งานออกแบบตู้ซับฯ แบนด์พาส (Single-Tuned Band Pass) ที่สมบูรณ์แบบ
- วันที่: 17/05/2014 13:13
- จำนวนคนเข้าชม: 18209
รู้สึกเหมือนว่าหลายๆท่านต้องการใช้งานโปรแกรม BassBox Pro ก็กับงานออกแบบตู้แบนด์พาส ทั้งที่จริงตู้แบนด์พาสก็คือ ตู้ผสมระหว่างตู้ปิดกับตู้เปิด(สำหรับแบนด์พาสแบบ Single-Tuned Box) ซึ่งหากต้องการตู้แบนด์พาสแบบนี้ที่สมบูรณ์แบบ ต้องจำกัดดอกซับฯที่มีค่า EBP อยู่ระหว่าง 60 ถึง 80 จะดีเยี่ยม แต่หากจำเป็นจริงๆก็ขอให้มี EBP อยู่ระหว่าง 50 ถึง 90 (ไม่เกิน 90 และไม่ต่ำกว่า 50) ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตัวตู้ใบปิดและตู้ใบเปิด จะได้ไม่มีขนาดใหญ่โตเกินไปนัก เมื่อต้องการแบนด์วิธของตู้อยู่ระหว่าง 45 Hz ถึง 90 Hz
T/S parameters ของซับวูฟเฟอร์ที่มี EBP อยู่ที่ 81
ในตัวอย่างขอหยิบยกเอาซับวูฟเฟอร์ที่มี EBP อยู่ที่ 81 มาใช้ในการออกแบบตู้ ซึ่งเมื่อป้อนข้อมูลและเลือกแบบตู้เป็น Bandpass Single-Tuned Box พร้อมทำการ Suggest เราก็จะได้ขนาดตู้ที่ไม่อลังการณ์เกินไปนัก แต่มีแบนด์วิธอยู่ที่ 39.44 Hz ถึง 114.5 Hz (แบนด์วิธตัวนี้ ก็หมายถึงค่าความสามารถของตู้ ที่จะให้เสียงได้ในช่วงความถี่ 39.44 Hz ถึง 114.5 Hz ค่าที่ต่ำกว่าและสูงกว่าแบนด์วิธ ก็จะเสียงค่อยลงตามลำดับ)
ปริมาตรตู้ที่ได้หลังจากเลือกแบบตู้และคลิ๊กที่ Suggest แล้ว จะเห็นว่ามีขนาดที่กำลังดี
ตามพารามิเตอร์ของซับฯดอกนี้ เราจะได้ตู้ใบปิด(รวมแม่เหล็กดอกซับฯ)ที่ 0.41 ลบ.ฟุต และตู้ใบเปิดที่ 0.317 ลบ.ฟุต (แต่ค่าที่ปรากฏเป็น 0.34 ลบ.ฟุต ก็เพราะได้ส่วนเว้าของหน้ากรวยดอกซับฯรวมเข้ามาด้วย เพราะเราติดตั้งส่วนของแม่เหล็กในตู้ใบปิด ดังนั้นส่วนเว้าของหน้ากรวยจึงอยู่ในตู้ใบเปิด จึงได้ปริมาตรเพิ่มขึ้น) ซึ่งหากใช้ค่าตามนี้ เราจะได้การตอบสนองของตู้ซับฯที่ออกแบบจาก 39.44 Hz ถึง 114.5 Hz (ซึ่งค่าความถี่ท่อของตู้ใบเปิดระบุไว้ที่ 67.2 Hz)
กราฟความสามารถตอบสนองความถี่ของตู้แบนด์พาส ใบที่ได้จากการ Suggest
เมื่อต้องการให้แบนด์วิธแคบลง หรือกระชับการตอบสนองความถี่ให้มากขึ้น เราสามารถทำการออกแบบได้โดยเปลี่ยนสัดส่วนของความสัมพันธ์ 3 ข้อมูล อันได้แก่ค่า Vb ของตู้ใบปิด, ค่า Vb ของตู้ใบเปิด และค่า Fb ของตู้ใบเปิด อย่างในตัวอย่าง เราเปลี่ยน Vb ของตู้ใบปิดเป็น 0.4 ลบ.ฟุต (ตู้ใบใหญ่ขึ้นเล็กน้อย), ค่า Vb ของตู้ใบเปิดเป็น 0.55 ลบ.ฟุต(ใหญ่ขึ้น) และเปลี่ยนค่าความถี่ท่อเป็น 60 Hz อันมีผลทำให้แบนด์วิธลดลงเป็น 49.94 Hz ทำให้การตอบสนองความถี่ของตู้แบนด์พาสใบนี้อยู่ที่ 40.08 Hz ถึง 90.02 Hz
ค่าปริมาตรที่เปลี่ยนไปของตู้ทั้งสองใบ และความถี่สัมพันธ์ของท่อเบส ส่งผลให้แบนด์วิธแคบลง
การตอบสนองความถี่ของตู้(แบนด์วิธ) ดูแคบลง แต่ก็สูญเสียความราบเรียบของคลื่นไปเล็กน้อย
ในความเป็นจริงของการใช้งานตู้แบนด์พาสนั้น จุดประสงค์อันดับแรกของการใช้งานก็คือ เพื่อทดแทนการใช้งานครอสโอเวอร์ โดยตู้แบนด์พาสจะเสมือนมีครอสโอเวอร์อยู่ในตู้ ดังตัวอย่างที่สองที่เราเลือกแบนด์วิธไว้แค่ 40 Hz ถึง 90 Hz ก็เสมือนมีโลว์พาสครอสโอเวอร์ที่ 90 Hz และมีไฮพาสครอสโอเวอร์ที่ 40 Hz นั่นเอง
แน่นอนว่า เมื่อกระชับการตอบสนองความถี่ของตู้ให้แคบขึ้น ก็จะทำให้ระดับความดังของเสียงโดยรวมนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งกระชับมากก็จะได้ดวามดังเพิ่มขึ้นมาก แต่ผลเสียของการกระชับแบนด์วิธมากเกินไป ก็จะเป็นผลร้ายกับการฟังเพลง เพราะโน้ตเบสหลายๆตัวจะถูกมองข้ามไปหรือผิดเพี้ยนรูปทรงของเนื้อเบสทีสมบูรณ์ไป
แนะนำตามประสบการณ์แล้ว หากต้องการออกแบบตู้แบนด์พาสเพื่อการฟังเพลง โดยเฉพาะนักนิยมฟังเพลง(ไม่ใช่นิยมแข่งหรืออวดศักดา)ให้ถือแบนด์วิธที่ 40 Hz ถึง 90 Hz จะได้อรรถรสในการฟังเสียงเบสจากตู้แบนด์พาสได้เป็นอย่างดี
สำหรับการแข่งขันโดยการใช้ตู้แบนด์พาสนั้น อาจจะบีบแบนด์วิธให้แคบมากๆจนเกือบเป็นยอดแหลมก็คงจะได้ เพราะถ้าเป็นการแข่งขันเฉพาะในเรื่องความดัง ไม่มีการฟังเพลง ความกว้างของแบนด์วิธก็คงไม่มีประโยชน์อะไร
การคัดสรรดอกซับฯ
ในการคิดที่จะเล่นกับตู้ซับฯในแบบแบนด์พาธนั้น แนะนำในกรณีของการฟังอย่างมีอรรถรส โดยรักษาความกว้างของแถบคลื่นของตู้เบสเอาไว้ในช่วง 40 Hz ถึง 90 Hz นั้น ควรเลือกใช้กับดอกซับฯที่มีค่า EBP ในระหว่าง 55 ถึง 85 ดังตัวอย่างดอกซับฯ 2 ค่า EBP ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
ดอกซับฯแรก มีค่า EBP อยู่ที่ 82 เมื่อนำมาออกแบบเป็นตู้แบนด์พาส Single-Tuned ที่ปริมาตรจริง(รวมแม่เหล็กดอก)ของตู้ปิดที่ 0.641 ลบ.ฟุต และตู้เปิดที่ 0.428 ลบ.ฟุต ความถี่ท่อ 60 Hz จะได้แบนด์วิธที่ 37.92 Hz ถึง 96.42 Hz (หรือเทียบเป็นความกว้างที่ 58.5 Hz)
ปริมาตรตู้ซับฯของดอกที่มี EBP 82 ตามตัวอย่าง
กราฟตอบสนองความถี่ของดอกซับฯ EBP 82 ตามตัวอย่าง
จะเห็นได้ว่าปริมาตรของตู้รวม(ทั้งใบปิด+ใบเปิด)จะอยู่ที่ประมาณ 1 ลูกบาศก์กว่าๆ ซึ่งยังเหมาะสมกับการใช้งานเป็นตู้ซับฯติดตั้งในระบบเสียงรถยนต์ทั่วๆไป(ไม่ใช่รถโชว์)
สำหรับดอกซับฯต่อไป เป็นดอกซับฯในค่า EBP ที่ 49 เมื่อนำมาออกแบบเป็นตู้แบนด์พาส Single-Tuned ที่ปริมาตรจริง(รวมแม่เหล็กดอก)ของตู้ปิดที่ 0.878 ลบ.ฟุต และตู้เปิดที่ 1.478 ลบ.ฟุต ความถี่ท่อ 60 Hz จะได้แบนด์วิธที่ 41.3 Hz ถึง 89.05 Hz (หรือเป็นความกว้างที่ 47.75 Hz)
ปริมาตรตู้ซับฯของดอกที่มี EBP 49 ตามตัวอย่าง
กราฟตอบสนองความถี่ของดอกซับฯ EBP 49 ตามตัวอย่าง
สังเกตุเห็นได้ว่าดอกซับฯที่มีค่า EBP ต่ำกว่า 55 หรือสูงกว่า 85 จะมีปัญหาในเรื่องขนาดตู้โดยรวม เมื่อต้องการแบนด์วิธในช่วง 40 Hz ถึง 90 Hz อย่างเช่นดอกซับฯที่มีค่า EBP 49 เมื่อต้องการให้ได้คลื่นตามต้องการ จะใช้ปริมาตรตู้รวมถึง 2 ลูกบาศก์กว่าๆ
ดังนั้น ใครที่มีปัญหาว่าทำตู้แบนด์พาสใบเล็กๆ แล้วนำมาดอกซับฯมาติดตั้งใช้งาน แต่กลับได้รูปคลื่นที่แข็งกระด้างหรือเสียงเบสนุ่มนิ่ม ปัญหาหลักในเรื่องนี้ก็อยู่ทีเรื่องของค่า EBP ที่ตัวดอกซับฯไม่เหมาะสมกับการนำมาออกแบบเป็นตู้แบนด์พาส
แนวทางแก้ไขที่น่าสนใจและเป็นไปได้จริง ก็คือเปลี่ยนตู้ไปเป็นแบบมาตรฐาน (คือตู้ปิดหรือตู้เปิด) ตามความสามารถหรือความเหมาะสมของ EBP ที่ดอกซับฯ ดังความสามารถนี้
ค่า EBP ที่ต่ำกว่า 55 แนะนำให้ออกแบบเป็นตู้ปิดจะเหมาะสมที่สุด
ค่า EBP ที่อยู่ระหว่าง 55 ถึง 85 สามารถออกแบบใช้งานได้ทั้งตู้ปิด, ตู้เปิด และตู้แบนด์พาธ
ค่า EBP ที่สูงกว่า 85 ขึ้นไป แนะนำให้ออกแบบใช้งานเป็นตู้เปิดจะเหมาะสมที่สุด