป์ที่ไม่มีปัญหานี้(เพราะเป็นปัญหาที่งานการออกแบบวงจรขยาย ไม่ใช่การติดตั้ง)

1.ต้องแน่ใจได้ว่า เพาเวอร์แอมป์ที่เลือกนำมาใช้ในระบบ มีจุดอ้างอิงกราวน์เสียงที่สมบูรณ์แบบ โดยการวัดเทียบจุดกราวน์ที่ปลั๊ก RCA กับตัวถังเครื่อง

2.ไม่แนะนำให้ใช้เพาเวอร์แอมป์ ซึ่งจะทำการเปิดระบบได้เองเมื่อเครื่องเล่นส่วนหน้าถูกปิดการทำงาน

3.กรณีที่มีเสียงปุ๊กในขณะเปิดระบบ สามารถเพิ่มอุปกรณ์หน่วงเวลาในสายไฟรีโมทที่ต่อไปยังเพาเวอร์แอมป์ได้

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกรบกวน ในกรณีที่ทำการติดตั้งระบบเสียงโดยไม่มีการวางแผนที่ดีมาก่อน หรือแก้ไขปัญหาระบบเสียงที่ติดตั้งมาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทางที่ดีที่สุดแล้ว ควรจะทำการวางแผนงานการติดตั้งระบบเสียงบนกระดาษทดลองให้สมบูรณ์ เมื่อทำการติดตั้งจริงจะได้ไม่เกิดปัญหา สุภาษิตมาตรฐานของนักปฎิบัติระดับเทพเพื่อการนี้คือ “คิดถึงปัญหาก่อนทำ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วค่อยมาคิดแก้ปัญหา”