การใช้โปรแกรม BassBox เพื่อหาซับที่เหมาะสมกับตู้ที่มีอยู่
- วันที่: 06/06/2011 18:52
- จำนวนคนเข้าชม: 41339
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound
สำหรับส่วนของการใช้โปรแกรม BassBox Pro ในการออกแบบตู้ซับวูฟเฟอร์ในรถยนต์ ในคราวนี้เป็นการใช้โปรแกรม BassBox Pro เพื่อหาซับฯที่เหมาะสมกับตู้ที่มีอยู่
ขนาดตู้ที่มี
ในกรณีตัวอย่างนี้ เรากำหนดเงื่อนไขว่าเรามีตู้ซับวูฟเฟอร์ที่เป็นตู้แบบปิดอยู่แล้วในรถ และต้องการหาว่าซับวูฟเฟอร์ตัวใดจะเหมาะสมกับตู้ซับวูฟเฟอร์ที่มีอยู่แล้วนี้มากที่สุด โดยวิเคราะห์จากผลตอบสนองตามค่าปัจจัยที่มี สำหรับขนาดตู้ซับวูฟเฟอร์ที่มีอยู่แล้วนี้มีขนาดวัดจากภายนอกได้เป็น 14 x 12 x 13 x 9 นิ้ว ใช้ไม้ขนาด 16 มิลลิเมตร(0.63 นิ้ว) สำหรับปัจจัยในเรื่องกำลังวัตต์เพื่อขับลำโพงซับ ผมกำหนดไว้ที่ 300 วัตต์ RMS
ภาพขนาดต่างๆของตู้ซับวูฟเฟอร์ที่มีอยู่แล้ว
ซับวูฟเฟอร์ที่คาดว่าจะนำมาติดตั้ง
สำหรับซับวูฟเฟอร์ที่จะนำมาติดตั้งนั้น ในกรณีนี้ผมได้สุ่มเลือกเอามา 3 ตัว(ในการทำงานปกติให้เลือกตามความเป็นจริงได้ครับ)ประกอบด้วย A10s, RS10, CF210 เพื่อนำเข้าสู่โปรแกรมเพื่อคำนวณหาซับฯที่เหมาะสมกับตู้ที่เรามีอยู่แล้วมากที่สุด โดยนำสเปคไปป้อนเข้าในหน้าต่าง Design ที่เปิดไว้พร้อมกัน 3 หน้าต่าง(กรณีที่มีซับฯในใจมากกว่านี้ก็สามารถเปิดหน้าต่างเพิ่มได้)
สเปคของซับวูฟเฟอร์แต่ละตัว
จากนั้นให้เปิดหน้าต่างสำหรับงานออกแบบขึ้นมา 3 หน้าต่าง โดยแต่ละหน้าต่างให้ป้อนข้อมูลของซับฯแต่ละตัวลงไปจนครบทั้ง 3 หน้าต่าง(สเปคซับฯตัวหนึ่งก็หน้าต่างหนึ่ง ในตัวอย่าง Design 1 เป็นของซับฯ A10s, Design 2 เป็นของซับฯ RS10, Design 3 เป็นของซับฯ CF210)
คลิ๊กที่ช่อง Box ในแต่ละ Design เพื่อป้อนขนาดและข้อมูลต่างๆของตู้ลงไป โดยในแต่ละ Design จะใช้ขนาดตู้เหมือนกันหมด มีสาระสำคัญดังนี้ ชนิดหรือประเภทของตู้ให้เลือกเป็น Closed Box (เพราะตู้ที่เรามีอยู่เป็นตู้ปิด) รูปทรงให้เลือกเป็น Prism, slanted front คลิ๊กที่ปุ่มขนาดเป็น External(ภายนอก)
ป้อนตัวเลขความหนาของไม้ในช่อง Wall Thickness เป็น 0.63 นิ้ว(16 มิลลิเมตร) และในช่อง Side เป็น 0.63 นิ้วเช่นกัน ในช่อง A ป้อน 14, ช่อง B ป้อน 12, ช่อง C ป้อน 13 และช่อง D ป้อน 9 (หน่วยเป็นนิ้ว) ช่องที่เหลือโปรแกรมจะคำนวณให้
สำหรับขนาดตู้ซับฯที่เรามีอยู่ จะมีปริมาตรภายในสุทธิ(Total)โดยยังไม่หักปริมาตรของตัวซับฯ ที่ 0.769 ลูกบาศก์ฟุต ส่วนปริมาตรเมื่อติดตั้งซับวูฟเฟอร์เข้าไปแล้ว(Vb)จะเหลือเท่ากับ 0.712 ลูกบาศก์ฟุต ซึ่งข้อสำคัญในส่วนนี้ก็คือในการกรอกรายละเอียดของซับวูฟเฟอร์ ต้องป้อนข้อมูลในส่วนของ”สัดส่วน”ตัวซับวูฟเฟอร์ลงไปด้วย ไม่เช่นนั้นโปรแกรมจะคำนวณตัวเลขในส่วนนี้ให้ไม่ได้
ภาพการป้อนข้อมูลของตู้ซับแบบปิดที่มีอยู่
ภาพการป้อนข้อมูลสัดส่วนของตัวซับในช่อง Dimensions
หลังจากป้อนข้อมูลต่างๆเข้าไปจนครบถ้วนทั้งส่วนของสเปคตัวซับฯและขนาดของตัวตู้ เราจะได้กราฟตอบสนองความถี่ของซับฯแต่ละตัวในตู้ขนาดเดียวกันนี้ ซึ่งเราจะนำกราฟต่างๆนี้มาวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผลที่ดีที่สุดในการเลือกซับฯเพื่อใช้งานจริง
กราฟตอบสนองความถี่รวมของซับแต่ละตัวในตู้ที่มีอยู่
จากกราฟ CA ซับ CF 210 ให้การตอบสนองทางด้านลึก F3 ได้ดีกว่า RS10 เล็กน้อย แต่ RS10 ให้กำลังเสียงในช่วงความถี่ 70 Hz ขึ้นไปได้มากกว่าเล็กน้อย
กราฟตอบสนองความถี่ตามกำลังวัตต์
กราฟการขยับกรวยของ A10s ที่กำลัง 300 วัตต์
คลิ๊กเลือกที่ CD คลิ๊กที่ปุ่ม Clear แล้วคลิ๊กปุ่ม Plot ที่ Design 1 เราก็จะได้กราฟการขยับกรวยของซับ A10s ซึ่งมี Xmax ถึง 9 mm จึงขยับกรวยได้ถึงความถี่ประมาณ 25 Hz เมื่อป้อนกำลังขับ 300 วัตต์(ตัวซับฯรับวัตต์ RMS ได้ 200 วัตต์) จากนั้นคลิ๊กที่ปุ่ม Clear แล้วคลิ๊กปุ่ม Plot ที่ Design 2 ก็จะได้กราฟการขยับกรวยของซับ RS10
กราฟการขยับกรวยของ RS10 ที่กำลัง 300 วัตต์
จะเห็นได้ว่าซับ RS10 นั้นมีกราฟขยับกรวยได้แค่ที่ความถี่ประมาณ 68 Hz เมื่อป้อนกำลังวัตต์ 300 วัตต์ เนื่องจากมี Xmax แค่เพียง 5.52 mm และรับกำลังวัตต์ได้แค่ 175 วัตต์ ถ้าต้องการใช้งานจริงๆจะต้องลดกำลังวัตต์ลงมาที่ 150 วัตต์ ก็จะขยับกรวยได้ถึงที่ความถี่ 45 Hz โดยซับฯไม่เสียหาย
คลิ๊กที่ปุ่ม Clear แล้วคลิ๊กปุ่ม Plot ที่ Design 3 ก็จะได้กราฟการขยับกรวยของซับ CF210 ที่เมื่อป้อนกำลังวัตต์ที่ 300 วัตต์ จะขยับกรวยได้แค่ที่ความถี่ 60 Hz (ถ้าป้อนความถี่ต่ำกว่านี้ซับฯจะเสียหาย) เนื่องจากมี Xmax แค่ 6 mm และรับกำลังวัตต์ได้ 150 วัตต์ ดังนั้นถ้าเปลี่ยนกำลังวัตต์ที่ป้อนเข้าซับให้เหลือแค่เพียง 100 วัตต์ ซับก็สามารถทำงานปกติโดยขยับกรวยได้ถึงความถี่ 28 Hz
กราฟการขยับกรวยของ CF210 ที่กำลัง 100 วัตต์
จากเงื่อนไขดังกล่าว จะเห็นได้ว่าด้วยตู้ซับวูฟเฟอร์ที่เรามีอยู่ และกำลังวัตต์ขับซับในระบบที่ 300 วัตต์นั้น ซับฯวูฟเฟอร์ A10s เหมาะสมที่สุด ด้วยเหตุผลการตอบสนองความถี่โดยรวมที่เหมาะสม สามารถทำงานที่กำลังวัตต์ได้ถึง 300 วัตต์โดยซับฯไม่เสียหาย สามารถทำความดังได้ถึง 108.8 dB ที่ความถี่ 60.04 Hz
ในกรณีที่ยังไม่พึงพอใจกับประสิทธิภาพ เราสามารถเพิ่มช่อง Design ได้อีก ในตัวอย่างเราจะเพิ่มช่อง Design 4 เพื่อเลือกซับวูฟเฟอร์อื่นๆมาเปรียบเทียบ โดยผมจะนำเอาซับวูฟเฟอร์ 10 W 3 D2 มาต่อวอยซ์อนุกรมกันเป็น 4 โอห์มเพื่อลองใช้กับตู้ใบนี้
เมื่อเรียกกราฟตอบสนองความถี่ที่ 300 วัตต์ ของทั้ง A10s และ 10W3 D2 มาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่า 10W3 D2 นั้น ทำงานในย่านความถี่ต่ำได้ดีกว่าเล็กน้อย
และเมื่อเลือกที่กราฟ CD จะเห็นข้อได้เปรียบของ 10W3 D2 กับตู้ซับใบนี้ได้อย่างชัดเจน นั่นคือสามารถขยับกรวยไปได้ถึงความถี่ 5 Hz ด้วยกำลังขับ 300 วัตต์ อันเนื่องมาจากมี Xmax ถึง 13.94 mm และรับกำลังวัตต์ต่อวอยซ์คอยล์ได้ถึง 250 วัตต์
กราฟการขยับกรวยของ 10W3 D2 ที่กำลัง 300 วัตต์
ลิขสิทธิ์บทความโดย: Rocket Sound