PathLengths หลักสำคัญในการสร้างเวทีเสียงในรถยนต์
- วันที่: 08/11/2014 16:01
- จำนวนคนเข้าชม: 8788
Pathlengths
คำว่า Path หมายถึง เส้นทาง
คำว่า Lengths หมายถึง ความยาว
ดังนั้นเราจะขอเรียกหลักทฤษฎีนี้ในชื่อ “ความยาวของเส้นทาง” เพื่อให้เห็นภาพรวมในหลักการนี้ได้อย่างถ่องแท้
ท้าวความถึงการวางตำแหน่งลำโพงในระบบเครื่องเสียงบ้าน ที่เรามักจะวางตำแหน่งลำโพง(ตู้ลำโพง)สำหรับด้านซ้ายและด้านขวา ให้เยื้องหรือห่างจากจุดนั่งฟัง(โซฟาฟังเพลง) ไปทางด้านซ้ายและด้านขวาในพิกัดเท่าๆกัน โดยพื้นฐานคือลำโพงแต่ละตัว(ตู้)ห่างระหว่างกัน 4 ถึง 5 เมตร และจุดนั่งฟังจะห่างจากตำแหน่งระหว่างลำโพง ห่างออกมาประมาณ 4 ถึง 5 เมตร นั่นทำให้หูแต่ข้างของคนเรา ห่างจากลำโพงเป็นระยะทางที่เท่าๆกัน (หรือ d1 = d2)
การที่หูของเราทั้งสองข้าง ได้รับเสียงจากลำโพงแต่ละด้านในเวลาที่เท่าๆกัน ก็จะสามารถประมวลผล “ความซับซ้อน” ที่บันทึกมาในระบบสเตอริโอได้อย่างสมบูรณ์ ก่อให้เกิด “จินตภาพ” ราวกับว่ามีเวทีเสียงปรากฏขึ้นจริงๆในระหว่างลำโพงทั้งสองด้าน
สำหรับการฟังในห้องโดยสารรถยนต์นั้น อาจเป็นไปได้ยากที่เราจะกำหนดตำแหน่งนั่งฟังให้อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้งคู่ได้ เนื่องจากสภาพเดิมของห้องโดยสารในรถยนต์ ตำแหน่งคนขับมักจะอยู่ชิดไปด้านใดด้านหนึ่งของชุดลำโพง อาทิ ถ้าเป็นรถพวงมาลัยขวา คนขับ(ส่วนใหญ่คือผู้ฟัง)มักอยู่ชิดกับลำโพงชุดด้านขวามากกว่าด้านซ้าย
ตำแหน่งการวางลำโพงจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ (โดยเฉพาะชุดลำโพงที่รับผิดชอบเสียงในย่าน 160 Hz ถึง 20,000 Hz) ยกตัวอย่างเช่นการวางตำแหน่งลำโพงที่บานประตูทั้งสองด้าน จะทำให้เกิด PathLengths ที่ต่างกันอย่างมาก (สามารถใช้ตลับเมตรลองวัดความยาว ระหว่างหูและลำโพง เพื่อตรวจสอบดูได้) หรือหมายถึง d1 ที่น้อยกว่า d2 อย่างมากมาย นั่นจึงทำให้การเกิด “จินตภาพ” ของเวทีเสียงเสมือนคลาดเคลื่อนไป ยิ่ง d1 น้อยกว่า d2 มากๆ อย่างเช่น 1 ฟุต กับ 4 ฟุต หูแต่ละด้านของผู้ฟังก็จะได้ยินเสียงในเวลาที่แตกต่างกันถึง 2 หรือ 3 เท่า หรือประมาณ 0.22 ms
ด้วยหลักการนี้ เราสามารถลองกำหนดตำแหน่งของการวางชุดลำโพงใหม่ ด้วยการวัดระยะทางจากหูด้านซ้ายไปที่ลำโพงด้านซ้าย และหูด้านขวาไปยังลำโพงด้านขวา ให้มีระยะทางหรือระยะห่างที่แตกต่างกันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวขับเสียง(ลำโพง)ที่รับผิดชอบย่านเสียงช่วง 160 Hz ถึง 3 kHz (โดยทั่วไปคือลำโพงมิดเรนจ์หรือมิดวูฟเฟอร์)
เท่าไหร่จึงเหมาะสม
ยกตัวอย่างรถที่มีความกว้างของห้องโดยสารที่ 4 ฟุต ตำแหน่งลำโพงที่อยู่ใกล้คนขับ(หมายถึงชุดลำโพงด้านขวา) ควรมีระยะห่างจากหูด้านขวา ได้มากกว่า 3.5 ฟุตขึ้นไป และลำโพงที่อยู่ด้านตรงข้ามกับคนขับ(หมายถึงชุดลำโพงด้านซ้าย) สามารถมีระยะห่างจากหูด้านซ้าย ได้ไม่เกิน 4 ฟุต ซึ่งหากสามารถวางตำแหน่งลำโพงได้ตามนี้ d1 จะน้อยกว่า d2 แค่ไม่เกิน 0.5 ฟุต (หรือประมาณการได้ว่าลำโพงด้านขวามาถึงหูด้านขวาเร็วกว่าหูด้านซ้าย แค่ 0.04 milliseconds-ms เท่านั้น)
การทดลองในเรื่องของ PathLengths หรือ ความยาวของเส้นทาง นี้ สามารถทำได้ง่ายๆ(สำหรับรถ 4 ประตู พื้นฐาน) โดยเปิดเสียงลำโพงเฉพาะส่วนของลำโพงชุดด้านหน้ารถ จากนั้นร่นเบาะด้านคนขับเลื่อนไปด้านหน้าให้สุด พับเอนเบาะแหงนไปทางด้านหลังเล็กน้อย (ควรให้ตำกว่าระดับหน้าอก) พร้อมกับถอดหัวหมอนออก แล้วให้ลองเข้าไปนั่งฟังเพลงที่เบาะที่นั่งด้านหลังขวา(เบาะผู้โดยสารตอนหลัง ด้านหลังเบาะคนขับ) จะเห็น “จินตภาพ” ของเวทีเสียงปรากฏขึ้นในบัดดล
นี่เป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำไปประยุกต์คิดค้นคว้าต่อยอดได้ หากมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงซึ่ง “การฟังอย่างฟร้อนท์สเตจ” ที่สมบูรณ์แบบที่สุด