ยุุทธวิธี ที่ควรคำนึงในการออกแบบตู้ซับฯ
- วันที่: 06/06/2011 18:49
- จำนวนคนเข้าชม: 153853
เลือกแบบ(ประเภท)ตู้ตามความเหมาะสมที่สุดของดอกซับฯ
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound
เราสามารถหาแบบตู้ที่เหมาะสมที่สุดของดอกซับวูฟเฟอร์ ได้จากค่า EBP ซึ่งค่า EBP นั้นย่อมาจากคำว่า Effciency Bandwidth Product หาได้จากสูตร EBP = Fs/Qes (เอาค่า Fs ของซับฯตั้งแล้วหารด้วยค่า Qes ของซับฯ) เมื่อได้ค่า EBP แล้ว ก็นำไปเทียบตารางความเหมาะสมของประเภทหรือชนิดของตู้ได้ดังนี้
ถ้าค่า EBP ที่ได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ให้จัดทำตู้ประเภทตู้ปิด(Sealed Box) สำหรับซับฯตัวนั้น
ถ้าค่า EBP ที่ได้อยู่ระหว่าง 50 ถึง 90 สามารถจัดทำตู้ได้ทั้งประเภทตู้ปิด(Sealed Box)และตู้เปิด(Vented) สำหรับซับฯตัวนั้น
ถ้าค่า EBP ที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90 ให้จัดทำตู้ประเภทตู้เปิด(Vented Box) สำหรับซับฯตัวนั้น
การเลือกใช้แบบตู้ที่เหมาะสม จะทำให้ซับวูฟเฟอร์ดอกนั้นๆสามารถทำงานที่ประสิทธิภาพสูงสุดของตัวดอกซับฯเอง
การเลือกขนาดของท่อที่เหมาะสมกับขนาดดอกซับฯ
ในการใช้ขนาดของท่อระบายเบสสำหรับตู้ซับฯวูฟเฟอร์ประเภทตู้เปิดที่เหมาะสมนั้น เราจะคาดคะเนได้จากขนาดของซับวูฟเฟอร์ดังนี้
ซับฯขนาด 6 นิ้วถึง 8 นิ้ว แนะนำให้ใช้กับท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว(7.62 เซ็นติเมตร)
ซับฯขนาด 8 นิ้วถึง 10 นิ้ว แนะนำให้ใช้กับท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว(10.16 เซ็นติเมตร)
ซับฯขนาด 10 นิ้วถึง 12 นิ้ว แนะนำให้ใช้กับท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว(12.7 เซ็นติเมตร)
ซับฯขนาด 12 นิ้วถึง 15 นิ้ว แนะนำให้ใช้กับท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว(15.24 เซนติเมตร)
เลือกใช้สัดส่วนของตู้ซับฯที่ปราศจากรีโซแนนท์(หรือการก้องสะท้อน)
ในการจัดทำตู้ซับฯปกติในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรามักจะมีอัตราส่วนบรรลุผลของมิติ(สัดส่วน) หรือเรียกในคำภาษาอังกฤษว่า Golden Ratio อันเป็นอัตราส่วนสัมพันธ์ของความลึก, ความกว้าง และความสูง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรีโซแนนท์ภายในตู้
อัตราส่วนบรรลุผลกำหนดดังนี้: ความกว้าง(Width) = 1.0, ความลึก(Depth) = 0.618 x W, ความสูง(Height) = 1.618 x W
นั่นคือ ถ้าความกว้าง = 12 นิ้ว, ความลึกที่เหมาะสมก็จะเป็น 0.618 x 12 = 7.416 นิ้ว, และความสูงที่เหมาะสมก็จะเป็น 1.618 x 12 = 19.410 นิ้ว
การออกแบบตู้ซับฯประเภทแบนด์พาส สำหรับการฟังแบบ SQ+
โดยปกติแบบตู้ที่เหมาะสมสำหรับการฟังแบบ SQ+ นั้น เรามักจะนิยมใช้กันเฉพาะตู้ปิดและตู้เปิด ด้วยเหตุผลทางด้านการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบเป็นหลัก ส่วนในกรณีที่ต้องการนำตู้แบบแบนด์พาสมาใช้งานสำหรับการฟังแบบ SQ+ จำต้องออกแบบให้การตอบสนองความถี่ของตู้ซับ ทำงานอย่างราบเรียบสม่ำเสมอตั้งแต่ความถี่ 35 Hz ถึงความถี่ 65 Hz ในระดับความดังเดียวกัน เพื่อให้สามารถต่อเนื่องความถี่เสียงกับลำโพงวูฟเฟอร์ของชุดลำโพงกลางแหลมได้อย่างลงตัว
ข้อสำคัญของการออกแบบตู้แบนด์พาสสำหรับฟังอย่าง SQ+ จะต้องใช้ดอกซับฯที่มีค่า EBP อยู่ระหว่าง 52 ถึง 88 จะได้ผลลัพท์ที่น่าพึงพอใจมากที่สุด และเลือกใช้ตู้แบนด์พาสในลักษณะ Single Reflex Bandpass เท่านั้น
การวางตู้ซับฯด้านหน้าเพื่อสร้าง”เบสอินฟร้อนท์”ที่สมบูรณ์
ปัจจุบันได้มีการออกแบบตู้ซับวูฟฟอร์สำเร็จ ที่มีขนาดบางพร้อมกำลังขับในตัวออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้เราสามารถสร้างสภาพเสียง”เบสอินฟร้อนท์”ได้อย่างสะดวก ซับตู้สำเร็จที่เหมาะสมควรมีขนาด 8 – 9 นิ้ว เพื่อให้สามารถติดตั้งได้ใต้ลิ้นชักเก็บของด้านหน้า หรือบริเวณพื้นที่พักเท้าด้านซ้าย
ในกรณีต้องการให้ตู้ซับด้านหน้าและตู้ซับในห้องสัมภาระท้ายรถทำงานสัมพันธ์กัน จะต้องแยกส่วนทำงานเพื่อป้องกันคลื่นเบสเกยกัน โดยกำหนดให้ตู้ซับด้านหน้าทำงานถึงแค่ช่วงความถี่ 45 - 50 Hz และคลื่นที่ต่ำกว่า 45 - 50 Hz ลงมา แนะนำให้ไปปรากฏที่ตู้ซับวูฟเฟอร์ด้านท้ายรถ โดยปรับระดับเกนเสียงของซับทั้งสองให้สมดุลกัน ก็จะได้ความสมบูรณ์ของเบสที่อินฟร้อนท์และมีมวลน้ำหนักตามต้องการ
ช่องถ่ายเสียงเบสเข้าห้องโดยสารควรมีเพียงช่องทางเดียว เพื่อป้องกันเฟสย้อนเสียง
ในการติดตั้งตู้ซับวูฟเฟอร์ไว้ท้ายรถ และต้องการนำทางคลื่นเสียงเบสเข้ามาในห้องโดยสาร แนะนำให้เลือกช่องถ่ายเทเสียงเพียงช่องทางเดียว อาทิ ถ้าจะใช้พื้นที่แผงลำโพงหลังเป็นตำแหน่งถ่ายเทเสียงเบส ก็ให้ปิดทึบบริเวณผนังหลังเบาะที่ร่องอากาศเข้าไปในห้องโดยสาร รวมถึงทำปล่องเพื่อรวมมวลเสียงของหน้าดอกซับให้มวลเสียงทั้งหมดไหลเข้าห้องโดยสาร เพื่อป้องกันปัญหาเสียงเปลี่ยนไปเมื่อมีการเปิดหรือปิดฝากระโปรงท้ายรถ(สำหรับรถซีดาน)
กรณีของรถห้องเดี่ยวหรือรถแวน สามารถติดตั้งซับในมุมใดก็ได้ของส่วนสัมภาระท้ายรถ เพราะไม่มีปัญหาของสภาพห้องซ้ำซ้อนเหมือนรถซีดาน
การเปลี่ยนลักษณะช่องระบายเบส ให้เปลี่ยนโดยมีพื้นที่ปากท่อเท่ากัน ความลึกเท่าเดิม
สำหรับการเปลี่ยนลักษณะช่องระบายเบส จากทรงกลมไปเป็นทรงเหลี่ยม สามารถเปลี่ยนโดยมีพื้นที่ปากท่อเท่ากัน และความลึกคงเดิม อาทิ เดิมเป็นท่อกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ต้องการเปลี่ยนเป็นท่อเหลี่ยม ก็ใช้สูตรหาพื้นที่วงกลม (pi x r2) เท่ากับ (3.141 x 9”) = 28.27 ตารางนิ้ว จากนั้นให้หาขนาดพื้นที่เหลี่ยม ที่มีขนาดพื้นที่เดียวกัน โดยใช้สูตรหาพื้นที่เหลี่ยม (H x W) เท่ากับ (4” x 7.07”) = 28.28 ตารางนิ้ว โดยคงความลึกของท่อไว้เท่าเดิม
กรณีใช้แผ่นพื้นรถเป็นส่วนหนึ่งของผนังตู้ จำต้องมีการยับยั้งการกระพือให้เหมาะสม
ในการใช้พื้นตัวถังรถด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของตู้ซับวูฟเฟอร์ จำเป็นจะต้องทำการยับยั้งการกระเพื่อมของแผ่นโลหะ โดยการติดตั้งแผ่นแด็มปิ้งลงไปก่อน เพื่อทำให้พื้นตัวถังรถมีสภาพเหมาะสมสำหรับการเป็นผนังส่วนหนึ่งของตู้ซับวูเฟอร์
ควรพ่น”กันความชื้น”ของตู้ซับที่ทำจากไม้ เพื่อความทนทานก่อนห่อหุ้ม
สำหรับการออกแบบตู้ซับวูฟเฟอร์ด้วยไม้ mdf แนะนำก่อนการติดตั้งหรือห่อหุ้มเพื่อความสวยงาม ให้ทำการพ่นด้วย”กันความชื้น”ชั้นหนึ่งก่อน มีผลทำให้เนื้อไม้มีความทนทานต่อความชื้น ไม่บวมโป่งเร็วเกินไป รวมถึงสามารถยึดเกาะผิวที่นำมาห่อหุ้มได้ทนนานขึ้นด้วย
กรณีใช้ไม้ขนาดบางในการทำตู้ ควรทำการวางกระดูกงูด้านในเสริมความแข็งแรง
ในการออกแบบตู้ด้วยไม้บางเพื่อผลในเรื่องของน้ำหนักที่เบาลง แนะนำให้ใช้ไม้ยางขนาดหนา 2 นิ้ว ดามด้านในตู้เพื่อเสริมความแข็งแรง กันการกระเพื่อมของผนังตู้ขณะที่ซับวูฟเฟอร์ทำงาน โดยต้องตรวจเช็คความแข็งแกร่งของผนังตู้ให้เหมาะสมด้วย
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound