ติดตั้งทวีตเตอร์คู่หน้า ตำแหน่งเสียงดีที่สุด
- วันที่: 03/05/2014 16:25
- จำนวนคนเข้าชม: 20891
ในการติดตั้งทวีตเตอร์นั้น เราควรมารู้ถึงคุณสมบัติการให้เสียงจากทวีตเตอร์ที่สัมพันธ์กับวงจรพาสซีฟครอสโอเวอร์กันบ้าง โดยในปัจจุบันวงจรพาสซีฟนิยมใช้กัน 2 แบบ คือ บัตเตอร์เวิร์ธ และลิงค์วิธไลเรย์ ซึ่งมีผลต่อมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์ที่แตกต่างกัน
และเหตุที่หยิบยกเอาเรื่องของพาสซีฟทั้งสองแบบ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์มาพูดถึง ก็เพื่อขจัดปัญหาของคำถามสามัญประจำเว็บที่ว่า “พาสซีฟแบบไหนดีกว่ากัน?” เพราะพาสซีฟทั้งสองแบบใช้ได้ดีทั้งคู่อยู่ที่การวางมุมองศาของทวีตเตอร์ต่างหาก โดยทั่วไปตำแหน่งในการติดตั้งทวีตเตอร์คู่หน้าของระบบเสียงรถยนต์มักมีอยู่ด้วยกัน 5 ตำแหน่งมาตรฐาน อันได้แก่
1. ในแดชบอร์ดของแผงหน้าปัด
2. บริเวณเสา A-PILLA
3. บริเวณมุมสามเหลี่ยมกระจกหน้า
4. บริเวณท่อนบนของบานประตูหน้า
5. บริเวณ KICK PANEL
ซึ่งเมื่อมองตามรูปแบบตำแหน่งติดตั้งมาตรฐานทั้ง 5 ตำแหน่งนี้ เราพอจะจำแนกได้ว่าในตำแหน่งที่ 1 และที่ 5 น่าจะเหมาะกับพาสซีฟแบบ “ลิงค์วิธ” ด้วยเหตุผลที่ว่า พาสซีฟแบบลิงค์วิธจะบีบให้น้ำหนักเสียงออกทางแกนกลางโดมทวีตเตอร์มากกว่า เพราะการติดตั้งทวิตเตอร์ในแดชบอร์ดนั้น มักเป็นการติดตั้งแบบหงายโดมขึ้นหากระจกหน้ารถโดยตรง พาสซีฟแบบลิงค์วิธจะยิงมุมออกตรงๆ ทำให้เสียงแหลมมีการปะทะกับกระจกแผ่นหน้า โดยเสียงทั้งหมดเกือบ 80% จะวิ่งไปหาผู้ฟังโดยการสะท้อนจากแผ่นบานกระจกหน้ารถ(แต่ต้องดูแลเรื่องเฟสเสียงอย่างเหมาะสม อาจต้องกลับเฟสที่ทวีตเตอร์ เพื่อที่เสียงหลังจากกระทบกับกระจกแล้วจะกลับเป็นถูกเฟสโดยปริยาย)
แต่ถึงกระนั้นการติดตั้งทวีตเตอร์บนแดชบอร์ดด้วยพาสซีฟแบบบัตเตอร์เวิร์ธ ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวหากสามารถปรับมุมองศาของทวีตเตอร์ได้เหมาะสม ก็จะลดการปะทะเสียงแหลมกับกระจกหน้ารถ และไม่ต้องตรวจเฟสในกรณีเสียงกระทบกระจกหน้าด้วย ทั้งนี้รวมไปถึงการติดตั้งทวีตเตอร์บริเวณ Kick Panel หากสามารถเอียงมุมองศาให้เสียงแหลมลอดออกมาได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้พาสซีฟแบบลิงค์วิธเสมอไป เป็นพาสซีฟแบบบัตเตอร์เวิร์ธก็สามารถทำได้ ขอให้เข้าใจรูปแบบการแผ่กระจายของพาสซีฟแต่ละแบบได้ถูกต้อง
ถึงตรงนี้ก็พอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า วงจรพาสซีฟทั้งแบบ “ลิงค์วิธ” และ “บัตเตอร์เวิร์ธ” เป็นส่วนหนึ่งของการการแก้ปัญหาสภาพเสียง ไม่ใช่แบบไหนดีหรือแบบไหนไม่ดี เข้าใจไหม? การเลือกตำแหน่งติดตั้งทวีตเตอร์ของชุดหน้าในระบบเสียงรถยนต์จะเน้นในเรื่อง ON-AXIS เป็นสำคัญ เพื่อให้ทั้งเสียงแหลมกลางจากทวีตเตอร์และเสียงกลางต่ำจากวูฟเฟอร์ผสมรวมกันเป็นเนื้อเดียวกันในตำแหน่งที่เรากำหนดเอาไว้
คราวนี้ก็มาถึงส่วนสำคัญ นั่นคือตำแหน่งการติดตั้งทวีตเตอร์บริเวณใดเหมาะสมที่สุด ระหว่างที่เสา A-PILLA, มุมสามเหลี่ยมกระจก, ท่อนบนของบานประตูหน้า และที่ Kick Panel ซึ่งแน่นอนว่าตำแหน่งต่าง ๆ นั้น จะให้มุมแผ่กระจายของเสียงแหลมได้แตกต่างกัน ดังนั้นตำแหน่งที่เหมาะสมจึงถือเอาลักษณะทางสภาพเสียงของห้องโดยสาร ที่มีผลสัมพันธ์กับรูปทรงของแผงหน้าปัด และความสูงของห้องโดยสารเป็นสำคัญ
สำหรับตำแหน่งที่เสา A-PILLA และมุมสามเหลี่ยมกระจก มักถือเอาว่าเป็นตำแหน่งการติดตั้งที่ให้ลักษณะเสียงใกล้เคียงกัน เนื่องจากอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน และมักอยู่ห่างจากวูฟเฟอร์ในรัศมีประมาณ 2-3 ฟุต มักจะให้เสียงแหลมที่เปิดโล่ง มีชีวิตชีวา มิติสเตริโอจะฟังออกกว้าง และมักเหมาะสมกับทวิตเตอร์ที่เป็นแบบ “ซอร์ฟโดม” มากกว่าแบบ “ฮาร์ดโดม”
ส่วนตำแหน่งท่อนบนของบานประตู และที่ Kick Panel มีรัศมีความห่างจากตัววูฟเฟอร์ประมาณ 1-2 ฟุต จะให้เสียงแหลมที่ซึมซับเล็กน้อย ฟังดูอบอุ่น ให้มิติเสียงสเตริโอที่นิ่งสงบ มักเหมาะสมกับทวีตเตอร์ที่เป็นแบบฮาร์ดโดม และทวีตเตอร์ทรงจานใหญ่ขนาด 3-4 นิ้ว (ทั้งฮาร์ดโดม และซอร์ฟโดม) เพราะให้มุมกระจายเสียงที่กว้างกว่าทวีตเตอร์แบบ “กระดุม” นั่นเอง
ในรถรุ่นที่มีความหนาของแผงหน้าปัดน้อย หรือตื้น ซึ่งบริเวณแผงหน้าปัดเป็นทรงเหลียม มีเพดานหลังคาที่ค่อนข้างสูง และมีพื้นที่ของช่องวางเท้าค่อนข้างเล็ก (แค่สอดสองขาเข้าไปก็เต็มพอดี) อย่างนี้ตำแหน่งวางทวีตเตอร์น่าจะเป็นบริเวณเสา A-PILLA หรือมุมสามเหลี่ยมกระจก จะเหมาะสมกว่า เพราะสามารถให้เสียงที่ครอบคลุมได้ตลอดพื้นที่ตอนหน้ารถและในกรณีของรถรุ่นที่มีแผงหน้าปัดอวบหนา, ลึก, มีเพดานหลังค่อนข้างเตี้ย และมีพื้นที่ของช่องวางเท้าใหญ่พอ (ลองสอดขาเข้าไปยังมีพื้นที่อีกเหลือเฟือ) สามารถทำการติดตั้งทวีตเตอร์ที่ Kick Panel ได้ เพราะมีพื้นที่มากพอให้เสียงแหลมแผ่กระจายออกมาบริเวณช่องวางเท้าทั้ง 2 ด้าน และสะดวกในการจัดมุมองศาของทวีตเตอร์ด้วย
ส่วนการติดตั้งทวีตเตอร์ในท่อนบนของบานประตูหน้า มักใช้กับตัวถังของรถรุ่นก่อนๆ(รถยุคเก่า) เนื่องจากมีขนาดของแผงหน้าปัดค่อนข้างเล็กตื้น หลังคาสูง ช่องวางเท้าสั้น ไม่สามารถทำมุมองศาเสียงได้สะดวก ที่สำคัญคือมีรูปทรงของแผงหน้าปัดในด้านซ้ายและด้านขวาไม่สัมพันธ์กัน
จุดสังเกตในการหาตำแหน่งติดตั้งทวีตเตอร์นั้น ให้ยึดแนวทางที่เน้นทั้งทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์สามารถกระจายเสียงมารวมกัน (โฟกัส) ในตำแหน่งที่เราจัดวางเอาไว้
นอกเหนือจากนั้น การลดทอนความไวของทวีตเตอร์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการอีคิว หลังจากการติดตั้งแล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพราะว่าโดยทั่วไป ความไวของทวีตเตอร์มักสูงกว่าวูฟเฟอร์อยู่ประมาณ 2-3 dB ถ้าท่านเป็นนักสังเกตเล็กน้อย จะพบว่าวูฟเฟอร์ในชุดลำโพง 2 ทางแยกชิ้น จะมีความไวในระดับ 90dB – 92 dB ขณะที่ทวีตเตอร์ กลับมีความไวเฉลี่ยอยู่ที่ 93 dB – 95 dB ซึ่งการลดทอนความไวของทวีตเตอร์ก็เพื่อรักษาระดับสมดุลของน้ำเสียงกลางแหลม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ทัดเทียมกัน อันส่งผลให้เสียงดนตรีที่ได้ยินนั้น อบอุ่น มีชีวิตชีวา และเป็นธรรมชาติ การปล่อยให้ทวีตเตอร์เสนอเสียงแหลมที่ล้ำหน้าเสียงจากวูฟเฟอร์ แม้จะฟังดูว่าเสียงมีความแจ่มจรัสบรรเจิดจ้าก็จริง หากแต่เมื่อฟังในระยะเวลานานๆจะรู้สึกอ่อนหล้าและอึดอัดอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว แน่นอนว่าการลดทอนความไวนี้จะไม่มีสูตรสำเร็จ มักขึ้นอยู่กับการลองฟังและระยะเวลาของการ “เบิร์น” ระบบด้วย สัดส่วนเฉลี่ยของการติดตั้งทวีตเตอร์บริเวณ A-PILLA หรือมุมสามเหลี่ยมกระจกนั้น มักลดความไวของทวีตเตอร์ให้ต่ำกว่าวูฟเฟอร์ประมาณ 2 dB เพราะทวีตเตอร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้การรับฟังมากกว่านั่นเอง ในทางกลับกันของการติดตั้งทวีตเตอร์บริเวณ Kick Panel อาจต้องปรับระดับให้ทวีตเตอร์มีความไวสูงกว่าวูฟเฟอร์ประมาณ 2-3 dB เพราะตำแหน่งทวีตเตอร์จะอยู่ไกลจากการรับฟังมากกว่าวูฟเฟอร์นั่นเอง (กรณีวูฟเฟอร์ติดตั้งที่บานประตู)
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ ในชุดลำโพงแยกชิ้น 2 ทางที่มีวางหน่ายในปัจจุบัน จะมีค่าสัมประสิทธิ์ของความไวเสียงที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการอีควอไลซ์ในส่วนของความไวเสียงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเซ็ทอัพกันอย่างจริงจังหลังการติดตั้งแล้วเสร็จ และแน่นอนอีกเช่นกันว่า ไม่สามารถหาสูตรสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับการติดตั้ง, รูปแบบชิ้นงาน และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ ความลงตัวของชุดเครื่องเสียงหนึ่งชุด จะอยู่ที่เรื่องของการปรับสมดุลในแต่ละส่วนของชุดเครื่องเสียงให้สมมาตรกัน