• Rocket Sound I Call Center 0-2792-9999 I Line ID : rocketsound I Facebook : RocketSoundThailand I Instagram : Rocketsound_Thailand
 

เทคนิค การปรับตั้งระบบเสียงรถยนต์ เบื้องต้น

  • วันที่: 03/05/2014 15:32
  • จำนวนคนเข้าชม: 10700

หลังงานการติดตั้งและเดินระบบเสียงแล้วเสร็จ ท่านไม่ควรทำการ “วินิจฉัยคุณภาพเสียง” ในทันที หากแต่ควรจะต้องทำการวอร์มอัพระบบไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเริ่มทำการ “ปรับตั้งเสียงเบื้องต้น” ในขั้นตอนและเหตุผล ถึงจะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยคุณภาพเสียง เพราะการปรามาสหรือบ่งบอกคุณภาพของเสียง โดยยังมิได้ทำการปรับตั้งเสียงเบื้องต้น อาจทำให้เกิดการไขว้เขวเกี่ยวกับผลของคุณภาพเสียง ทั้งนี้เพราะในการขั้นตอนของการ “ติดตั้ง” ระบบเสียงในรถยนต์ จะต้องประกอบด้วยขั้นตอนการ “ติดอุปกรณ์” และ “ปรับตั้งเพื่อใช้งาน” ไปพร้อมๆกันถึงจะได้ผลที่สมบูรณ์

สำหรับขั้นตอนของการปรับตั้งเสียงเบื้องต้น ที่เป็นขั้นตอนแนะนำก็ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้

ตรวจสอบขั้วเสียงหรือเฟสเสียงที่ลำโพง

เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่สุดของการปรับตั้งเสียงเบื้องต้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคุณภาพเสียง หากได้ทำการตรวจสอบขั้วเสียงหรือเฟสเสียงที่ลำโพงเป็นลำดับแรก เพื่อให้ลำโพงทุกตัว ตัวขับเสียงทุกดอกในระบบ ทำการผลิตคลื่นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือขั้วเสียงเดียวกันหรือเฟสเสียงเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยปกป้องหรือป้องกันมิให้คุณภาพเสียงเกิดความสูญเสีย จากปัญหาของการให้คลื่นที่ตรงกันข้ามซึ่งกันและกัน (คลื่นบวกเจอกับคลื่นลบ เกิดการสูญเสียอย่างมหันต์ แต่ถ้าคลื่นบวกผสานกับคลื่นบวก ก็จะได้คลื่นที่มีเข้มข้นสมบูรณ์แบบ)

ปัจจุบัน การตรวจสอบขั้วเสียงหรือเฟสเสียงที่ลำโพง สามารถใช้อุปกรณ์ที่เรียกกันว่า Phase Detector หรือ Polarity Checker หรือ Application เพื่อการนี้ในสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต ซึ่งให้ความสะดวกและแม่นยำกว่าการวิเคราะห์ขั้วเสียงหรือเฟสเสียงด้วยหูมนุษย์

อนึ่ง การตรวจสอบขั้วเสียงหรือเฟสเสียงที่ลำโพงนั้น ปกติจะกระทำเฉพาะส่วนของลำโพงกลางแหลม (หมายรวมถึง ซุปเปอร์ทวีตเตอร์, ทวีตเตอร์, มิดเรนจ์, มิดวูฟเฟอร์ และวูฟเฟอร์) เท่านั้น สำหรับระบบซับวูฟเฟอร์เรามักไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะสามารถสลับขั้วเสียงได้ในขันตอนการปรับตั้งคลื่นต่ำ “อัพเบส”

ปรับตั้งช่วงความถี่เสียงให้เหมาะสม

การปรับตั้งช่วงความถี่เสียงให้เหมาะสมในชั้นเบื้องต้นนี้ จะมุ่งหมายเฉพาะไปที่ระบบเสียง “ไบแอมป์” ไม่นับรวมถึงระบบไตรแอมป์ หรือควอดแอมป์ เพราะต้องใช้เทคนิคสูงกว่าในขั้นพื้นฐาน คือหมายถึง การปรับตั้งช่วงความถี่ที่ปล่อยผ่านไปยังชุดลำโพงกลางแหลม ที่จะต้องมีย่านความถี่ทำงานในระดับคลื่นที่สูงเพียงพอกับการที่มันจะไม่สร้างความถี่รีโซแนนท์แปลกปลอมขึ้นมา

อาทิเช่น ควรปล่อยผ่านคลื่นความถี่เข้าชุดลำโพงกลางแหลม ในระดับความถี่ที่สูงกว่า 100 Hz ขึ้นไป เพราะหากให้ชุดลำโพงกลางแหลมทำงานในย่านความถี่ที่ต่ำกว่า 100 Hz ลงไป จะเกิดคลื่นที่ผิดเพี้ยน หรือมีการก้องกระพือจนหน้ารำคาญ ที่เป็นผลมาจากปริมาตรอากาศกักเก็บในช่องลำโพงของรถยนต์ ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลกับความต้องการของดอกลำโพง

ซึ่งทั้งนี้ ในระบบเสียงที่มีงานการติดตั้งชุดลำโพงกลางแหลม โดยสร้างสภาพห้องกักเก็บอากาศได้สมดุลกับความต้องการของดอกลำโพง อาจสามารถปล่อยผ่านคลื่นความถี่เข้าชุดลำโพงกลางแหลม ได้ในระดับความถี่ที่ต่ำกว่าลงมา แต่ก็ไม่ควรเกินความสามารถของระบบตู้บรรจุ+ดอกลำโพง มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาทางความถี่รีโซแนนท์ได้อีกเช่นกัน

สำหรับในส่วนของช่วงความถี่เสียงที่ปล่อยให้ดอกซับวูฟเฟอร์ทำงาน มักไม่ต้องการให้ทำงานในย่านที่สูงเกินกว่า 90 Hz ขึ้นไป และในบางระบบเสียงที่เน้นการฟังเสียงในรูปแบบ Soundstage อาจต้องการให้ดอกซับวูฟเฟอร์ทำงานในช่วงความถี่ที่ไม่สูงเกินไปกว่า 60 Hz เพื่อบังคับให้เสียงเบสไหลไปบรรจบกับเสียงกลางแหลมทางด้านหน้าอย่างสอดคล้องต้องกัน และเกิดจินตนาการที่เรียกกันว่า “de-localize” สำหรับเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ

ปรับตั้งเวทีของเสียง

ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของงานติดตั้งระบบเสียงในรถยนต์ ก็คือความรู้สึกนึกคิด หรือจินตนาการ หรือมโนภาพ ที่สร้างลักษณะภาพจำลองของเวทีเสียงในการฟังเพลง แต่มีข้อแม้ว่า เพลงที่นำมาเล่นหรือคุณภาพของแผ่น, ของไฟล์ ที่นำมาใช้ฟังนั้น จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับสร้างลักษณะภาพจำลองของเวทีด้วย ไม่ใช่แผ่นหรือไฟล์ทุกชนิดในโลก

การปรับตั้งเวทีของเสียงนี้ มีขั้นตอนที่ทำให้เกิดระดับชั้นของความสมบูรณ์ ได้อย่างน้อย 5 ระดับชั้น เริ่มตั้งแต่ ขั้นพื้นฐาน, ขั้นสมบูรณ์, ขั้นฟังไพเราะ, ชั้นยอดเยี่ยม และขั้นเสมือนจริง โดยประเมินจากความกว้าง/ความลึก/ความสูง ของการจำลองเวทีเสียง

สำหรับการปรับตั้งเสียงเบื้องต้นนี้ เราจะหวังผลเฉพาะในขั้นพื้นฐานเป็นหลัก เนื่องจากในขั้นที่สูงขึ้นกว่านี้ จะต้องมีปัจจัยประกอบในเรื่องของ “คุณค่าอุปกรณ์” และ “ประสิทธิผลของอุปกรณ์เสียง” ในระบบด้วย

การปรับตั้งเวทีของเสียงในขั้นพื้นฐานนั้น จะใช้การ “หลับตา” ฟัง ด้วยแผ่นหรือไฟล์เพลงที่ระบุมาสำหรับการฟังประเมินคุณค่าของเวทีเสียงจำลอง ไม่สามารถใช้แผ่นหรือไฟล์เพลงตลาดๆทั่วๆไปในการปรับตั้งได้

โดยการปรับตั้งในขั้นพื้นฐาน จะใช้การปิดเสียงในส่วนของซับวูฟเฟอร์(และเสียงของชุดลำโพงด้านหลัง)ไปก่อน เหลือเพียงแค่เสียงจากชุดลำโพงทางด้านหน้า จากนั้นใช้ปุ่มปรับบาลานซ์ ปรับช่วยในการสร้างสมดุลของฐานเวทีจำลองให้อยู่ในบริเวณกึ่งกลางของแดชบอร์ด(จากตำแหน่งนั่งฟัง) จากนั้นใช้ขั้นตอนของการปรับเพิ่ม/ลดความดังของทวีตเตอร์ในชุดลำโพง เพื่อวางเวทีจำลองให้อยู่ในระดับแดชบอร์ด (จะดีมากหากพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ ของชุดลำโพงสามารถเพิ่ม/ลดระดับ ได้ทั้งส่วนของมิดวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์)

ทั้งนี้ใจความสำคัญของการสร้างสภาพเวทีเสียงจำลองนั้น ก็มาจากหลักการที่ว่า ต้องให้เสียงของทวีตเตอร์และเสียงของมิดวูฟเฟอร์ เดินทางมาถึงหูแต่ละข้างในเวลาใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยมีมวลเสียงหรือน้ำหนักของเสียงที่ทัดเทียมกันมากที่สุด

ปรับตั้ง EQ ในระบบเพิ่มคุณภาพ

สืบเนื่องจากการปรับตั้งเวทีของเสียงแล้ว หากยังไม่บรรลุผลด้วยข้อจำกัดของงานติดตั้งและประสิทธิผลของพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ ยังสามารถใช้การปรับตั้ง EQ ในระบบ ช่วยเพิ่มหรือเสริมความบกพร่องทางเสียง เพื่อชดเชยให้การลักษณะการฟัง ที่ปรากฏเวทีเสียงจำลองได้

โดยหลักพื้นฐานที่มุ่งหวัง ให้คลื่นเสียงในช่วง 100 Hz ขึ้นไปถึง 10,000 Hz เดินทางมาถึงหูผู้ฟังในแต่ละด้านของลำโพงในเวลาที่ทัดเทียมกันหรือเท่ากัน ซึ่งสำหรับการปรับตั้งเสียงในเบื้องต้น จะอนุญาตให้ใช้ “ความรู้สึก” ในการตัดสินใจเพิ่มหรือลดย่านความถี่ต่างๆ โดยยังไม่กำหนดหลักเกณฑ์ตายตัว ทั้งนี้ก็เพราะการปรับตั้ง EQ ก็ยังมีระดับชั้นของผลที่จะได้รับ ไม่น้อยกว่า 5 ระดับอีกเช่นกัน

ปรับตั้งคลื่นต่ำ “อัพเบส”

เป็นบทสรุปอีกข้อหนึ่งที่สำคัญในการปรับตั้งเสียงเบื้องต้น เนื่องจากสถานะภาพการติดตั้งระบบซับวูฟเฟอร์ในรถยนต์ปัจจุบัน มักมีความจำเป็นต้องติดตั้งตู้ซับ+ดอกซับฯเอาไว้ทางส่วนท้ายของตัวรถ และมีระยะห่างมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างลำโพงกลางแหลม ส่งผลให้ระยะเดินทางของคลื่นความถี่ต่ำ มีคาบเวลาของการมาถึงหูผู้ฟังนานขึ้นเป็นหนึ่งเท่าหรือสองเท่า เมื่อเทียบกับการมาถึงของเสียงกลางแหลม จึงสามารถระบุตำแหน่งที่มาของเสียงได้ว่า ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวกับเสียงกลางแหลม

ในการปรับตั้งคลื่นต่ำ “อัพเบส” สำหรับงานในเบื้องต้นนี้ เราจะหวังผลเฉพาะแค่ในเรื่องของ “ความกลมกลืน” เป็นหลัก เพราะการปรับตั้งคลื่นต่ำ “อัพเบส” นั้น ยังมีระดับชั้นของความสมบูรณ์ ต่างกันถึง 3 ระดับ อันได้แก่ ระดับกลมกลืน, ระดับสมบูรณ์ และระดับเสมือนเบสอยู่หน้าจริงๆ ซึ่งท้ายที่สุดระบบเพื่อการฟัง Soundstage อย่างจริงๆจังๆ จะใช้การติดตั้งระบบซับวูฟเฟอร์ในแบบ Real Front Subwoofer (หรือติดตั้งดอกซับฯ+ตู้เอาไว้ทางด้านหน้ารถ) นั่นเอง

ในการปรับตั้งคลื่นต่ำ “อัพเบส” ในหลักเบื้องต้น จะเน้นการใช้สัมพันธ์ภาพ 3 ส่วนของระบบเสียง เพื่อการปรับตั้ง อันได้แก่ ทิศทาง(ขั้วเสียงหรือเฟสเสียง), น้ำหนัก(ความดัง/ค่อยของคลื่นเความถี่) และช่วงความถี่ทำงานจริง(คลื่นเบสที่ผนวกรวมกับเคบิ้นเกนของรถ)

ขั้นตอนพื้นฐานก็คือ ปล่อยน้ำหนักเบสจากตู้ซับฯอย่าให้เอ่อล้นจนเกินไป(ปรับเพิ่ม/ลดเกนที่แอมป์ขับซับฯ) โดยจับใจความตรงที่เนื้อเบสไม่เกิดเสียงกระพือจนหนวกหู จากนั้นลองสลับขั้วสายลำโพงที่ต่อเข้าซับวูฟเฟอร์ ให้เนื้อเบสไหลไปผนวกกับเสียงมิดเบสของลำโพงกลางแหลม โดยใช้การตั้งใจฟังว่าการต่อแบบไหนได้เนื้อเบสสอดคล้องกันมากที่สุด จากนั้นจึงค่อยๆปรับลดช่วงความถี่ทำงานของตู้ซับฯ+ดอกซับฯ ให้อยู่ต่ำกว่าตำแหน่งความถี่เคบิ้นเกนของรถประมาณ 1/3 ออคเตฟ หรือ 1/2 ออคเตฟ

ฟังวิเคราะห์เพื่อปรับละเอียด

ขั้นตอนเบื้องต้นทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นขั้นตอนการปรับตั้งเพื่อเซ็ทระบบเข้าสู่การฟังวิเคราะห์ โดยในการฟังวิเคราะห์นี้ควรเลือกใช้ไฟล์เพลงหรือแผ่นเพลง ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มิใช่แผ่นผีแผ่นก็อปหรือไฟล์เพลงขยะที่ผ่านกระบวนการหยาบๆ ใช้การนั่งฟังในช่วงระยะเวลาซักประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง แล้วประเมินคุณภาพเสียงของระบบในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้ยินเสียงใดเสียงหนึ่งหรือไม่?

ให้ลองนึกและเทียบโน้ตเสียงนั้น หรือมาสเตอร์คีย์ของเครื่องดนตรีที่เรารู้สึกไม่ได้ยินนั้น กับแถบคลื่นความถี่ที่สามารถปรับได้บน EQ ในระบบ หากตรงกันหรือเทียบเคียง(ห่างกันไม่มากเกินกว่า 1/3 ออคเตฟ) ก็ลองปรับเพิ่มความถี่นั้นบน EQ ขึ้นเล็กน้อย (แนะนำให้ปรับเพิ่มที่ละสเตป หรือที่ละขีดแบ่ง แล้วฟังใหม่อีกครั้ง)

รู้สึกเหมือนระบบเสียงที่ฟังนั้น ยิ่งฟังยิ่งน่าเบื่อ? 

ในส่วนนี้ โอกาสที่เป็นไปได้มีด้วยกันสองส่วน คือมวลเสียงของดอกลำโพงทวีตเตอร์ ค่อนข้างจะเบาไปเมื่อเทียบส่วนกับมวลเสียงของดอกลำโพงมิดวูฟเฟอร์ หรือช่วงการตอบสนองความถี่ในตัวดอกลำโพงทวีตเตอร์ไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่สามารถทำเสียงในช่วง 2kHz ถึง 10kHz ได้ราบรื่น ได้กราฟตอบสนองในรูปทรงแอ่งกระทะ โดยการแก้ไขอาจใช้การปรับตั้ง EQ หรือรุนแรงถึงขนาดที่ต้องลองสลับดอกทวีตเตอร์(เป็นรุ่นอื่น)เพื่อฟังเปรียบเทียบ

เสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีฟังดูอึมครึม?

ผลวิเคราะห์เสียงในลักษณะนี้ มักเกิดจากลักษณะกราฟเสียงในช่วงความถี่ 400 Hz ถึง 1000Hz มีรูปทรงที่เป็นแอ่งกระทะ อาจใช้การปรับตั้ง EQ ชดเชยได้บ้างเล็กน้อย หรือในขั้นรุนแรงอาจลองสลับดอกมิดวูฟเฟอร์(เป็นรุ่นอื่น)เพื่อฟังเปรียบเทียบ

เสียงในระบบรู้สึกเจิดจรัสเกินไป?

ผลวิเคราะห์ในลักษณะนี้ มักเป็นเรื่องของมุมองศาให้เสียงในตัวทวีตเตอร์ และผลของการสะท้อนเสียงจากวัสดุสะท้อนเสียงในบริเวณใกล้เคียง กรณีที่เบ้าติดตั้งทวีตเตอร์สามารถปรับเปลี่ยนมุมองศาได้ อาจลองขยับมุมองศาให้เสียงเลื่อนไปซักประมาณ 30 องศา(จากองศาเดิม) เพื่อเปลี่ยนมุมสะท้อนไม่ให้กระทบไปยังหูผู้ฟังโดยตรง และเปลี่ยน Axis ของดอกทวีตเตอร์ ไม่ให้ยิงตรงมายังหูผู้ฟังมากเกินไป

ต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องทั้งหมดนี้ เป็นไปในส่วนของการปรับตั้ง “เบื้องต้น”  ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งร้อยแปดพันเก้าปัญหาทางคุณภาพเสียงได้ทั้งหมด ด้วยขีดจำกัดของระดับชั้นการใช้งานระบบเสียง ที่แยกย่อยได้เป็น 4 ระดับชั้น นั่นคือขั้นพื้นฐาน, ขั้นคุณภาพ, ขั้นยอดเยี่ยม และขั้นที่สุดของที่สุด(Hi-End) ยังไงละครับ