• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

#บัญญัติ_10_ประการ_งานออกแบบ/ติดตั้งตู้ซับฯ

  • วันที่: 27/05/2016 12:14
  • จำนวนคนเข้าชม: 18137

ในเรื่องของการประดิษฐ์/จัดทำหรือออกแบบ/จัดสร้างตู้สำหรับดอกซับวูฟเฟอร์ในรถยนต์นั้น มีข้อควรคำนึงทีต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมหลายประการ ซึ่งในคราวนี้เราได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกกล่าวกันในรูปแบบของ “บัญญัติ 10 ประการ” ให้ได้รับทราบ และนำไปใช้เป็นหลักในการออกแบบ/จัดสร้างตู้สำหรับดอกซับวูฟเฟอร์ในรถยนต์ เพื่อผลทางประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดนั่นเอง

1.เลือกวัสดุแน่นหนาที่สุด อาทิเช่น ไม้ MDF

            เลือกใช้วัสดุในการประดิษฐ์/จัดทำตู้ซับวูฟเฟอร์ ที่มีความแกร่งเพียงพอ และมีความหนาแน่นอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการสั่นกระเพื่อมในแผงแต่ละด้านของตู้ซับฯ แนะนำเบื้องต้นเป็นไม้ที่มีความหนาแน่นสูง, หรือไม้ MDF หรือเนื้อไม้สังเคราะห์ที่มีการอัดซ้อนกันหลายๆชั้น

2.ใช้การเกาะยึดด้วยกาว

            ใช้กาวลาเท็กซ์หรือกาวติดไม้เฉพาะในการผนึกแผ่นไม้ด้านต่างๆของตู้เข้าด้วยกัน โดยละเลงกาวให้ทั่วบริเวณพื้นผิว หลังจากนั้นใช้ “ขี้เลื่อย” หรือ “ผงทัลคัม” ผสมกับกาวลาเท็กซ์อีกครั้งเพื่อใช้ผนึกหรือทาบริเวณรอยต่อของไม้สองแผ่นให้แนบสนิทโดยไม่เห็นรอยต่อ

3.เอาให้ผนังนิ่งสนิท

            ติดตั้งวัสดุที่ช่วยในการยับยั้งการกระพือของพื้นผิว อาทิเช่น FONOMAT ตรงบริเวณด้านในของแผ่นวัสดุ ด้านที่มีพื้นผิวปริมาณมากๆ เพื่อป้องกันแผ่นวัสดุเกิดการเพื่อมในขณะที่ดอกซับวูฟเฟอร์ทำงาน

4.ยึดดอกให้แนบชิดด้วยปะเก็น

            เพื่อให้ประสิทธิภาพของการทำงานระหว่างดอกซับฯกับตู้กักอากาศ มีความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ก่อนการยึดน็อตเพื่อติดตั้งดอกลำโพงเข้าไปในช่องของตู้ซับฯ ควรจะเลือกใช้ปะเก็นยางทรงกลมขนาดเดียวกับขอบลำโพงติดแนบด้านในระหว่างดอกซับฯกับผิววัสดุ เพื่อสร้างความมั่นคงและป้องกันอากาศรั่วไหลในตำแหน่งรูน็อตยึดต่างๆ

5.เน้นพื้นผิวตู้ให้แนบกับพื้นผิวรถให้น้อย

            ในการติดตั้งตู้ซับฯเข้ากับตัวรถ ควรใช้ผนังเพียงด้านใดด้านหนึ่งในการแนบเข้ากับพื้นผิวรถ และถ้าเป็นไปได้ควรใช้พื้นผนังที่มีพื้นที่มากสุดในการแนบชิด เพื่อลดการสั่นกระพือภายในตัวตู้ซับฯ

6.ต้องเพิ่มค่าปริมาตรภายในเมื่อใส่วัสดุเพิ่ม

            ค่าปริมาตรอากาศกักเก็บภายในตู้ที่ได้จากคำนวณในเบื้องต้นนั้น บางครั้งยังไม่ได้ทำการหักลบกับวัสดุที่มีการติดตั้งเพิ่มเข้าไปภายในตู้ อาทิ การติดตั้งดอกซับฯโดยหันด้านแม่เหล็กเข้าไปภายใน, หรือการติดตั้งท่อระบายเบสในตู้แบบเปิด รวมถึงการเพิ่มวัสดุยับยั้งเข้าไปภายในตู้ โดยทั่วไปปริมาตรอากาศกักเก็บภายในหลังจากการคำนวณ จะต้องบวกเพิ่มปริมาตรของด้านท้ายแม่เหล็กลำโพง, บวกเพิ่มปริมาตรของวัสดุยับยั้ง รวมถึงบวกเพิ่มปริมาตรของท่อระบายเบสในกรณีของตู้แบบเปิด เพื่อทำให้ดอกซับฯทำงานในปริมาตรอากาศกักเก็บได้ตามปริมาตรอากาศสุทธิที่ได้คำนวณไว้อย่างถูกต้อง

7.อย่าเติมปริมาตรขนาดท่อโดยไม่คำนวณ

            ต้องไม่ลืมว่าปริมาตรท่อระบายเบส(หรือขนาดความกว้างท่อ x ความยาวท่อ) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาตรอากาศกักเก็บภายในตู้ ทั้งในเรื่องของความถี่ที่ท่อระบายตั้งเอาไว้ และปริมาตรหักลบภายในตู้ ดังนั้นก่อนเปลี่ยนขนาดหรือปริมาตรท่อระบายเบส จะต้องคำนวณใหม่เพื่อให้ได้กราฟตอบสนองตรงตามความต้องการ

8.ควรให้ท้ายแม่เหล็กห่างผนังอย่างน้อย 5 เซ็นติเมตร

            ในการออกแบบมิติหรือสัดส่วนของตู้ซับฯ จะต้องคำนึงด้วยว่าเมื่อติดตั้งดอกซับฯเข้าไปภายในตู้แล้ว ความลึกของท้ายแม่เหล็กดอกซับฯจะต้องมีระยะห่างจากผนังด้านที่ใกล้ที่สุด อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตร หรือ 5 เซนติเมตร

9.ลดความยาวท่อระบายเบสได้ 30% เมื่อวางใกล้มุม

            ในกรณีของตู้แบบเปิด ที่เมื่อคำนวณขนาดท่อระบายเบสตามความถี่ที่ต้องการ แล้วเห็นว่าท่อมีขนาดความยาวมาก เราสามารถทำการแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนตำแหน่งวางท่อระบายเบสให้อยู่ในตำแหน่งใกล้มุมเหลี่ยมของตู้ ก็จะสามารถลดขนาดความยาวลงไป 30% โดยความถี่ที่ท่อระบายเบสไม่เปลี่ยนไปมากนัก

10.ตรึงตู้ซับฯอย่าให้เคลื่อนไหว ด้วยหูยึดขนาดพอเหมาะ

            ในการยึดตรึงตัวตู้ซับฯเข้ากับพื้นรถ แนะนำให้ใช้หูยึดขนาดพอเหมาะ(อย่าให้ใหญ่มาก เพราะจะเป็นการถ่ายเทแรงสะท้านของผิวตู้ซับฯกับตัวรถมากเกินไป) ยึดตรึงในมุมสำคัญๆในจำนวนที่ไม่มาก โดยทั่วไปประมาณ 3 ถึง 4 จุด ก็เพียงพอ