• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

บัญญัติ 10 ประการ เพื่องานติดตั้งระบบเสียงที่ปราศจากการถูกรบกวน

  • วันที่: 03/05/2014 15:36
  • จำนวนคนเข้าชม: 10411

ในงานติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์นั้น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางด้านคุณภาพเสียงที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆแล้ว ยังมีในเรื่องของ “การถูกรบกวน” จากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆภายในรถ ที่ถือว่าเป็นความสำคัญอันดับแรกก่อนที่จะไปในเรื่องของคุณภาพเสียง การถูกรบกวนเหล่านี้ ก็มีตั้งแต่เรื่องของ “เสียงหวิ้ว”, “เสียงปุ๊กปัก”, “เสียงฮัม” รวมถึง “เสียงหึ่ง” ครั้งนี้เรามี “บัญญัติ 10 ประการ” มาพูดถึงกัน เพื่อให้งานการติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์นั้น ปราศจากการถูกรบกวน หรือไม่มีเสียงอื่นแปลกปลอมเข้ามารบกวนในขณะฟังเพลง กันนะครับ

ข้อ 1. สำคัญที่ “การวางแผน” โดยการที่เราควรวาดแผนภูมิของระบบขึ้นมาก่อนบนกระดาษ เพื่อดูว่ามีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟบวก-ไฟลบในระบบอยู่กี่ตัว อาทิ ฟร้อนท์เอ็นด์ กี่เครื่อง, ปรีแอมป์มีไหม, มีอี-ครอสโอเวอร์หรือเปล่า, เพาเวอร์แอมป์กี่เครื่อง ทั้งนี้เพื่อศึกษาว่า ต้องใช้สายไฟกราวน์(ไฟลบ)กี่จุด และใช้สายไฟบวกกี่จุด

จากนั้นให้วาดภาพจำลองของตัวรถขึ้นมาคร่าวๆ เพื่อหาตำแหน่งของการลงกราวน์ในตัวรถ แค่เพียง 2 ตำแหน่งหลัก ตำแหน่งที่หนึ่งทางตอนหน้าของห้องโดยสาร สำหรับเป็นจุดลงกราวน์ให้ฟร้อนท์เอ็นด์, ปรีแอมป์ และหรืออุปกรณ์อื่นๆที่ติดตั้งอยู่บริเวณคอนโซลหน้ารถ อีกตำแหน่งหนึ่งหรือตำแหน่งที่สองทางตอนท้ายของห้องโดยสาร(หรือในห้องสัมภาระท้ายรถ) สำหรับเป็นจุดกราวน์ให้เพาเวอร์แอมป์ และหรืออุปกรณ์อื่นๆที่ติดตั้งอยู่ทางตอนท้ายรถ โดยตำแหน่งทั้งสองที่ว่านี้ ไม่ควรมีระยะห่างจากอุปกรณ์ใดๆเกินกว่า 18 หรือ 20 นิ้ว(หมายถึงความยาวของสายไฟกราวน์ ที่เดินจากอุปกรณ์ไปยังตำแหน่งลงกราวน์)

เมื่อได้ตำแหน่งลงกราวน์ทั้งสองตำแหน่งแล้ว ให้ทำการวัดค่าความต้านทานของจุดลงกราวน์ทั้งสองนั้น กับจุดลงกราวน์ตัวถังของสายไฟลบที่แบตเตอรี่(ไม่ใช่ที่ขั้วแบตเตอรี่นะครับ แต่เป็นที่ปลายสายของสายไฟลบที่ขั้นน็อตลงตัวถัง) โดยวัดที่ละตำแหน่ง ถ้าเป็นจุดกราวน์ที่สมบูรณ์ จะมีความต้านทานปรากฏอยู่น้อยมากๆ (ยิ่งค่าน้อยยิ่งดีมากๆ เป็น 0.1 โอห์ม ได้ยิ่งยอดเยี่ยม แจ๋วแหวว แนะนำให้ใช้มัลติมิเตอร์ดิจิตอล จะได้เห็นตัวเลขชัดเจน) หากได้ค่าความต้านทานมากเกินไป ให้ทำการขัดผิวของบริเวณตำแหน่งลงกราวน์จนเห็นเนื้อเหล็ก หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่มีความสมบูรณ์กว่า

สำคัญตรงที่ว่าอย่าลงกราวน์ของอุปกรณ์ไปยังตำแหน่งอื่นๆที่นอกเหนือไปจาก “สองตำแหน่ง” ที่ได้กำหนดเอาไว้ในแผนงานนี้อย่างเด็ดขาด

ต่อมา วางแผนการเดินสายไฟทั้งสายไฟเมน และสายนำสัญญาณทั้งหมดของระบบ อย่าให้อยู่ใกล้กันในระยะต่ำกว่า 18 หรือ 20 นิ้ว ยิ่งห่างไกลกันเท่าไหร่ยิ่งดี ในกรณีที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดกันด้วยเหตุใดก็ตามแต่ ให้ทำลักษณะจุดสัมผัสเป็นรูปกากบาท โดยเน้นจุดสัมผัสให้น้อยที่สุด อย่าให้มีลักษณะวางขนานกันโดยเด็ดขาด

สำหรับส่วนของสายลำโพง สามารถเดินขนานกับสายไฟเมนได้ แต่ไม่ควรใกล้ชิดกันมากกว่า 1 ถึง 2 นิ้ว

เมื่อทำการวางแผนบนกระดาษร่างเรียบร้อยแล้ว ให้ถือหลักต่างๆนี้เพื่อดำเนินการในส่วนของงานติดตั้ง โดยเริ่มต้นที่การเดินสายต่างๆให้เรียบร้อยก่อนทำการติดตั้งอุปกรณ์

ข้อ 2. ต้องเน้นหรือพยายามอย่าให้เกิดลักษณะ “วงรอบกราวน์” หรือ Ground loops ขึ้นในระบบโดยเด็ดขาด เพราะเกือบทุกปัญญาของ “การถูกรบกวน” มักมีต้นต่อมาจากเรื่องของวงรอบกราวน์ซ้ำซ้อนนี้นี่เอง คลื่นรบกวนต่างๆจะไม่สามารถแทรกสอดเข้ามาในระบบได้ หากวงจรกราวน์มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวกันเพียงวงจรเดียว หรือวงรอบเดียว

ข้อ 3. ต้องไม่พยายามให้สายที่เป็นตัวนำสัญญาณ(หรือสาย RCA) เดินหรือวางอยู่ใกล้กับสายไฟเมน หรือแม้กระทั่งสายกราวน์ รวมไปถึงสายเดินสำหรับเสาอากาศรับคลื่นวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบเสียงที่มีการติดตั้งเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงๆอยู่ในระบบ

ข้อ 4. เลือกใช้สายนำสัญญาณในระบบ ที่มีขั้นตอนการป้องกันตัวเองจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งรูปแบบการมีเปลือกตาข่าย และเกลียวสายภายในแบบ “ทวิสแพร์” ในกรณีที่ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพการป้องกันตัวเองจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในสายนั้นๆ สามารถใช้เทปฟอยล์ห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะพันทับด้วยเทปฉนวนเพื่อป้องกันการนำกระแส

ข้อ 5. ไม่แนะนำให้ใช้สายไฟกราวน์หรือสายดินเดิมที่ตำแหน่งช่องวิทยุของรถ ในกรณีที่เปลี่ยนเครื่องเล่นใหม่ และติดตั้งอุปกรณ์เสริมใดๆลงไปในระบบ เพราะสายไฟกราวน์เหล่านี้มักมีขนาดเล็ก(นำกระแสได้เพียงน้อย) อีกทั้งยังมีจุดปลายทางลงกราวน์ที่ไม่สมบูรณ์ ควรใช้ตำแหน่งกราวน์ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 1. แทนจะดีที่สุด

ข้อ 6. ต้องมั่นใจว่าเพาเวอร์แอมป์ที่เลือกนำมาใช้งานในระบบเสียง มีจุดอ้างอิงกราวน์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจได้ด้วยการวัดเทียบ โดยการต่อสายนำสัญญาณหรือสาย RCA จากขั้วอินพุทที่เพาเวอร์แอมป์ ไปยังเอาท์พุทของเครื่องเล่น จากนั้นวัดความต้านทาน(ด้วย DMM)ระหว่างเปลือกนอกของขั้ว RCA ที่เพาเวอร์แอมป์ กับตัวถังเครื่องของเครื่องเล่น(ฟร้อนท์เอ็นด์หรือเฮดยูนิท) ถ้าทุกอย่างถูกต้องค่าความต้านทานที่ปรากฏจะต้องมีค่าน้อยมากๆ(ยิ่งน้อยมากๆแสดงว่ามีจุดอ้างอิงกราวน์ที่สมบูรณ์มากเท่านั้น)

ข้อ 7. ใช้สายลงกราวน์จากเพาเวอร์แอมป์ไปยังจุดกราวน์หรือตำแหน่งลงกราวน์ที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และไม่ควรยาวกว่า 18 หรือ 20 นิ้ว กรณีที่ยาวเกินกว่านี้ แนะนำให้เพิ่มขนาดของสายลงกราวน์ ในเบอร์ที่ใหญ่กว่าสายไฟเมน 1 เบอร์ อาทิ ถ้าสายไฟเมนเบอร์ 4 AWG ก็ให้ใช้สายไฟลงกราวน์ในขนาดเบอร์ 2 AWG เป็นต้น

ข้อ 8. อย่าใช้แหวนลงกราวน์เดียวกันกับเพาเวอร์แอมป์ทุกตัวในระบบ แต่ควรแยกแหวนลงกราวน์เป็นอิสระสำหรับเพาเวอร์แอมป์แต่ละตัว รวมถึงเพิ่มความหนาของแหวนตามขนาดกำลังวัตต์ของเพาเวอร์แอมป์ให้เหมาะสม โดยในขั้นตอนของการลงกราวน์นั้น ให้วางแหวนของเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังวัตต์มากที่สุดไว้ล่างสุด และไล่ลำดับไปหาเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังวัตต์น้อยสุด(มากสุดอยู่ล่างสุด น้อยสุดอยู่บนสุด) ก่อนจะขันน็อตล็อคตำแหน่งกราวน์ให้แน่นหนา และหากต้องการความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ให้วัดความต้านทานที่ขั้วไฟกราวน์ของเพาเวอร์แอมป์แต่ละเครื่อง เทียบกับตำแหน่งลงกราวน์ของแบตเตอรี่ในห้องเครื่อง ซึ่งควรมีความต้านทานน้อยมากๆเช่นกัน

กรณีที่ต้องการลงกราวน์เพาเวอร์แอมป์ให้สมบูรณ์สูงสุด สำหรับระบบที่ใช้เพาเวอร์แอมป์มากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป นั่นคือการใช้ขั้วต่อร่วม(Distribution block) จะให้ผลทางกราวน์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ข้อ 9. ต้องแน่ใจได้ว่า ปุ่มปรับเกน(Gain) ที่เพาเวอร์แอมป์ได้ถูกปรับเลเวล-แมทชิ่งไว้อย่างถูกต้องแล้ว การปรับเพื่อเปิดอัตราการขยายที่สูงเกินความสามารถ มีผลให้เกิดเสียงรบกวนขึ้นในระบบได้เช่นกัน ควรศึกษาขั้นตอนการปรับเลเวล-แมทชิ่ง ด้วยดิจิตอล-มัลติมิเตอร์ เพื่อสร้างอัตราส่วนต่อเสียงรบกวนที่เหมาะสมในระบบเสียง

ข้อ 10. อย่าหวังพึงพิงอุปกรณ์ประเภท Noise Filters เพราะอุปกรณ์จำพวกนี้ทำได้แค่เพียงการ “ลดทอนเสียงที่รบกวน” ไม่ใช่ “กำจัดเสียงรบกวน” ด้วยลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกับฟิลเตอร์ในส่วนอื่นๆ อาทิ พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ ดังนั้นการใช้ Noise Filters จึงเป็นแค่เพียงการ “กลบเกลื่อนเสียงรบกวน” ได้เพียงครั้งคราว การกำจัดเสียงรบกวนโดยถาวร คือการติดตั้งระบบเสียงที่ไม่มีปัญหา “วงรอบกราวน์”(Ground Loops) ต่างหาก