การฟังและวินิจฉัย ระบบเสียงที่ให้คุณภาพสูง
- วันที่: 08/11/2014 16:04
- จำนวนคนเข้าชม: 8147
ระบบเสียงที่มีคุณภาพเหมาะสมในทุกๆกรณี ท่านจะต้องสามารถนั่งฟังและหลับตาช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วให้ความรู้สึกราวกับว่าท่านกำลังเป็นผู้นั่งชม “การแสดงดนตรีสด” ในบทเพลงนั้น เหมือนง่าย...แต่ไม่ง่าย เพราะท่านจะต้องมีหลักในการวินิจฉัย เพื่อค้นหาจุดบกพร่องสำหรับการปรับปรุงต่อไป ดังนี้
โทนเสียง (Tonality)
ปกติเป็นเรื่องของความถูกต้องของ “โทนเสียง” หรือ “สมดุลแห่งแถบเสียง” หมายถึงการตอบสนองความถี่เสียงของระบบ จะต้องอยู่ในรูปแบบของ “เสียงที่สม่ำเสมอกันตลอดย่าน 20Hz ถึง 20,000Hz” จึงจะทำให้เสียงดนตรีมีความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมัน เสียงของแซกโซโฟนต้องแสดงออกมาในโทนเสียงของแซกโซโฟน ไม่ใช่โทนเสียงของทรอมโบน, ฮอร์นฝรั่งเศส, ทูบา หรือเสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองอื่นๆ
ระบบที่มี Tonality เยี่ยมยอด จะช่วยให้ผู้ฟังแยกแยะความแตกต่างของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจน และระบุได้ตรงตามความเป็นจริง
นิยามของการระบุโทนเสียงมี 6 ลักษณะด้วยกันคือ มีความดังถูกต้อง(loudness), มีลำดับเสียงถูกต้อง(pitch), มีคุณลักษณ์ถูกต้อง(timbre), มีการกล้ำสัญญาณถูกต้อง(modulation), มีคาบเวลาต่อเนื่องถูกต้อง(duration), มีช่วงเกิดเสียงและจางหายถูกต้อง(attack and decay)
Loudness คือ จำนวนของคลื่นที่มีตามลักษณะของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ อาทิ เครื่องดนตรีเป่า มีจำนวนคลื่นมากกว่า เครื่องดนตรีเคาะ
Pitch คือ ลำดับเสียงหรือระดับเสียง อาทิ เครื่องดนตรีเป่าอยู่ระดับหนึ่ง ส่วนเครื่องดนตรีเคาะก็อยู่อีกระดับหนึ่ง ไม่เท่ากัน
Timbre คือ ท่วงทำนองที่ต่างกันของเครื่องดนตรี อาทิ เครื่องดนตรีเป่าแบบหนึ่ง กีต้าร์ก็แบบหนึ่ง แม้จะเล่นในคอร์ดเดียวกัน
Modulation คือ การเปลี่ยนคีย์จากคีย์หนึ่งไปอีกคีย์หนึ่งในบทเพลงเดียวกัน
Duration คือ ความสั้น ความยาว ของเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ
Attack คือ จุดเริ่มของเสียงหรือการเริ่มต้นของเสียงเครื่องดนตรีนั้นๆ แซกโซโฟน และทูบา มีการเริ่มต้นเสียงแรกที่ไม่เหมือนกัน
Decay คือ ระยะเวลาของเสียงที่ค่อยๆแผ่วปลายเสียงลง อาทิ ฮอร์นฝรั่งเศส กังวานนานกว่า ทรอมโบน ในคอร์ดเดียวกัน
ตำแหน่งเวทีเสียงที่รับรู้ (Listening Position relative to sound stage)
เมื่อเรานั่งชมการแสดงดนตรีสด นักดนตรีจะอยู่บนเวทีเบื้องหน้าของท่าน ระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง จะให้ความรู้สึกเหมือนว่านักดนตรีกำลังเล่นอยู่ตรงเบื้องหน้าของท่าน
ความกว้างเวที(Stage Width)
แผ่นที่บันทึกมาอย่างมีคุณภาพ เมื่อนำมาเล่นกลับในระบบเสียงคุณภาพสูง จะให้ความกว้างของชั้นเวทีที่เกือบเท่าความเป็นจริง และแผ่ขยายออกไปเกินขอบเขตของตัวรถ
ความสูงเวที(Stage Height)
การระบุความสูงของเวที โดยทั่วไปจะอ้างอิงที่ระดับสายตาหรือสูงกว่าเล็กน้อย ต่ำเกินไปก็ไม่เสมือนจริง สูงเกินไปก็ไม่เสมือนจริง
ความลึกเวที(Stage Depth)
การระบุความลึกของเวที มักอ้างอิงกับตำแหน่งจริงของนักดนตรีที่เล่นในขณะนั้น อย่างเช่น นักดนตรีในวง Trio ที่นักร้องนำจะยืนอยู่ด้านหน้า คนเป่าแซกโซโฟนยืนอยู่ด้านหลังแถวแรกเยื้องไปทางซ้าย คนเล่นคีย์บอร์ดอยู่ด้านหลังแถวสองเยื้องไปทางขวา และมือกลองอยู่แถวสามด้านหลังของนักร้องนำ อย่างนี้ความลึกของเวทีจะหยุดอยู่ที่มือกลอง ในขณะที่ระยะห่างของนักดนตรีแต่ละคนในวงจะต้องมีระยะที่ถูกต้อง(ช่วงห่างของนักดนตรีแต่ละท่าน) รวมถึงนักร้องนำจะต้องไม่ล้ำหน้าเกินพื้นเวทีจริง (หรือยืนอยู่พ้นขอบเวทีด้านหน้าออกมาเกินความเป็นจริง)
บรรยากาศ(Ambience)
มีความหมายถึงบรรยากาศของเสียงเพลงที่ได้ยิน โดยอ้างอิงกับลักษณะการบันทึก อาทิ บันทึกในห้องบันทึกเสียงขนาดกลาง หรือบันทึกจากโรงแสดงดนตรีขนาดใหญ่ ซึ่งจะให้บรรยากาศของเสียงที่ได้ยินคนละลักษณะกัน ระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง จะต้องแสดงออกถึงบรรยากาศที่แตกต่างกันนั้นได้อย่างเด่นชัด
ภาพในจินตนาการ(Imaging)
ในระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง ส่วนของเวทีเสียงที่ถูกต้อง มักจะถูกแยกออกเป็น 5 ส่วนในอุดมคติ ประกอบด้วย ซ้าย กลางซ้าย ศูนย์กลางหรือกึ่งกลาง กลางขวา และขวา ที่เมื่อแผ่นที่ถูกบันทึกมาอย่างดีถูกนำมาเล่นกลับในระบบ สามารถทำให้เกิดภาพในจินตนาการว่า นักดนตรีใดกับเครื่องดนตรีชิ้นใด กำลังเล่นอยู่ในตำแหน่งนั้นๆของพื้นเวทีเสียง รวมถึงการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของเวที หากมีปรากฏในแผ่นบันทึก
ความเที่ยงตรงในระดับเสียง(Sound Linearity)
ระบบเสียงคุณภาพสูง จะให้ความสามารถในการฟังด้วยระดับความดังเสียงที่ต่างกัน 3 ระดับ อันได้แก่ ฟังค่อนข้างเบา, ฟังดังปานกลาง และฟังดังมาก โดยที่สัดส่วนของย่านเสียงทุ้ม, กลาง และแหลม ของเสียงโดยรวม เป็นไปตามความจริง อาทิ ถ้าฟังค่อนข้างเบาเสียงเบสมีน้อย แต่เมื่อฟังดังมากเสียงเบสกลบเสียงกลางเสียงแหลมจนฟังไม่เป็นเพลง อย่างนี้ถือว่ายังเป็นระบบที่ไม่สมบูรณ์แบบ
แรงปะทะเคลื่อนไหว(Dynamic Impact)
ระบบเสียงคุณภาพสูง ต้องสามารถสร้าง “feel” หรือความรู้สึกเร่งเร้าในเสียงเพลงได้อย่างเป็นอย่างดี ที่เมื่อแบ่งเสียงเพลงออกเป็นสองลักษณะ คือ เสียงที่เราได้ยินและสิ่งที่เรารู้สึก ที่เหมือนว่าเมื่อท่านนั่งชมการแสดงดนตรี จะมีความรู้สึกว่ามีคลื่นมากระทบหน้าอกหรือท้องน้อย หรือเกิดอาการสะดุ้ง หรือกระพริบตา หรือกระตุกขา หรือแสดงออกทางร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่ดนตรีเล่นอยู่จังหวะใดจังหวะหนึ่ง เหล่านี้เป็นแรงปะทะเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเมื่อนำคอร์ดหลายคอร์ดในดนตรีมาเรียงร้อยเป็นเพลง และมีผลกระตุ้นปฏิกิริยาทางกายภาพ ภายใต้จิตสำนึกจาก “ความรู้สึก”
ครับ...สิ่งเหล่านี้ คือประสิทธิผลที่ระบบเสียงคุณภาพสูงสามารถนำเสนอออกมาได้ โดยต้องเน้นเป็นอย่างหนักกับ “สื่อที่นำมาใช้” เพราะระบบจะแสดงประสิทธิผลเต็มที่ กับแผ่นหรือสื่อที่บันทึกมาอย่างมีนัยยะ อาทิ ถ้านำเพลงที่บันทึกมาแบบมัลติแทรก หรือบันทึกเสียงคนละที่ คนละเวลากันมาเล่น อย่างนี้ก็ไม่มีทางที่ระบบจะแสดงประสิทธิผลในเรื่องของเวทีเสียง หรือตำแหน่งของนักดนตรีได้ หรืออื่นใดในนิยามที่กล่าวมา แม้ว่าจะเป็นระบบเสียงมูลค่าล้าน..ล้านบาทก็ตาม