ระบบไบแอมป์ให้อะไรๆได้ดีกว่า
- วันที่: 22/06/2010 14:20
- จำนวนคนเข้าชม: 13236
ภาพลักษณ์ของระบบ 2 ทางในเชิงพาณิชย์ทั่วไป ก็คือ ลำโพงมิดวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ ถูกขับด้วยเพาเวอร์แอมป์ขนาดกำลังขับประมาณ 60 วัตต์ x 2 เมื่อเราป้อนสัญญาณเพื่อการฟังปกติมันอาจดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อเราเพิ่มปริมาณความดังเสียงให้มากขึ้นจากเดิม ไปจนถึงระดับที่เพาเวอร์แอมป์มีการคลิปยอดสัญญาณ อันหมายถึงความต้องการทางพลังเสียงดนตรีนั้นอยู่เหนือขีดความสามารถที่ระบบจะตอบสนองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความถี่ในระดับที่ต่ำกว่า 90 Hz ลงไป ความไพเราะที่ควรจะมีก็ถูกถอดถอนออกไปจนเหลือแต่ความหนวกหู
ในขณะที่ระบบไบแอมป์ จะใช้เพาเวอร์แอมป์ 2 แชนแนลตัวหนึ่ง ในการขับเฉพาะลำโพงมิดวูฟเฟอร์กับทวีตเตอร์ โดยรับความถี่เฉพาะย่านความถี่สูง(ปกติตั้งแต่ 90 Hz ขึ้นไป)จากครอสโอเวอร์หรืออุปกรณ์ที่ตัดแบ่งความถี่ใดๆ และใช้เพาเวอร์แอมป์ 2 แชนแนลอีกตัวหนึ่ง ในการขับเฉพาะลำโพงความถี่ต่ำ(ซับวูฟเฟอร์) โดยรับความถี่เฉพาะย่านความถี่ต่ำ(ปกติตั้งแต่ 90 Hz ลงไป) เมื่อมีการเพิ่มปริมาณความดังเสียงให้มากขึ้น เสียงทั้งหมดจะยังคงความเป็นดนตรีได้อย่างแจ่มชัด เพราะเพาเวอร์แอมป์แต่ละตัวไม่ต้องทำงานในย่านเสียงรวมทั้งหมด แต่รับผิดชอบเพียงเฉพาะย่านความถี่ที่กำหนดเท่านั้น อาการคลิปยอดสัญญาณจึงแทบไม่มีเกิดขึ้น ซึ่งประโยชน์จริงๆของระบบไบแอมป์นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อคือ
- สามารถเลือกใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ความถี่ต่ำกับลำโพงกลาง/แหลม ที่มีคุณสมบัติเฉพาะได้
- เลือกซับวูฟเฟอร์และลำโพงกลาง/แหลม ที่มีความไวตอบสนองแตกต่างกันได้
- ให้ประสิทธิผลของเฮดรูมและไดนามิคเรนจ์ที่ดีมาก
และผลที่ได้จากการจัดระบบเป็นไบแอมป์เหล่านี้ น่าจะเพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อการตัดสินใจในการวางระบบไบแอมป์ในรถคุณ ในงบประมาณที่เท่าๆกันหากสามารถจัดให้อยู่ในรูปแบบไบแอมป์ ก็ย่อมเป็นข้อได้เปรียบกว่าระบบซิงเกิ้ลแอมป์ทั่วไป และสามารถฟังเปรียบเทียบดูได้ การเลือกใช้สินค้ายี่ห้อปานกลางแต่จัดระบบเป็นไบแอมป์ จะให้ผลดีกว่าเลือกสินค้ายี่ห้อแพงๆแต่วางระบบเป็นซิงเกิ้ลแอมป์เสียอีก