ปรับตั้งขั้วเสียง(เฟส)ของทวีตเตอร์ ด้วยการฟัง
- วันที่: 03/05/2014 15:53
- จำนวนคนเข้าชม: 9017
ในการติดตั้งระบบชุดลำโพงแยกชิ้นทางด้านรถ ที่มีลักษณะเป็นการติดตั้งดอกมิดวูฟเฟอร์ไว้ที่บานประตู และติดตั้งดอกทวีตเตอร์เอาไว้บนแดชบอร์ด หรือที่บริเวณ “เสา-เอ” นั้น เราจำเป็นจะต้องทำการปรับตั้งขั้วเสียง(หรือเฟส)ของทวีตเตอร์ ให้ลงรอยหรืออยู่ในเฟสเดียวกันกับมิดวูฟเฟอร์ เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติแท้จริงของชุดลำโพงนั้น
โดยปกติเราสามารถใช้อุปกรณ์ประเภท “เฟส-ดีเท็คเตอร์” ในการปรับตั้งได้ หรือถ้าเป็นมืออาชีพ ก็ยังสามารถใช้ T-RTA ในการจับคลื่นเฟสเพื่อปรับให้ถูกขั้วเสียง หากแต่บางท่านที่เป็นนักเล่นทั่วไปต้องการที่จะปรับตั้งด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ ก็สามารถใช้การวิเคราะห์จากการฟัง เพื่อการปรับตั้งขั้วเสียงหรือเฟสนี้ได้เช่นกัน และในคราวนี้เราได้หยิบยกเรื่องราวเหล่านี้มาพูดถึงกัน
การปรับขั้วเสียงของทวีตเตอร์ในระบบเสียงรถยนต์
ความถูกต้องของขั้วเสียง(เฟส)ของดอกทวีตเตอร์ทีทำงานร่วมกับดอกมิดวูฟเฟอร์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะใช้เพื่อชี้ขาดหรือวัดผลสมบูรณ์ในระบบเสียง ขั้วเสียงที่ต่างกันสามารถทำให้เกิดความผิดเพี้ยน หรือถึงขั้นทำลายเสียงที่ดีในชุดลำโพงได้เลยทีเดียว
ในบางกรณีที่มีการกลับขั้วลำโพง(หมายถึงการสลับขั้วบวก/ขั้วลบที่ขั้วลำโพง) ทั้งสองข้างของดอกทวีตเตอร์แล้วกลับมีผลทำให้คุณภาพของเสียงดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะผลของตำแหน่งในการติดตั้งดอกทวีตเตอร์, ผลของระยะห่างระหว่างดอกลำโพง(ดอกทวีตเตอร์ห่างจากดอกมิดวูฟเฟอร์มาก/น้อย) และระยะตำแหน่งของผู้ฟัง(ผู้ฟังนั่งห่างจากดอกทวีตเตอร์/ดอกมิดวูฟเฟอร์ไม่เท่ากัน) หรือแม้กระทั้งการสะท้อนเสียงที่มีเกิดขึ้นภายในห้องโดยสารรถยนต์ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้า จนกว่าจะได้ทำการติดตั้งดอกลำโพงลงไปในรถยนต์จริง
การประเมินผลความถูกต้องของขั้วเสียงที่ดอกทวีตเตอร์
หลังจากได้ทำการติดตั้งดอกลำโพงต่างๆลงไปในตำแหน่งที่ต้องการ ภายในห้องโดยสารรถยนต์แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเชื่อมสายจากดอกลำโพงนั้นๆไปยังชุดพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ แนะนำให้ติดตั้งพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ไว้ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกในการปรับตั้งในเรื่องต่างๆ แนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมคือบริเวณใต้เบาะที่นั่งทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับตั้งในเรื่องของ “ขั้วเสียง” ตามกฏที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้อย่างสะดวก ทั้งในแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวา เพื่อให้ได้ผลลัพท์ทางคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์
ต่อนี้ไปเราสามารถปรับตั้งขั้วเสียงของดอกทวีตเตอร์ได้ง่ายๆ โดยการใช้เพียงลูกบิดเร่ง/ลดเสียงที่มีอยู่แล้วในเครื่องเล่นต่างๆ
เล่นแผ่นเพลงที่บันทึกมาอย่างมีคุณภาพ และเป็นแผ่นเพลงหรือแทรคเพลงที่ท่านชื่นชอบที่จะฟังเป็นพิเศษ เพื่อความคุ้นเคย โดยเร่งระดับความดังให้สามารถได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงเครื่องดนตรีได้อย่างถนัด และชัดเจนตลอดย่านเสียง หมายถึงเสียงที่ได้ยินมีความสมบูรณ์ทั้งเสียงในย่านสูง, ย่านกลาง และย่านความถี่กลางต่ำ (สามารถปิดเสียงย่านซับฯเบสได้ก่อนเพื่อความชัดเจน)
ให้เล่นแผ่นหรือแทรคเพลงนั้นพร้อมกับฟังจับใจความเป็นเวลาประมาณ 20 ถึง 30 วินาที สนใจฟังถึงเสียงที่เล่นออกมานั้นอย่างจริงจัง จากนั้นให้หยุดการเล่นแผ่น แล้วทำการสลับขั้วสายลำโพงของดอกทวีตเตอร์ที่บริเวณพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ โดยการสลับด้านบวกไปลบและด้านลบมาบวก ย้อนกลับไปฟังเสียงจากแผ่นหรือแทรคที่เคยฟังข้างต้นอีกครั้ง ในระยะเวลาการฟังใกล้เคียงกัน จากนั้นหาคำตอบในใจให้ได้ว่า การต่อสายลำโพงในแบบใดที่พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์แล้วให้ “ระดับเสียงของดอกทวีตเตอร์ดังกว่า” หมายถึงว่า แบบการเข้าขั้วสายลำโพงที่ทวีตเตอร์ ซึ่งให้ระดับเสียงของดอกทวีตเตอร์ได้ดังกว่า นั่นคือตำแหน่งขั้วเสียงที่ถูกต้อง
เสียงดอกทวีตเตอร์ที่ดังกว่า บอกให้ทราบถึงตำแหน่งขั้วเสียงที่ถูกต้องในระบบ
หลังจากที่ได้ตำแน่งขั้วเสียงที่ถูกต้องแล้ว (หมายถึงการเข้าสายลำโพงที่ขั้วบวก/ลบของพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ แล้วให้เสียงของดอกทวีตเตอร์ได้ดังกว่า) ท่านก็สามารถปรับระดับความไวของดอกทวีตเตอร์ได้ตามเหมาะสม หากในพาสซีฟ-ครอสโอเวอร์มีตำแหน่งปรับระดับมาให้ (สำหรับในการประเมินผลช่วงแรก แนะนำให้ตั้งความไวที่พาสซีฟ-ครอสฯเอาไว้สูงสุด หรือ dB มากที่สุดก่อน)
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
-แนะนำให้วิธีการฟังโดยการหลับตาหรือนั่งฟังในสถานที่ที่มีแสงน้อยๆ เพื่อให้สามารถมีสมาธิจับความแตกต่างของเสียงได้อย่างชัดเจน
-ใช้แผ่นเพลงหรือแทรคเพลง ที่มีเครื่องดนตรีจำนวนชิ้นเยอะๆ หรือเล่นพร้อมกันหลายๆชิ้นร่วมกับเครื่องดนตรีประเภทอคูสติค (ที่ใช้กล่องไม้ อาทิ ไวโอลีน, กีต้าร์โฟล์ค ฯลฯ) ในการวิเคราะห์ความแตกต่าง
ในกรณีที่หากลดระดับความไวที่พาสซีฟ-ครอสโอเวอร์ลงต่ำสุดแล้ว ท่านยังรู้สึกว่าได้ยินเสียงของดอกทวีตเตอร์ดังมากเกินไป แนะนำให้ต่ออุปกรณ์ “รีซิสเตอร์” ค่า 2 ถึง 6 โอห์ม เข้าไประหว่างสายขั้วบวกไปยังดอกทวีตเตอร์ เพื่อลดระดับความจ้าของเสียงแหลมให้เหมาะสม