การแมทแพร์ ”พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์”
- วันที่: 22/06/2010 16:32
- จำนวนคนเข้าชม: 8451
โบราณว่าอะไรที่ต้องใช้เป็นคู่ จะต้องสามารถทำงานได้ในวินาทีเดียวกัน ถ้าข้างใดข้างหนึ่งช้ากว่าหรือเร็วกว่าก็จะเกิดปัญหาในเรื่องความสมดุล สุดท้ายก็ตามมาด้วยลักษณะการทำงานที่ไม่เสถียร ปลายทางก็คือการไร้ประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์
ลองนึกถึงการเดินเท้าของมนุษย์ ถ้าขาข้างหนึ่งก้าวเร็วและยาวกว่าอีกข้างหนึ่งตลอดเวลา สภาพการเดินก็จะไม่เสถียร ไม่สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคง และไม่สามารถหาประสิทธิภาพของการเดินได้อย่างสมบูรณ์ เช่นกันกับอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ต้องทำงานเป็นคู่(ซ้าย/ขวา) ที่จะต้องให้วินาทีของการทำงานที่เท่ากันหรือทัดเทียมกันตลอดเวลา
ในวงจรของพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์นั้น มักจะมีอุปกรณ์หลักที่ใช้งานกันอยู่ไม่กี่จำพวก ได้แก่ C หรือคาปาซิเตอร์, L หรือกลุ่มขดลวด และ R หรือตัวต้านทานแรงดันกระแส เพื่อจัดสมดุลให้กับเส้นทางของสัญญาณเสียงไปยังปลายทาง(ลำโพง)ได้อย่างถูกต้อง/แม่นยำ
และอุปกรณ์ที่ถือว่ามีผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่ทัดเทียมกันอันดับต้นๆเลย ก็คือคาปาซิเตอร์(ค่า C) รองลงมาก็คือรีซิสเตอร์(ค่า R) และท้ายสุดคือกลุ่มขดลวด(ค่า L) เหตุผลก็เพราะ C นั้นจะมีการทำงานของการเก็บ/คายประจุที่รวดเร็ว การทำงานที่คลาดเคลื่อนกันในระดับนาโนวินาทีก็ย่อมมีความแตกต่างกันทางด้านเสียง ด้วยเหตุที่ว่า C มักทำงานกับย่านความถี่สูงที่มีความยาวคลื่นแค่ 0.5 ถึง 1 นิ้วเท่านั้น ดังนั้นการแมทแพร์หรือการจับคู่ประสิทธิภาพระหว่าง C ในพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ ของชุดลำโพงซ้ายและชุดลำโพงขวา จึงมักส่งผลในเรื่องของคุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง