รู้จัก MirrorLink บูรณาการงานเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนในรถยนต์
- วันที่: 17/05/2014 13:05
- จำนวนคนเข้าชม: 10808
เรื่องราวของ MirrorLink นั้น เริ่มมาจากโครงการวิจัย จากนักวิจัย Jorg Brakensiek ในศูนย์วิจัยของ Nokia(โนเกีย) ที่ Palo Alto, US โดยมุ่งหมายให้เป็น ซับ-โพรโตคอล (sub-protocals) ในการแสดงภาพ มีพื้นฐานเทคโนโลยี่มาจาก X11 mirroring (ของลินุกซ์) ซึ่งในโครงการวิจัยเลือกใช้ Nokia N800 เป็นฮาร์ดแวร์ในการทดลอง
กลุ่มบริษัทผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ของเยอรมันในนามสมาคม CE4A (Consumer Electronics for Automotive) มองเห็นผลเบื้องต้นที่มีอนาคต จึงร่วมมือกับโนเกียเพื่อพัฒนาให้สามารถนำมาใช้กับยานยนต์ได้ โดยตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า Terminal Mode
ไม่ช้าไม่นานต่อมา Nokia ก็เข้าร่วมกับ Magneti Mareli เพื่อนำเอาแนวคิด Terminal Mode ที่ว่านี้ออกแสดงต่อสาธารณะ ในงาน Frankfurt International Auto Show (IAA) ในเดือนกันยายน 2009(2552) และประยุกต์ใช้งานได้กับยานยนต์ครั้งแรกในงาน Geneva Auto Show เมื่อเดือนมีนาคม 2010(2553) ด้วยการใช้ Nokia N97 เป็นต้นแบบในการนำเสนอ พอมาถึงเดือนกรกฎาคม 2010(2553) แนวคิด Terminal Mode นี้ได้นำเสนอรูปแบบบูรณาการงานเชื่อมต่อให้เห็นเป็นจริงเป็นจังในรถ VW Passat ที่งาน MobileBeat 2010(2553)
มาถึงปี 2011(2554) กลุ่ม CE4A ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสมาคม CCC (Car Connectivity Consortium) เพื่อรวมหมวดอุตสาหกรรมเครื่องเล่นหลักในรถยนต์เข้ากับอุตสาหกรรมของอุปกรณ์พกพา และในวันที่ 12 กันยายน 2011(2554) ชื่อของ Terminal Mode ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็น MirrorLink และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์ของสมาคม CCC ซึ่งเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2012(2555) สมาคม CCC ก็มีสมาชิกรวมแล้ว 56 สมาชิก และยังรวมไปถึงผู้ผลิตยานยนต์ค่ายใหญ่ๆและผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาค่ายต่างๆในโลก
MirrorLink
“มิเรอร์-ลิงค์” เป็นชื่อเรียกขาน “อุปกรณ์เชื่อม” ที่ถูกนำมาใช้บูรณาการงานเชื่อมต่อ ระหว่างสมาร์ทโฟน(หรืออุปกรณ์พกพาอื่น)เข้ากับระบบ Infotainment ในรถยนต์ โดย “มิเรอร์-ลิงค์” จะแปลงให้สมาร์ทโฟนกลายเป็น “แพลตฟอร์ม”(platforms) ของการประยุกต์ใช้งานในยานยนต์ โดยที่แอพพลิเคชั่นจะทำงานอยู่บนสมาร์ทโฟน แต่สามารถแสดงผลได้บนจอมอนิเตอร์ของรถยนต์ และสามารถรับคำสั่งผ่านทางอุปกรณ์เครื่องเล่นหลักของรถยนต์ ที่เชื่อมกับอุปกรณ์อินพุทต่างๆ อาทิ หน้าจอแตะสัมผัส หรือปุ่มสั่งงานบนพวงมาลัย
“มิเรอร์-ลิงค์” สามารถใช้เทคโนโลยี่มาตรฐานเปิดในการเชื่อมได้หลายรูปแบบ ทั้ง USB, Bluetooth และ WiFi โดยการติดต่อจะใช้พื้นฐานของโพรโตคอลดังต่อไปนี้
-ส่วนของการควบคุม เลือกใช้ UPnP (หรือ Universal Plug and Play)
-ส่วนของการแสดงภาพ เลือกใช้ VNC (หรือ Virtual Network Computing) เพื่อการจำลองจอภาพของสมาร์ทโฟน ไปแสดงผลบนจอมอนิเตอร์ของรถยนต์
-ส่วนของเสียง เลือกใช้ RTP (หรือ Real-Time Protocal) ในการ “สตรีม” เสียงจากสมาร์ทโฟนไปยังภาคส่วนเสียงของรถยนต์
-ในปัจจุบัน MirrorLink ยังไม่เพิ่มการแสดงผลในแบบวีดิโอ(Video) แต่อนาคตคาดว่าจะสามารถทำได้
สำหรับ “มิเรอร์-ลิงค์” ล่าสุด จะใช้พื้นฐานของเทคโนโลยีที่คุ้นเคย และเป็นเทคโนโลยีสาธารณะ(ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิ์) พูดง่ายๆคือใช้เทคโนโลยีพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต (อาทิ Internet Protocal) เพื่อให้สามารถเข้ากันได้กับอุปกรณ์ได้หลากหลาย และเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในยานยนต์ อาทิเช่น Bluetooth, USB และ WiFi ใช้การควบคุมแอพพลิเคชั่นในอุปกรณ์ผ่านทาง UPnP
Pioneer MirrorLink
สำหรับเครื่องเล่นในรถของ Pioneer ในรหัสรุ่น Pioneer AVH-X8650BT, AVH-X5650BT, AVH-X4650DVD, AVH-X2650BT และ AVH-X1650DVD ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน iOS อย่าง iPhone สามารถทำการ “มิเรอร์-ลิงค์” ได้โดยตรง (ใช้สายเชื่อมเป็นอุปกรณ์เสริม)
ส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android จะสามารถทำการ “มิเรอร์-ลิงค์” โดยตรงได้กับเครื่องเล่น Pioneer AVH-X8550BT ได้เพียงรุ่นเดียว (ใช้สายเชื่อมเป็นอุปกรณ์เสริม)
พร้อมกับออกแบบกล่อง Pioneer CD-ML100 (MirroLink) ให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟน Android ที่ต้องการ “มิเรอร์-ลิงค์” ผ่านทางพอร์ต USB กับเครื่องเล่นรุ่นอื่นๆ อาทิ AVH-X1650DVD
ในอนาคตคาดว่ารุ่นต่อๆไป หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของ Pioneer จะสามารถเชื่อมหรือทำการ “มิเรอร์-ลิงค์” ได้กับทุกรุ่น
ส่วนเครื่องเล่นในยี่ห้ออื่นๆ ให้สังเกตที่สัญลักษณ์หรือโลโก้ MirrorLink ที่ติดอยู่บนหน้าเครื่อง เพียงแต่รูปแบบจะเป็น Direct Connection หรือต้องผ่าน Adapter ก็ต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนอีกทีหนึ่ง