#แฉแล้วไง_ความแตกต่างของสายแต่ละประเภทในระบบเสียง
- วันที่: 16/07/2016 15:15
- จำนวนคนเข้าชม: 11059
#แฉแล้วไง_ความแตกต่างของสายแต่ละประเภทในระบบเสียง
“สาย” สามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้ในระบบเสียง และการใช้สายที่ผิดลักษณะก็ทำให้ได้ประสิทธิผลที่ผิดพลาดได้เช่นกัน เป็นความแตกต่างที่ได้ยินอย่างแจ้งชัด(ในระบบเสียง) หรือมองเห็นได้ด้วยสายตา(ในระบบภาพ)
ในระบบเสียง “low-end” นั้น “สาย” อาจไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดความแตกต่างได้มากมายนัก ผิดกับระบบเสียง “high-end” ที่ต้องการ “สาย” ที่ดีมีคุณภาพสูง เพื่อนำพาคุณภาพเสียงทั้งหมดจากอุปกรณ์ต่างๆในระบบไปสู่ “คุณภาพเสียงโดยรวม” ที่ทรงประสิทธิภาพ
“สายลำโพง” สามารถสร้างความแตกต่างที่มหาศาลได้มากกว่า “สายนำสัญญาณ” ด้วยเหตุที่ว่าสายลำโพงที่ใช้ในระบบมักจะมีความยาวโดยรวมที่มากกว่า จึงสังเกตเห็นผลที่แตกต่างได้ง่ายกว่าเมื่อมีการเปลี่ยนสายลำโพง
“สายนำสัญญาณ” โดยทั่วไปให้ความแตกต่างในเรื่องการ “ถ่ายนำ” กระแสสัญญาณเสียงที่แม่นยำ สายนำสัญญาณที่ดีมีคุณภาพจะทำให้ท่านได้ยินความกระจ่างชัดของเสียงแต่ละเสียง และลดความสูญเสียในกระแสสัญญาณเสียง
“สายไฟเมน” มักมีคุณค่าในเรื่องของเสียงไม่มากนัก หากว่าขนาดสายที่ใช้มีพื้นที่ของกระแสไหลผ่านได้เพียงพอต่อความต้องการของระบบเสียง ความต้องการของกระแสที่มหาศาลจากอุปกรณ์จึงเป็นข้อแม้ของการใช้สายไฟเมนที่มีความเสถียรในการจ่ายแรงดัน/กระแสไฟ
เกี่ยวกับสายลำโพงในบางเรื่อง:
โครงสร้างของตัวนำที่ถูกต้อง และโครงสร้างของ “สาย” ที่ดี เป็นกุญแจในการออกแบบเพื่อช่วยขยายขอบเขตของกำลังเสียงขาออกจากเพาเวอร์แอมป์ เพื่อเสียงเบสที่สมดุลกับ เสียงกลางหรือเสียงแหลม และให้คุณภาพของเสียงได้ถึงขีดสุด
ทองแดง OFC (Oxygen Free Copper) หรือ ทองแดง TC (Tinned Copper) เป็นทองแดงพื้นฐาน และสมเหตุสมผลในด้านราคาที่จะเลือกเป็นตัวนำในสายลำโพง โดยสายลำโพงที่มักนิยมกันเป็นตัวนำสองแกน ในขนาด 1.5 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 16 AWG), 2.5 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 14 AWG) และ 4.0 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 12 AWG) สำหรับมิดเรนจ์หรือวูฟเฟอร์ ที่ตอบสนองความถี่ไม่เกิน 4150 Hz ถึง 8250 Hz
และขนาด 0.65 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 22 AWG), 0.7 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 21 AWG), 0.8 มิลลิเมตร x 2 (หรือเบอร์ 20 AWG) สำหรับทวีตเตอร์ ที่ตอบสนองความถี่ไม่เกิน 27 KHz ถึง 33 KHz ตามลำดับ
ปัจจุบันมีการผลิตสายด้วยทองแดง CCA (Copper Clad Aluminum) เพื่อทำให้มีราคาถูกลง ซึ่งพอใช้งานได้ดีกับงานที่ใช้ความถี่ย่านสูงๆ อาทิ เป็นสายนำสำหรับระบบ CATV แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นสายลำโพง หรือสายไฟเมนในระบบเสียง เพราะจะให้ประสิทธิผลที่ต่ำมากๆจนถึงขั้นเลวร้าย
สำหรับระบบเสียงในขั้น “mid-end” ถึงขั้น “high-end” ขนาดของเบอร์สายตัวนำมักจะต้องมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ (อาทิ 10 มิลลิเมตร x 2 เทียบได้กับเบอร์ 7 AWG หรือใหญ่กว่า) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของลำโพง และงบประมาณในระบบ รวมถึงการใช้ตัวนำที่มีวัสดุคุณภาพสูงราคาแพง เป็นต้นว่า SPC (Silver Plated Copper) ที่มีราคาแพงกว่า OFC ถึง 4 เท่า, หรือ OCC (6N purity copper) ที่มีราคาแพงกว่า OFC ถึง 6 เท่า และ Pure Silver ที่มีราคาแพงกว่า OFC ถึง 200 เท่า เป็นองค์ประกอบที่สร้างความแตกต่างของเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการสับเปลี่ยนสาย