เทคนิคการปรับตั้งจุดตัดความถี่ สำหรับแอมป์กลางแหลมและแอมป์ขับซับฯ แบบพื้นฐาน
- วันที่: 03/05/2014 15:41
- จำนวนคนเข้าชม: 17965
เนื้อหาจะเป็นเช่นไร และมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ก็ต้องขอเชิญเข้าไปทัศนาเสาะแสวงหากันได้ นับเนื่องต่อจากนี้ไป
การปรับตั้งจุดตัดความถี่สำหรับแอมป์ขับกลางแหลม
การปรับตั้งจุดตัดความถี่ย่านกลางสูงผ่าน หรือ HPF ให้กับเพาเวอร์แอมป์ที่รับหน้าที่ขับชุดลำโพงกลางแหลมนั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่มีข้อวินิจฉัยอยู่สองประการ นั่นคือ ปรับตั้งในรูปแบบบุคลิกเสียงที่ชอบพอ หรือความชื่นชอบในผลการรับฟังเป็นหลัก กับสองปรับตั้งในเงื่อนไขของ One Octave
การปรับตั้งแบบทั่วไปสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อฟังทดสอบได้ตั้งแต่ระดับความถี่ 70 Hz ไปจนถึง 150 Hz หรืออยู่ในช่วงเสียงโน้ตดนตรีของกีต้าร์ หรือเสียงกลองสแนร์ โดยในขั้นพื้นฐานของการปรับตั้งแนะนำให้ใช้ค่าความถี่ 90 Hz เป็นจุดเริ่มต้น และใช้การปรับละเอียดโดยการฟังอีกครั้งในขั้นตอนการปรับเสียงอย่างละเอียด
สำหรับการปรับตั้งในเงื่อนไขของ One Octave จะใช้ค่าจุดตัดความถี่กลางอยู่ที่ตำแหน่ง 60Hz และ 120Hz โดยขึ้นอยู่กับขนาดของกรวยมิดวูฟเฟอร์(วัดจากพื้นที่กรวยจริงๆไม่ใช่สเปค) นั่นคือ ถ้ากรวยของมิดวูฟเฟอร์มีขนาดตั้งแต่ 6 นิ้วขึ้นไป จะใช้ที่ตำแหน่ง 60Hz(และสามารถปรับแปรผันได้ในช่วง 40Hz ถึง 80Hz ขึ้นกับความสามารถของลำโพงมิดวูฟเฟอร์ หรือค่า Fs จริงๆของมิดวูฟเฟอร์) แต่ถ้ากรวยมิดวูฟเฟอร์มีขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว จะใช้ที่ตำแหน่ง 120Hz(และสามารถปรับแปรผันได้ในช่วง 80Hz ถึง 160Hz ขึ้นอยู่กับความสามารถของมิดวูฟเฟอร์ หรือค่า Fs จริงๆของมิดวูฟเฟอร์) เพื่อให้สัมพันธ์กับความสามารถจำเพาะของขนาดหน้ากรวยนั้นๆ
การปรับตั้งจุดตัดความถี่สำหรับแอมป์ขับซับวูฟเฟอร์
สำหรับการปรับตั้งจุดตัดความถี่ผ่านเบสต่ำผ่าน หรือ LPF ให้กับเพาเวอร์แอมป์ที่รับหน้าที่ขับชุดซับวูฟเฟอร์ ก็มักไม่มีข้อกำหนดตายตัวเช่นกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบบุคลิกเสียงเบสที่ชื่นชอบ รวมถึงระดับความดังของเสียงเบสที่ต้องการฟัง โดยทั่วไปสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อฟังทดสอบได้ตั้งแต่ระดับความถี่ 90 Hz เรื่อยลงไปถึง 45 Hz ซึ่งอยู่ในช่วงเสียงโน้ตดนตรีประเภทเบสกีต้าร์ หรือเสียงกลองเท้ากระแทก ในขั้นพื้นฐานแนะนำให้ใช้ค่าความถี่ 75 Hz เป็นจุดเริ่มต้น และใช้การปรับละเอียดโดยการฟังอีกครั้งในขั้นตอนการปรับเสียงอย่างละเอียด
ในการปรับตั้งจุดตัดความถี่สำหรับแอมป์ขับซับฯนั้น ยังมีความหลากหลายของเป้าประสงค์แยกย่อยลงไปอีก อาทิ ปรับตั้งเพื่อให้เกิดสภาพของ “เบสอัพฟร้อนท์”, ปรับตั้งเพื่อให้มีสภาพของเสียงแบบ “กลางแจ้ง”, ปรับตั้งเพื่อให้มีสภาพของเสียงแบบ “ห้องฟังในบ้าน” หรือปรับตั้งเพื่อให้เกิดสภาพเสียงในลักษณะของ “ออดิโอไฟล์” ซึ่งจะใช้เทคนิคปลีกย่อยแตกต่างกันไป
เอาเป็นว่าในคราวนี้ขอเล่าเฉพาะส่วนพื้นฐานกันก่อน สำหรับการปรับตั้งจุดตัดความถี่สำหรับแอมป์ขับซับฯเพื่อเป้าประสงค์ต่างๆ ขอเวลาเรียบเรียงเพื่อจัดนำเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ