เทคนิคปรับความถี่บนปุ่ม EQ กับผลคุณภาพเสียง
- วันที่: 29/04/2016 17:48
- จำนวนคนเข้าชม: 45797
ในการปรับจูน EQ หรืออีควอไลเซอร์ ทั้งแบบที่แยกต่างหาก และแบบที่รวมอยู่ในอุปกรณ์จำพวก DSP เราควรทราบในเบื้องต้นก่อนว่า แต่ละความถี่มีผลอย่างไรกับคุณภาพเสียง เพื่อให้สามารถปรับจูน ปรับแก้ไข ในเรื่องของคุณภาพเสียงได้อย่างถูกต้อง โดยเราขอแยกส่วนของความถี่ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อความสะดวกในการจดจำ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มความถี่ 20, 25, 31.5, 40, 50, 63 Hz เป็นความถี่หลักของเสียงกลองเบส, ทูบ้า, ดับเบิ้ลเบส และออร์แกน เป็นช่วงความถี่ที่ให้กำลังของเสียงเพลง ถ้าเสียงที่ได้ยินรู้สึกอึมครึม ให้ลดความถี่ 50Hz หรือ 60Hz ลง เพื่อขจัดอาการดังกล่าว
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 20 Hz เป็นเสียงเบสทุ้มลึกสุด อาจมีอาการเบลอ ถ้าปรับโดยไม่ระวัง
ที่ความถี่ 25 Hz เป็นเสียงเบสทุ้มลึก ถ้าเพิ่มเกนมากเกินไป เบสจะคราง
ที่ความถี่ 31.5 Hz เป็นเสียงเบส ต้องให้เสียงเดินเรียบ ลูกเบสมีจังหวะ หากเสียงเบสดรัมหนา หรือออกอาการเบลอ ให้ลดเกนลงพอประมาณ เพื่อสร้างแนวเสียงกระเดื่องในหลายๆสไตล์ อาทิ แบบบลู หรือ แบบร็อค
ที่ความถี่ 40 .Hz เป็นเสียงเบสหลักที่ชัดเจน เป็นเสียงทุ้มต่ำของเบสดรัม
ที่ความถี่ 63 Hz เป็นเบสดรัมที่มีน้ำหนัก และกระแทก มีแรงปะทะ เป็นเสียงทุ้มต้นของกลองทอม
กลุ่มที่ 2 กลุ่มความถี่ 80, 100, 125 Hz เป็นความถี่หลักของเสียงทิมปานี่ย่านต่ำ การปรับเพิ่มมากเกินไปจะทำให้เกิดลักษณะ “เสียงบวม” และความถี่ 100Hz หรือ 125Hz ยังใช้ขจัดเสียงฮัมในเนื้อเพลงได้ด้วย
ข้อแนะนำ :
ความถี่ 80 Hz เป็นตำแหน่งสำคัญของเสียงเบส และกระเดื่องกลอง น้ำหนักเสียงเบสทั้งหมดจะอยู่ที่ความถี่นี้
ความถี่ 100 Hz เป็นเสียงโซโล่เบส เสียงกระเดื่องกลองที่โดนกระแทก ถ้าต้องการกระเดื่องกลองแบบโป๊ะๆ แบบเพลงร็อค เพลงลูกทุ่ง แนะนำให้ลดเกนลงพอประมาณ
ความถี่ 125 Hz เป็นเสียงโป๊ะๆ ของเบสและกระเดื่อง และเสียงอวบหนาของกลองทอม แนะนำให้ลดเกนลงที่ละนิด จนได้เนื้อเสียงที่โปร่ง ไม่อึมครึม
กลุ่มที่ 3 กลุ่มความถี่ 160, 200, 250 Hz เป็นเสียงกลองและเบสตัวต่ำ การปรับเพิ่มมากเกินไปจะให้เกิด “เสียงบวม” และมักใช้ขจัดเสียงฮัมในฮาร์โมนิคที่ 3 ของเสียง
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 250 Hz เป็นความชัดเจนของกระเดื่องกลอง และเบสหลัก เสียงส่วนทุ้มของกลองสแนร์และกลองทอม เสียงนักร้องแนวทุ้มๆ ลึกๆ ลดเกนลงพอประมาณ เพื่อเนื้อเสียงที่คมชัดขึ้น
กลุ่มที่ 4 กลุ่มความถี่ 315, 400, 500 Hz ความถี่หลักของเสียงเครื่องสายและเพอร์คัสชั่น
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 315 Hz เป็นเสียงร้องนุ่มๆ อิ่มๆ เสียงฆ้อนกระเดื่องกระแทกหนังกลอง เสียงตบเบส เสียงอวบหนาในเนื้อเสียงร้อง
ที่ความถี่ 400 Hz เป็นเสียงร้องเอิบอิ่ม นุ่มทุ้ม มีน้ำหนัก สร้างอารมณ์เพลง เป็นของเสียงกรระเดื่อง กับเบส เสียงกลองสแนร์ดังเต็มใบ กลองทอมลงจังหวะชัดๆ แนะนำปรับเกนเพิ่มเล็กน้อย พอให้ได้อารมณ์เพลง
ที่ความถี่ 500 Hz เป็นเสียงกลางชัดเจน ทั้งเสียงร้องและดนตรี มีความหนาแน่น ปรับเกนเพิ่มพอประมาณ จะทำให้เสียงเปิดโปร่งขึ้น
กลุ่มที่ 5 กลุ่มความถี่ 630, 800, 1k Hz ความถี่หลักและฮาร์โมนิคของเสียงเครื่องสาย, คีย์บอร์ด และเพอร์คัสชั่น การปรับเพิ่มความถี่ในย่าน 600 – 1k Hz มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเสียงปากแตรมีปริมาณมากเกินจริง
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 630 Hz เป็นเสียงย่านกลาง ที่ช่วยเสริมให้ 500 Hz ฟังได้ชัดเจนขึ้น เสียงกลองทอมเต็มใบ ก้องกังวาล ปรับเพิ่มเกนได้เพียงเล็กน้อย
ที่ความถี่ 800 Hz เป็นเสียงถ้อยคำ เสียงพูด ไม่ควรปรับเพิ่มเกน เพราะจะเหมือนพูดในถ่้ำ เสียงกลองทอมกังวาล ส่วนใหญ่จะปรับเกนลดลง เพื่อรักษาเสียงร้องให้โปร่งสด ไม่ก้องสะท้อน
ที่ความถี่ 1 KHz เป็นเสียงพูดที่ต้องการใสโปร่ง มีชัดเจน เสียงตบสายกีต้าร์เบส และหัวกระเดื่องกลอง ปรับเพิ่มเกนได้เล็กน้อยตามสมควร
กลุ่มที่ 6 กลุ่มความถี่ 1.25k, 1.6k, 2k, 2.5k, 3.15k, 4k Hz เป็นส่วนเสียงกลอง, เสียงกีต้าร์, เสียงร้องเน้น, เสียงเครื่องสาย และเสียงดนตรีทองเหลือง การปรับเพิ่มความถี่ในช่วง 1k ถึง 2k Hz มากเกินไปจะทำให้เสียงชิ้นดนตรีในย่านดังกล่าวเล็กจิ๋วกว่าปกติ การปรับเพิ่มความถี่ในช่วง 1k ถึง 4k Hz จะมีผลทำให้เกิดอาการ “เหนื่อยล้า” ในการฟังเพลง
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 1.25k, 1.6k, 2k Hz เป็นช่วงเสียงกลางที่คมๆ เสียงพูดอวบหนา เสียงร้องแบบหยาบแห้ง ควรปรับเกนลดลงพอให้ได้เสียงที่นุ่มละมุนขึ้น เป็นเสียงปลายกระเดื่องคมๆ เสียงติ๊กๆของเบส เสียงไฮแฮท คม บาดๆ จึงไม่ควรลดเกนมากเกินความจำเป็น เพราะอาจเสียงรสชาดของดนตรีบางแนวไป
ที่ความถี่ 2.5k, 3.15k Hz เป็นส่วนของเสียงเอฟเฟค เสียงรีเวิร์บ ที่ช่วยในเรื่องความน่าฟัง ปลายเสียงร้องแบบสดใส เสียงไฮแฮท คมชัด หัวกลองทอมที่โป๊ะๆ ปรับเพิ่มเกนได้พอประมาณ เพื่อเสริมบรรยากาศเสียง
ที่ความถี่ 4 KHz เป็นเสียงแบบคมๆ บาดๆ แนะนำลดเกนลงพอประมาณ เพื่อลดเสียงร้องที่แหลมคมบาดหู
กลุ่มที่ 7 กลุ่มความถี่ 5k, 6.3k, 8k Hz เสียงเน้นของเพอร์คัสชั่น, เสียงฉาบ และกลองสแนร์ การลดเสียงในช่วง 5k Hz ลงบ้างจะทำให้เสียงดูมีระยะทางและสดใส การลดเสียงฮีสและเสียงรบกวน จะใช้การลดความถี่ช่วง 1.25k ถึง 8k เพื่อให้ได้เสียงที่ชัดเจนและโดดเด่น
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 8k Hz เป็นปลายเสียงใสๆ ของทุกเครื่่องดนตรี เสียงเอฟเฟคฟุ้งๆ ปรับเพิ่มเกนเล็กน้อย เพื่อให้ความรู้สึกเสียงที่กว้างขยายขึ้น
กลุ่มที่ 8 กลุ่มความถี่ 10k, 12.5k, 16k, 20k Hz เสียงฉาบและความสว่างสดใสโดยรวม การปรับเพิ่มมากเกินไปจะทำให้เกิดเสียงที่แสบหู ใช้ลดเสียงฮีสและเสียงรบกวนในระบบได้
ข้อแนะนำ :
ที่ความถี่ 16k, 20k Hz เป็นเสียงช่วงปลายๆของเสียงแหลม ปรับเพิ่มเกนเมื่อรู้สึกเสียงเหมือนไม่มีบรรยากาศ และปรับลดเกนเมื่อรู้สึกเสียงมีลักษณะวิ้งๆให้ได้ยินจนรำคาญ
นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่เริ่มหัดในการปรับจูนคุณภาพเสียง ด้วยอีควอไลเซอร์ทั้งแบบแยกส่วนและที่มีใน DSP ต่างๆ ไปนะครับ สวัสดีครับ