เรื่องฟิล์มกันความร้อน ในรถยนต์
- วันที่: 03/05/2014 15:24
- จำนวนคนเข้าชม: 8789
สำหรับประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแล้ว มักจะมีแสงแดดที่สาดส่องอยู่ตลอดแทบทั้งปี ในแสงแดดนั้นนอกจากจะมีรังสีในช่วงต่างๆแล้ว ยังประกอบด้วยรังสียูวี และรังสีอินฟราเรด (รังสีความร้อน) ซึ่งรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นรังสีที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็น และเป็นรังสีที่เรามักไม่ค่อยมีความต้องการ ถึงแม้ว่ารังสียูวีจะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างวิตามิน “ดี” ได้ก็ตาม แต่มันก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ใบหน้าและผิวพรรณหมองคล้ำ เกิดฝ้า และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
นอกจากนี้รังสียูวียังทำให้วัตถุหรือสิ่งของที่อยู่กลางแดดนั้นเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จึงมีการค้นคิดสิ่งประดิษฐ์หนึ่งขึ้นมาเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวีและรังสีความร้อน นั่นคือ ฟิล์มกรองแสง(ปัจจุบันมักเรียกกันว่าฟิล์มกันความร้อน) โดยที่ฟิล์มจะทำหน้าที่กรองแสงสว่าง พร้อมกับการกรองรังสียูวีและรังสีความร้อนที่จะทะลุผ่านเนื้อฟิล์มเข้ามาภายในรถยนต์ ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของระบบทำความเย็น เพิ่มความสวยงามให้กับตัวรถ เพิ่มความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ที่อยู่ภายในรถ และช่วยลดอันตรายเมื่อกระจกแตก เนื่องจากแผ่นฟิล์มจะทำหน้าที่ยึดเศษกระจกแตกไว้ไม่ให้กระเด็นออกไป
เริ่มที่ฟิล์มกรองแสง
บริษัท VTECT ถือได้ว่าเป็นบริษัทแรกที่ได้รับสิทธิบัตรเรื่องฟิล์มกรองแสงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 โดยฟิล์มกรองแสงยุคแรกๆที่ผลิตออกมา จะเป็นฟิล์มกรองแสงแบบผสมสี (dye)เข้าไป เพื่อกรองแสงสว่างเป็นหลัก ขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนยังค่อนข้างต่ำ
เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น จึงได้มีการนำเอาโลหะมาเคลือบลงบนแผ่นฟิล์ม เพื่อให้ฟิล์มมีสมบัติในการกรองแสงสว่าง ป้องกันรังสียูวี และรังสีความร้อนได้ด้วย ฟิล์มที่ได้รับการเคลือบโลหะนี้ เรามักเรียกกันติดปากว่า “ฟิล์มปรอทหรือฟิล์มฉาบปรอท” เนื่องจากฟิล์มเคลือบโลหะที่ผลิตออกมาในยุคแรกๆ จะมีลักษณะแวววาวเป็นสีเงินขาวคล้ายโลหะปรอท และสะท้อนแสงได้ดีเหมือนกระจกเงา ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่มีการใช้โลหะที่เป็นปรอทเลยแม้แต่น้อย โลหะที่นิยมเคลือบบนเนื้อฟิล์มก็คือ “อะลูมิเนียม” (นอกจากการเคลือบฟิล์มกรองแสงแล้ว อะลูมิเนียมยังถูกเคลือบบนแผ่นกระจกเพื่อผลิตกระจกเงาได้ด้วยเข่นกัน)
หลังจากนั้นมีการนำเทคโนโลยีการเคลือบโลหะด้วยวิธีสปัตเตอริง (sputtering) มาใช้ ทำให้ชั้นของโลหะที่เคลือบบนแผ่นฟิล์มบางลง อนุภาคโลหะที่เคลือบก็มีขนาดเล็กลง เมื่อผนวกกับการเติมสีเข้าไปในแผ่นฟิล์ม ทำให้แผ่นฟิล์มกรองแสงที่ผลิตขึ้นมานี้ มีสีสันต่างๆ ให้เลือกได้หลากหลาย และฟิล์มกรองแสงก็จะมีลักษณะแวววาวน้อยลง แต่ก็ยังถูกเรียกว่า ฟิล์มปรอทหรือฟิล์มฉาบปรอทอยู่เช่นเดิม ตามความคุ้นเคย
โครงสร้างของฟิล์ม
แม้ว่าฟิล์มกรองแสงที่จำหน่ายในท้องตลาดจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด แต่ฟิล์มกรองแสงทุกชนิดก็จะประกอบด้วยโครงสร้างหลักๆดังนี้
1.แผ่นฟิล์มไลน์เนอร์ (protective release liner) เป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกเคลือบซิลิโคนปิดฟิล์มกรองแสงด้านที่ทากาวไว้
2.กาว (adhesive) เป็นสารยึดติดคุณภาพสูง ทำหน้าที่ยึดแผ่นฟิล์มกรองแสงเข้ากับกระจก
3.แผ่นฟิล์มโพลิเอสเทอร์ (polyester film) แผ่นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรง ผลิตจากแผ่นโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลท (polyethylene terephthalate, หรือ PET - พลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำดื่มใส ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ฯลฯ) โดยจำนวนชั้นของแผ่นพลาสติกใสนี้สามารถมีได้มากกว่า 1 ชั้น
4.ชั้นเคลือบป้องกันการขีดข่วน (scratch resistant coating) เป็นชั้นเคลือบแข็งของอะคริลิก (acrylic) ช่วยป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนบนฟิล์มโพลิเอสเทอร์
5.สี โลหะ โลหะผสม และสารป้องกันรังสียูวี (dyes, metals, alloys, UV inhibitors) สารเหล่านี้ถูกเติมลงไปเพื่อให้ฟิล์มโพลิเอสเทอร์มีสมบัติเฉพาะอย่างตามที่ต้องการ
ประเภทของฟิล์มกรองแสง
ฟิล์มกรองแสงจะแบ่งตามโครงสร้างการผลิต โดยที่นิยมใช้ผลิตเป็นฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด อันได้แก่
ชนิดที่ 1 Dyed Film, Economy, Non Reflective ฯลฯ โดยแบ่งโครงสร้างย่อยได้อีกดังนี้
1.1.EA Grade หรือ Dyed Polyester
1.2.Economy Grade หรือ Color in Adhesive
1.2.1.Ply 1 ชั้น
1.2.2.Ply 2 ชั้น
ชนิดที่ 2 Reflective, High Performance Grade หรือฟิล์มปรอท(ตามภาษาเรียก) โดยแบ่งโครงสร้างย่อยได้ดังนี้
2.1.Sputterring
2.2.Vacuum Coating
2.3.Hybrid
2.3.1.Ply 1 ชั้น
2.3.2.Ply 2 ชั้น
ชนิดที่ 3 Infrared Film (IR Film)
คุณสมบัติของแต่ละโครงสร้าง
ชนิดที่ 1 Dyed Film, Economy, Non Reflective ฯลฯ เป็นฟิล์มกรองแสงในยุคต้นๆของฟิลม์กรองแสง ฟิล์มชนิดนี้จะไม่ใช้เทคโนโลยี่ในการผลิตที่ซับซ้อนมากนัก กล่าวคือจะใช้การฉีดสีลงไปบนแผ่น PET และมักจะไม่มีส่วนผสมของอะตอมโลหะ จึงทำให้คุณสมบัติในการลดความร้อนไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ ที่มีความเข้มของฟิล์ม(หรือค่าแสงส่องผ่าน) ในระดับใกล้เคียงกัน
ฟิล์มกรองแสงแบบธรรมดานี้ เป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกสีเข้มเพื่อลดแสงสว่างจากภายนอก ความสามารถในการกรองแสงขึ้นอยู่กับความเข้มของสี โดยสีอาจถูกผสมเข้าไปในเนื้อฟิล์ม หรืออยู่ในกาว หรือเคลือบบนผิวฟิล์ม ฟิล์มกรองแสงชนิดนี้สะท้อนรังสีความร้อนได้น้อยหรือแทบไม่สะท้อน จุดเด่นของฟิล์มกรองแสงธรรมดาคือ ราคาถูก แต่จุดด้อยคือ มีอายุการใช้งานไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับฟิล์มกรองแสงประเภทอื่น โดยเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง สีของฟิล์มจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีน้ำตาลอ่อน (เรียกว่า ฟิล์มขึ้นสนิม) ซึ่งจะลดทัศนะวิสัยในการขับขี่ได้
ชนิดที่ 2 High Performance Grade, Reflective เป็นฟิลม์กรองแสงที่พัฒนาต่อจาก Dyed Film คือการลดความร้อนของ Dyed Film จะขึ้นอยู่กับความเข้มของฟิลม์เป็นหลัก คือยิ่งมีความเข้มมากยิ่งลดความร้อนได้มาก แต่ในการพัฒนาการผลิตฟิลม์กรองแสง ได้นำเอาส่วนของอะตอมโลหะเข้ามาเป็นส่วนผสมในการผลิต
ด้วยเพราะคุณสมบัติของโลหะ จะมีคุณสมบัติในการลดความร้อนได้ดี(สามารถลดรังสีอินฟราเรดได้เยอะมาก) และยิ่งมีความเข้มมาก ยิ่งลดความร้อนได้ดี รวมถึงฟิล์มดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าด้วย โดยฟิล์มที่ใช้การผลิตแบบผสมอนุภาคโลหะ สามารถแบ่งตามกรรมวิธีในการผลิตได้ 2 แบบใหญ่ดังนี้
2.1.Sputtering(สปัตเตอริง) เป็นการผลิตโดยใช้การเรียงตัวของอนุภาคโลหะ โดยใช้ก๊าซอาร์กอนเข้าไปทำปฎิกริยากับโลหะ ทำให้อะตอมของโลหะไปจับตัวเรียงกันที่เนื้อโพลีเอสเตอร์ ทำให้เกิดชั้นฟิล์มบางๆขึ้น 1 ชั้น
วิธีการ Sputtering นี่จะทำให้อะตอมของโลหะไปเรียงตัวที่แผ่นฟิล์มอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งอะตอมที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบนี้ จะช่วยปิดกลั้นรังสีความร้อนต่างๆที่ผ่านเข้ามาได้เป็นอย่างดี
การเคลือบ Sputtering เป็นวิธีที่มีความซับซ้อนกว่าการเคลือบในสุญญากาศ โดยห้องเคลือบระบบปิดจะถูกทำให้เกิดสภาพสุญญากาศก่อน และบรรจุก๊าซเฉื่อย เช่น ก๊าซอาร์กอน (Argon) เข้าไปแทนที่ กระบวนการเคลือบ Sputtering เป็นการระดมยิงโลหะที่ใช้เคลือบด้วยประจุบวกที่มีความเร็วสูง เพื่อให้อะตอมของโลหะหลุดออกไปติดที่ผิวแผ่นฟิล์ม จุดเด่นของวิธีนี้คือ ชั้นโลหะบนฟิล์มพลาสติกจะบางกว่าและอนุภาคโลหะที่ติดบนแผ่นฟิล์มก็มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นฟิล์มกรองแสงที่ผลิตด้วยวิธีนี้จะมีลักษณะแวววาวน้อยกว่า และที่สำคัญคือ การเคลือบสปัตเตอริงสามารถใช้กับโลหะได้หลากหลายชนิด เช่น ไทเทเนียม อะลูมิเนียม ทองแดง ฯลฯ แต่จุดด้อยของการเคลือบวิธีนี้คือ มันมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า และต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการเคลือบนานกว่า
จุดเด่นของฟิล์มกรองแสงเคลือบโลหะคือ มีอายุการใช้งานนานกว่าฟิล์มกรองแสงธรรมดามาก แต่จุดด้อยคือ ชั้นโลหะบนฟิล์มสามารถรบกวนการส่งผ่านคลื่นวิทยุในอุปกรณ์สื่อสารในรถยนต์ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์จีพีเอส (GPS) (แต่ในปัจจุบันมีกรรมวิธีเพื่อขจัดจุดด้อยเหล่านี้ได้แล้ว)
ฟิล์มกรองแสงเคลือบวัสดุอื่น วัสดุที่ใช้เคลือบได้แก่ อนุภาคคาร์บอน (carbon) และเซรามิก (ceramic) ทั้งสองชนิดเป็นฟิล์มกรองแสงที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและใช้มากเท่าฟิล์มกรองแสง 2 ประเภทแรก ฟิล์มประเภทนี้จะเคลือบอนุภาคคาร์บอนหรืออนุภาคเซรามิกลงบนเนื้อฟิล์มแทนการใช้สีและโลหะ ซึ่งวัสดุให้ประสิทธิภาพในการกรองแสงสว่าง กรองรังสียูวี และรังสีความร้อนได้ดีเช่นกัน จุดเด่นของฟิล์มกรองแสงประเภทนี้คือ มีอายุการใช้งานนาน สามารถกรองแสง กรองรังสียูวี สะท้อนรังสีความร้อนได้ดี และไม่รบกวนการส่งผ่านคลื่นวิทยุ ส่วนจุดด้อยคือ ฟิล์มกรองแสงเคลือบอนุภาคเซรามิกมีราคาค่อนข้างแพง
2.2.Vacuum Coating เป็นวิธีการที่ใช้พลังงานความร้อน เข้าไปเผาโลหะเป้าหมาย ทำให้เกิดละอองโลหะลอยขึ้นไปเกาะที่แผ่นโพลีเอสเตอร์ ซึ่งวิธีนี้จะประหยัดต้นทุนกว่าการ Sputter มาก ในปัจจุบันฟิล์มที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบนี้ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในการผลิตฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ แต่อายุการใช้งานยังด้อยกว่าวิธี Sputter อยู่บ้าง และมีสีสันไม่มากนัก
การเคลือบในสุญญากาศ เป็นการเคลือบโลหะในห้องเคลือบระบบปิดที่มีสภาวะสุญญากาศ โดยให้ความร้อนแก่โลหะจนกลายเป็นไอ เพื่อให้ไอโลหะลอยฟุ้งไปติดผิวแผ่นฟิล์มซึ่งเย็นกว่า (เนื่องจากมีการหล่อเย็นแผ่นฟิล์ม) วิธีเคลือบโลหะแบบนี้มีจุดเด่นคือ กระบวนการเคลือบไม่ซับซ้อน ราคาถูก สามารถเคลือบฟิล์มพลาสติกได้เร็ว แต่จุดด้อยคือ ได้ชั้นเคลือบโลหะที่หนา และอนุภาคโลหะที่เคลือบบนเนื้อฟิล์มมีขนาดใหญ่ ทำให้ฟิล์มกรองแสงที่ผลิตได้มีลักษณะเป็นสีเงินขาวเหมือนปรอท ซึ่งสะท้อนแสงได้มาก นอกจากนี้จุดด้อยอีกอย่างคือ การเคลือบในสุญญากาศสามารถใช้ได้กับโลหะบางชนิดเท่านั้น เช่น อะลูมิเนียม เป็นต้น
ทั้ง 2 วิธีนี้ยังมีข้อด้อยในด้านการผลิตอยู่ในเรื่องของสีสัน ทั้ง 2 วิธีจะให้สีตามโลหะที่ใช้ในการผลิต ในปัจจุบันจึงได้ค้นคิดวิธีการผลิตแบบใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มของการเติบโตสูงมาก คือการผลิตที่เรียกว่า Hybrid โดยระบบดังกล่าวจะมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องลงทุนทางด้านเครื่องจักร กล่าวคือโรงงานผู้ผลิตจะสั่งซื้อวัตถุดิบ ซึ่งผ่านการ Sputter หรือ Vacuum มาแล้ว จากนั้นก็นำมาเคลือบสีเพิ่มเติม ทำให้การผลิตแบบ Hybrid มีสีสันที่มากกว่า และสามารถกำหนดเฉดสีและความเข้มได้ตามต้องการ
ชนิดที่ 3 IR Film เป็นฟิล์มชนิดที่มีความใสมาก กล่าวคือ แสงสามารถส่องผ่านได้มากกว่า แต่สามารถลดรังสีความร้อน(Infrared) ได้มากกว่าชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลดความร้อนจะดีกว่า เพราะการลดความร้อนจะต้องดูจากค่าการลดความร้อนรวมเท่านั้น
การคำนวณค่าการลดความร้อนรวม
ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์นั้นในอันที่จริง จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความร้อนจากดวงอาทิตย์ อันประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ อันได้แก่
1.แสงสว่าง (Visible Light) สัดส่วนประกอบอยู่ที่ 44%
2.รังสีอินฟราเรด (Infrared หรือ IR หรือรังสีแกนใต้สีแดง) สัดส่วนประกอบอยู่ที่ 53%
3.รังสีอุลตร้าไวโอเล็ท (Ultraviolet หรือ UV หรือรังสีแกนเหนือสีม่วง) สัดส่วนประกอบอยู่ที่ 3%
นั่นหมายถึงว่าเมื่อรวมทั้งสามส่วนประกอบนี้เข้าด้วยกัน ก็จะเปรียบได้กับสัดส่วนต่างๆที่เกิดความร้อนจากดวงอาทิตย์ ดังนั้น ในการจะลดความร้อนจากแสงแดด จำเป็นจะต้องลดการส่องผ่านขององค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนให้ได้มากที่สุด อาทิเช่น
กรณีฟิล์มกรองแสงชนิด Dye Film มีความเข้ม 80% (หมายถึงแสงส่องผ่านได้ 20%) สามารถลดรังสีอินฟราเรดได้ 20% และสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 96% ฟิล์มนี้จะสามารถลดความร้อนจากแสงแดดได้เท่าไหร่ สามารถคำนวณรวมได้ดังนี้
-ฟิล์มมีความเข้ม 80% จะลดค่าแสงส่องผ่านจาก 44% ได้เท่ากับ 44 x 80% หรือเท่ากับ 35.2%
-ฟิล์มสามารถลดรังสีอินฟราเรดได้ 20% จาก 53% ได้เท่ากับ 53 x 20% หรือเท่ากับ 10.6%
-ฟิล์มสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 96% จาก 3% ได้เท่ากับ 3 x 96% หรือเท่ากับ 2.88%
ดังนั้นฟิล์มในตัวอย่างนี้ จะสามารถลดความร้อนรวมจากแสงแดดได้ 35.2 + 10.6 + 2.88 หรือเท่ากับ 48.68%
กรณีฟิล์มกรองแสงชนิด Reflective Film มีความเข้ม 60% (หมายถึงแสงส่องผ่านได้ 40%) สามารถลดรังสีอินฟราเรดได้ 70% และสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 99% ฟิล์มนี้จะสามารถลดความร้อนจากแสงแดดได้เท่าไหร่ คำนวณรวมดังนี้
-ฟิล์มมีความเข้ม 60% ลดค่าแสงส่องผ่านจาก 44% ได้เท่ากับ 44 x 60% หรือเท่ากับ 26.4%
-ฟิล์มสามารถลดรังสิอินฟราเรดได้ 70% จาก 53% ได้เท่ากับ 53 x 70% หรือเท่ากับ 37.1%
-ฟิล์มสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 99% จาก 3% ได้เท่ากับ 3 x 99% หรือเท่ากับ 2.97%
ดังนั้นฟิล์มในตัวอย่างนี้ จะสามารถลดความร้อนรวมจากแสงแดดได้ 26.4 + 37.1 + 2.97 หรือเท่ากับ 66.47%
กรณีฟิล์มกรองแสงชนิด Infrared Film มีความเข้ม 40% (หมายถึงแสงส่องผ่านได้ 60%) สามารถลดรังสีอินฟราเรดได้ 90% และสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 99% ฟิลม์นี้จะสามารถลดความร้อนจากแสงแดดได้เท่าไหร่ คำนวณรวมดังนี้
-ฟิล์มมีความเข้ม 40% ลดค่าแสงส่องผ่านจาก 44% ได้เท่ากับ 44 x 40% หรือเท่ากับ 17.6%
-ฟิล์มสามารถลดรังสิอินฟราเรดได้ 90% จาก 53% ได้เท่ากับ 53 x 90% หรือเท่ากับ 47.7%
-ฟิล์มสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทได้ 99% จาก 3% ได้เท่ากับ 3 x 99% หรือเท่ากับ 2.97%
ดังนั้นฟิล์มในตัวอย่างนี้ จะสามารถลดความร้อนรวมจากแสงแดดได้ 17.6 + 47.7 + 2.97 หรือเท่ากับ 68.27%
คำจำกัดความทางเทคนิคเกี่ยวกับฟิล์มรถยนต์
Solar Transmittance (การถ่ายทอดพลังแสงอาทิตย์) หรือค่า ST
หมายถึง ปรากฏการณ์ที่เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของการแผ่รังสีของแสงอาทิตย์ ซึ่งถ่ายทอดไปยังแผ่นฟิล์มที่ติดบนกระจก ตัวเลขยิ่งน้อยเท่าไหร่ การถ่ายทอดของรังสีแสงอาทิตย์จะน้อยเท่านั้น
Solar Absorptance (การดูดซับแสงอาทิตย์) หรือค่า SA
หมายถึง ปรากฏการณ์จำนวนเปอร์เซ็นต์การแผ่รังสีของแสงอาทิตย์ ซึ่งถูกดูดซับโดยแผ่นฟิล์ม ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไหร่ การดูดซับการแผ่รังสีแสงอาทิตย์จะน้อยเท่านั้น
Solar Reflectance (การสะท้อนแสงอาทิตย์) หรือค่า SR
หมายถึง ปรากฏการณ์จำนวนเปอร์เซ็นต์การแผ่รังสีของแสงอาทิตย์ ซึ่งถูกสะท้อนโดยแผ่นฟิล์ม ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไหร่ การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์จะน้อยเท่านั้น
Visible Light Transmittance (การถ่ายทอดแสงสว่างที่มองเห็นได้ด้วยตา) หรือค่า VTL
หมายถึง ปรากฏการณ์จำนวนเปอร์เซ็นต์ของแสงสว่างทั้งหมด ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตา ที่ถ่ายทอดไปยังแผ่นฟิล์ม ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไหร่ การถ่ายทอดของแสงสว่างที่มองเห็นได้ด้วยตาก็จะน้อยเท่านั้น
Visible Light Absorptance (การดูดซับแสงสว่างที่มองเห็นได้ด้วยตา) หรือค่า VLA
หมายถึง ปรากฏการณ์จำนวนเปอร์เซ็นต์การดูดซับแสงสว่างทั้งหมด ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาผ่านแผ่นฟิล์ม ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไหร่ การดูดซับแสงสว่างซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาก็จะน้อยเท่านั้น
Visible Light Reflectance (การสะท้อนแสงสว่างที่มองเห็นได้ด้วยตา) หรือค่า VLR
หมายถึง ปรากฏการณ์จำนวนเปอร์เซ็นต์แสงสว่างทั้งหมดที่มองเห็นได้ด้วยตา ซึ่งถูกสะท้อนโดยแผ่นฟิล์ม ยิ่งตัวเลขน้อยเท่าไหร่ การสะท้อนแสงสว่างทั้งหมดซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาก็จะน้อยเท่านั้น
Emissivity (อัตราส่วนเปรียบเทียบการแผ่รังสี/พลังความร้อนที่กระจายโดยสะท้อนจากพื้นผิวที่ตกกระทบ)
หมายถึง มาตรวัดความสามารถของพื้นผิวในการดูดซับหรือสะท้อนการแผ่กระจายของรังสีอินฟาเรทระยะไกล ยิ่งอัตราส่วนการเปรียบเทียบนี้ต่ำเท่าไหร่ จะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของฉนวนป้องกันในแผ่นฟิล์มที่ดีขึ้นเท่านั้น
U-Value summer (ค่าตัว U ในฤดูร้อน)
หมายถึง ความสามารถถ่ายความร้อนไปในพื้นที่ 1 ตารางฟุตของแผ่นฟิลม์ สำหรับอุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละ 1 องศาฟาเรนไฮท์ ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิอากาศหรือสภาพแวดล้อมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีผลต่อระดับและอัตราการถ่ายเทความร้อน ในฤดูร้อนความร้อนจะถูกถ่ายเทจากอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายใน ยิ่งค่าตัว U ต่ำเท่าไหร่ คุณภาพของฉนวนป้องกันบนแผ่นฟิล์มก็จะดีขึ้นมากเท่านั้น
U-Value winter (ค่าตัว U ในฤดูหนาว)
หมายถึง ความสามารถถ่ายความร้อนไปในพื้นที่ 1 ตารางฟุตของแผ่นฟิล์ม สำหรับอุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละ 1 องศาฟาเรนไฮท์ ซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิอากาศหรือสภาพแวดล้อมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีผลต่อระดับและอัตราการถ่ายเทความร้อน ในฤดูหนาวความร้อนจะถูกถ่ายเทจากอากาศจากภายในออกสู่ภายนอก ยิ่งค่าตัว U ต่ำเท่าไหร่ คุณภาพของฉนวนป้องกันบนแผ่นฟิล์มก็จะดีขึ้นมากเท่านั้น
Shading Coefficient (ค่าสัมประสิทธิ์ความเข้มของเฉดสี)
หมายถึง อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของความร้อนแสงอาทิตย์ ที่ผ่านไปยังแผ่นฟิล์มจนถึงการเพิ่มขึ้นของความร้อนแสงอาทิตย์ภายใต้สภาวะเงื่อนไขเดียวกัน กรณีกระจกใสไม่มีเฉดสี และเป็นกระจกสองชั้น ยิ่งค่าตัวเลขสัมประสิทธิ์ต่ำเท่าไหร่ คุณภาพของเฉดสีในแผ่นฟิล์มก็จะดีขึ้นเท่านั้น
Solar Heat Gain Coefficient (ค่าสัมประสิทธิ์การเพิ่มขึ้นของความร้อนแสงอาทิตย์)
หมายถึง อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของความร้อนแสงอาทิตย์ทั้งหมด ที่ผ่านไปยังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระจกจนถึงปรากฏการณ์ความร้อนแสงอาทิตย์บนพื้นผิวของกระจก ที่เป็นโครงรูปแบบต่างๆในสภาพการณ์ของแสงอาทิตย์ปกติ (อาทิ การตั้งฉากกับพื้นผิวที่เคลือบเงากระจก) ยิ่งค่าตัวเลขสัมประสิทธิ์ต่ำเท่าไหร่ ฟิล์มนั้นก็จะยิ่งสามารถลดความร้อนได้มากเท่านั้น
Ultraviolet Transmittance (การถ่ายทอดอุลตร้าไวโอเลท)
หมายถึง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของอุลตร้าไวโอเลท(UV) ที่ถูกถ่ายทอดไปยังแผ่นฟิล์มหรือกระจก ยิ่งตัวเลขจำนวนน้อยเท่าไหร่ การถ่ายทอดอุลตร้าไวโอเลทก็จะน้อยเท่านั้น
Total Solar Energy Rejected (การหยุดยั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด)
หมายถึง จำนวนเปอร์เซ็นต์การหยุดยั้งพลังงานแสงอาทิตย์(ความร้อน)ทั้งหมด โดยแผ่นฟิล์มหรือกระจก ยิ่งตัวเลขจำนวนสูงเท่าไหร่ การหยุดยั้งพลังงานแสงอาทิตย์(ความร้อน)ก็จะมากเท่านั้น
ติดฟิล์มต้องถูกกฎหมาย
ฟิล์มกรองแสง คือวัสดุโปร่งแสงชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการกรองแสงที่ส่องผ่านให้มีปริมาณแสงลดลง ส่วนมากทำด้วยวัสดุโพลีแอสเตอร์เป็นวัสดุประเภทเดี่ยวกับที่ทำพลาสติก
ชนิดของฟิล์มกรองแสง
1.ฟิล์มกรองแสงทั่วไปหรือฟิล์มกรองแสงย้อมสี มีคุณสมบัติในการลดแสงสว่างที่ผ่านเข้ามาทางกระจกเท่านั้น มิได้มีคุณสมบัติในการลดความร้อน หรือมีเพียงระดับน้อยเท่านั้น หากฟิล์มกรองแสงทั่วไปนี้ผลิตมาจากโพลีแอสเตอร์คุณภาพสูงจะมีคุณสมบัติในการลดรังสีอัลตร้าไวโอเลทด้วย
2.ฟิล์มกรองแสงลดความร้อน หรือฟิล์มเคลือบไอโลหะมีคุณสมบัติในการลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางกระจก สีของฟิล์มจะแตกต่างกันไปตามประเภทของไอโลหะที่นำมาเคลือบและสามารถย้อมสีของฟิล์มให้มีสีต่าง ๆ ได้
คุณสมบัติที่ควรพิจารณาในการใช้ฟิล์มกรองแสง
- เป็นฟิล์มที่บาง เรียบใส และไร้รอยย่นเมื่อติดกับกระจก
- สามารถลอกออกได้ง่าย ไม่มีผลเสียหายต่อกระจก
- เมื่อติดฟิล์มบนกระจกแล้วจะต้องไม่ทำให้การมองเห็นภาพที่ผ่านกระจกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (มองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนเดิมหรือภาพที่เห็นเกิดการบิดเบี้ยว)
- ทำด้วยวัสดุที่มีคุณภาพดี คงทนต่อรอยขูดขีด อายุการใช้งานยาวนาน
- ต้องกรองแสงได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
- ต้องเป็นฟิล์มที่ไม่มีการสะท้อนแสงสูงมาก
ประโยชน์ของฟิล์มกรองแสง
- ลดความร้อน
- ลดแสงแดดจ้า (แสงที่มีปริมาณแสงมากเกินไปทำให้เกิดการแสบตา)
- ลดรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV)
- ป้องกันกระจกแตกมิให้กระจายในขณะเกิดอุบัติเหตุ
กรณีรถที่ต้องตรวจสภาพฟิล์มกรองแสง
1.รถยนต์ส่วนบุคคล ที่มีอายุการจดทะเบียน ครบ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องตรวจสภาพรถกับสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อนชำระภาษีรถประจำปี
2.การเปลี่ยนประเภทรถ
3.รถจดทะเบียนใหม่
4.รถที่แจ้งขอใช้รถใหม่หลังจากแจ้งยกเลิกใช้รถไปแล้ว
5.รถยนต์ส่วนบุคคลที่ขาดต่อภาษีเกิน 1 ปี
ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ โดยปรับไม่เกิน 500 บาท ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ข้อควรปฎิบัติในการดูแลรักษาฟิล์มกรองแสง
1.ห้ามเลื่อนกระจกขึ้น - ลง หรือ เช็ด ถูฟิล์ม ภายใน 7 วัน หลังจากติดตั้ง เนื่องจากฟิล์มยังมีความชื้น ซึ่งจะระเหยหมดไปเอง
2.หากมีปัญหาอื่นใด เช่น มีฟองอากาศ หรือ ฟิล์มอ้า ฯลฯ ให้รีบติดต่อศูนย์บริการภายในระยะเวลารับประกัน
3.ในการทำความสะอาดฟิล์ม ควรใช้ผ้าสะอาด ผ้านุ่มหรือฟองน้ำ ร่วมกับน้ำยาทำความสะอาดฟิล์ม เพื่อกำจัดคราบมัน
4.ห้ามใช้น้ำยาเช็ดกระจกหรือสารเคมีที่มีส่วนประกอบของแอมโมเนีย (NH4) เพราะอาจทำให้ ชั้นกันรอยของฟิล์มเสียหายได้
ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของกาวด้วย กาวที่ดีต้องมีความบางใส และเหนียว เมื่อติดแล้วต้องทนทานต่อสภาวะความร้อนเย็นของกระจกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับกระจกได้ดีไม่ทำให้ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ พอง ลอก ล่อน เป็นฟองอากาศ อีกทั้งกาวที่ดีควรมีคุณสมบัติที่ติดแน่นกับเนื้อฟิล์ม เมื่อต้องการลอกฟิล์มออกมา กาวควรอยู่บนด้านฟิล์มมิใช่ด้านกระจก รวมทั้งกาวจะต้องไม่เปลี่ยนสี ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟิล์ม ที่เรียกว่าฟิล์มเป็นสนิม
นอกจากนี้ ฟิล์มที่ดีจะต้องป้องกันรอยขีดข่วน หรือเคลือบสารกันรอยขีดข่วน ฟิล์มกรองแสงทำมาจากโพลีเอสเตอร์ มีจุดอ่อนในเรื่องความอ่อนของผิว ซึ่งมักสามารถเป็นรอยเส้นคล้ายรอยขนแมวได้ง่าย เมื่อมีการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารเคมีที่ทำหน้าที่เคลือบแข็งบนผิวของฟิล์ม ทำหน้าที่ในการป้องกันการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ คุณสมบัตินี้ทำให้ฟิล์มมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และดูสวยงามตลอดอายุการใช้งาน
จำไว้ว่าฟิล์มกรองแสงที่ดีไม่ใช่ฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ด้วย ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายในการขับขี่ รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงานในการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย ซึ่งการเลือกฟิล์มที่มีค่า Shading Coefficient (SC) ต่ำๆ ยังมีส่วนช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการปรับอากาศได้ และที่สำคัญต้องเป็นฟิล์มที่มีความปลอดภัยสามารถยืดเกาะกระจกได้ดี